ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ซื้อบ้าน "พอช." ได้บ้านสังกะสี ทำอะไรได้บ้าง?

สังคม
13 มิ.ย. 66
13:06
595
Logo Thai PBS
ซื้อบ้าน "พอช." ได้บ้านสังกะสี ทำอะไรได้บ้าง?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เช็ก 4 ขั้นตอนเรียกร้องสิทธิ "ซื้อบ้าน" ได้ไม่ตรงปกทำอะไรได้บ้าง? ด้านสภาองค์กรของผู้บริโภคเตรียมยื่นมือช่วยเคสบ้าน พอช.บางบัวทอง โครงการบ้านมั่นคงได้สังกะสี

กรณีชาวบ้านซอยเลียบคลองเจ็ก ต.บางบัวทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ว่าได้ซื้อบ้านโครงการบ้านมั่นคง แต่กลับได้บ้านสภาพสังกะสี ไม่ตรงปกตามแบบแปลน จึงมีการรร้องเรียนผ่านโซเชียล

ไทยพีบีเอสออนไลน์ รวบรวมข้อมูลสำหรับกรณีผู้บริโภคที่พบปัญหาซื้อบ้าน คอนโดมิเนียม แล้วได้ไม่ตรงปก มีคำแนะนำจาก เพจตลาดนัดบ้านมือสอง ระบุว่า การซื้อบ้านหรือคอนโดแล้วได้ไม่ตรงปก หรือตามที่ได้โฆษณาบอกไว้ ไม่เพียงจะทำให้เสียประโยชน์ในหลายๆ ด้านแล้ว ยังเสียความรู้สึก เพราะไม่ว่าใคร ก็คงอยากจะได้บ้านอย่างที่ฝันไว้ แต่เมื่อเสียรู้ไปแล้ว ทำอะไรได้บ้างมาดูกัน

เจรจากับเจ้าของโครงการไกล่เกลี่ยปัญหา

หากส่งมอบบ้านหรือคอนโดแล้ว พบว่ามีหลายจุดไม่ตรงตามสเปกที่ระบุไว้ตั้งแต่แรก เช่น สุขภัณฑ์ไม่ตรงตามแบรนด์ที่แจ้งไว้ ในเบื้องต้นควรเริ่มจากการพูดคุยกันก่อน โดยอาจขอให้เปลี่ยนให้ถูกต้อง หรือเปลี่ยนเป็นส่วนลดค่าใช้จ่าย หรืออาจจะขออะไรเพิ่มเพื่อเป็นการทดแทน

ร้องเรียนผ่านทาง Social Media

ปัจจุบัน Social Media นับว่ามีอิทธิพลอย่างมาก เป็นวิธีการการกดดันหรือกระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหาที่ค่อนข้างได้ผล เพราะเจ้าของโครงการจะกลัวเสียชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ แล้วอาจจะเข้ามาช่วยดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้

ร้องเรียนผ่านสำนักงาน สคบ.

  • ร้องผ่านออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://complaint.ocpb.go.th
  • ร้องผ่านสายด่วน 1166
  • เดินทางไปร้องเรียนที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ศูนย์ราชการอาคารบี ชั้น 5 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง กทม. ส่วนต่างจังหวัดที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัด ณ สำนักงานจังหวัด ศาลากลางจังหวัด
  • อีเมล consumer@ocpb.go.th    

ฟ้องร้องที่ศาล

สำหรับการฟ้องร้องที่ศาลสามารถฟ้องร้องได้ที่แผนกคดีผู้บริโภค ด้วยตัวเองหรือ ใช้ทนายก็ได้ เพราะการโฆษณาแบบไม่ตรงกับความจริงนั้นผิดกฎหมาย 

  • พรบ.อาคารชุด ส่วนหนึ่งของมาตรา 6/17 “ให้ถือว่าข้อความหรือภาพที่โฆษณาหรือหนังสือชักชวน เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจะซื้อจะขาย หรือสัญญาซื้อขายห้องชุด แล้วแต่กรณี หากข้อความหรือภาพใดมีความหมายขัดหรือแย้งกับข้อความในสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาซื้อขายห้องชุด ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้จะซื้อหรือผู้ซื้อห้องชุด”
  • ประมวลแพ่ง ม.503 “ในการขายตามตัวอย่างนั้น ผู้ขายจำต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ตรงตามตัวอย่าง ในการขายตามคำพรรณนา ผู้ขายจำต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ตรงตามคำพรรณนา”

สภาองค์กรผู้บริโภค เตรียมยื่นมือช่วย

นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ทราบข่าวแล้ว เบื้องต้นเร่งติดตาม และเตรียมให้ความช่วยเหลือคำแนะนำกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบแล้ว เท่าที่ทราบโครงการนี้ เป็นความรับผิดชอบของ พอช.ที่ช่วยเหลือกับกลุ่มที่มีรายได้น้อย แต่ยังไม่ชัดเจนว่าสาเหตุของการได้บ้านไม่ตรงปก เกิดจากการบริหารจัดการหรือปัญหาเรื่องเงิน 

กรณีที่ได้บ้านไม่ตรงปก และเป็นโครงการของหน่วยงานรัฐ ต้องดูสัญญา การโฆษณา และเงินที่ชาวบ้านจ่ายไป หากพบผิดเงื่อนไขสัญญาสามารถเรียกเงินทั้งมัดจำ เงินจองสัญญาคืนทั้งหมด 

นายโสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนของผู้บริโภคที่ได้บ้านไม่ตรงปก สามารถร้องเรียนมาที่สภาองค์กรผู้บริโภค เพื่อจะช่วยดูสัญญา เช่น หากมีการโฆษณาว่าจะได้บ้านอีกแบบ และส่งมอบบ้านไม่ตรงกับโฆษณา ซึ่งการโฆษณาถือเป็นหนึ่งในสัญญา ผู้บริโภคสามารถขอเงินทั้งหมด และยังส่งเรื่องให้ทางสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตรวจสอบ

ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ พบการร้องเรียนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ส่วนใหญ่สร้างไม่เสร็จ และไม่เป็นตามโฆษณา และไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเบื้องต้นหากไม่ตรงตามโฆษณา จะเจรจากันได้ซ่อมงานให้เรียบร้อย

ทั้งนี้มีคำแนะนำว่าก่อนการรับโอนเข้าอยู่ และตรวจรับว่าบ้านผิดสเปก ต้องปฏิเสธ และถ้าไปตรวจรับยินยอมรับบ้านที่ไม่ตรงปกจะเป็นจุดอ่อน โดยเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นอย่ามองว่าเป็นโครงการของรัฐแล้วจะดีทั้งหมด สำหรับการเจรจากระบวนการนี้ 1-2 เดือนจะเกิดการตั้งวงคุย และถ้าจะฟ้องคดีต้องเตรียมเอกสาร ทนาย 3-4 เดือนขึ้นกับข้อเท็จจริง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่ตรงปก! ชาวบ้านนนทบุรีร้องส่งเงินซื้อบ้านหลักแสน ได้บ้านสังกะสี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง