ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"กินครั้งเดียว รวมญาติชุดขาวดำ" สัตวแพทย์เตือนอันตรายจาก "ว่านจักจั่น"

สังคม
11 มิ.ย. 66
15:19
2,667
Logo Thai PBS
"กินครั้งเดียว รวมญาติชุดขาวดำ" สัตวแพทย์เตือนอันตรายจาก "ว่านจักจั่น"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สัตวแพทย์โพสต์เตือนชาวบ้านอย่าเก็บ "ว่านจักจั่น" มากิน อันตรายถึงชีวิตแม้กินแค่ครั้งเดียว สวทช.ให้ข้อมูล ว่านจักจั่น คือจักจั่นที่ถูกเชื้อรากินจนตาย ไม่ใช่ของขลังตามความเชื่อ

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2566 เป็นที่ฮือฮาในโลกออนไลน์ เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ภาพ "ว่านจักจั่น" ที่ขุดจากดินจำนวนมาก ทำให้มีชาวโซเชียลจำนวนมากทักท้วงถึงอันตรายของว่านจักจั่น ในขณะที่ก็มีบางส่วนที่เชื่อเรื่องโชคลางของขลังและยินดีที่จะซื้อต่อ เช่นเดียวกับเจ้าของโพสต์ที่ก็พร้อมจะขายให้

ทางด้านนายสัตวแพทย์ จากศูนย์วิจัยและนวัตกรรมทางสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ แสดงความเป็นห่วงถึงประชาชนที่ไม่รู้จักถึงอันตรายของสิ่งนี้ โดยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Save Gurney Pitta  ดังนี้

อ้างอิงข้อมูลจาก คุณธิติยา บุญประเทือง หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยเห็ด และ หัวหน้ากลุ่มงานพิพิธภัณฑ์เห็ดรา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค สวทช.) กล่าวไว้ว่า

จักจั่นติดเชื้อราในขณะที่เป็นตัวอ่อนช่วงที่ขึ้นมาลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยเหนือดิน ในระยะนี้จักจั่นจะอ่อนแอมาก ร่วมด้วยช่วยกันกับอากาศชื้นจากหน้าฝนที่มีความชื้นสูง ทำให้เชื้อราที่แพร่กระจายได้ดีในอากาศ เมื่อเชื้อราตกลงไปอยู่บนตัวจักจั่นผู้อ่อนแอ ภูมิต้านทานต่ำ จึงทำให้เชื้อราแทงเส้นใยเข้าไปและงอกงามภายในตัวจักจั่นได้ดี โดยดูดน้ำเลี้ยงในตัวจักจั่นเป็นอาหาร และทำให้จักจั่นตายในที่สุด

อ่าน : กรมอุทยานฯ เตือนห้ามกิน "ว่านจักจั่น" มีพิษทำลายระบบประสาทส่วนกลาง

เมื่อจักจั่นตายแล้ว เชื้อราหมดทางหาอาหารได้ จึงต้องพยายามไปหาอาหารที่อื่น โดยการสร้างโครงสร้างสืบพันธุ์ที่มีลักษณะเหมือนเขายืดขึ้นเหนือพื้นดิน หรือ ลักษณะที่เหมือนเขาของว่านจักจั่น สปอร์ หรือ หน่วยสืบพันธุ์ที่ติดอยู่บริเวณปลายเขาที่สร้างขึ้นเหนือพื้นดิน จะต้องอาศัยลมหรือน้ำในการพัดพาให้ไปตกอยู่ในที่อื่นๆ เพื่อค้นหาจักจั่นโชคร้ายตัวต่อไป

เชื้อราที่มีพฤติกรรมอาศัยอยู่ในตัวแมลงที่มีชีวิต จัดอยู่ในประเภท เชื้อราทำลายแมลง ราชนิดนี้นักวิจัยสันนิษฐานว่าเป็นเชื้อราสายพันธุ์ Cordyceps sobolifer และจากการศึกษาของนักวิจัยจากไบโอเทค พบว่ามีราทำลายแมลงในประเทศไทยมากกว่า 400 ชนิด พบได้ทั้งบนหนอน แมลงวัน มวน เพลี้ย ผีเสื้อ ปลวก แมลงปอ แมงมุม มด เป็นต้น

ส่วนสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ "ว่านจักจั่น" ว่ามีความใกล้เคียงกับราชนิด Ophiocordyceps sobolifera เมื่อกินแล้วคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ชัก กล้าเนื้อเกร็งกระตุก ดวงตาหมุนวนไปรอบๆ ไม่ทิศทางที่ชัดเจน อ่อนแรงใจสั่น และเวียนศีรษะ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ หรืออาการ "Tremorgenic mycotoxins" ซึ่งไม่มียาแก้ ต้องรักษาไปตามอาการ แบบประคับประคองเท่านั้น

นอกจากนี้ในประเทศเวียดนาม มีรายงานการกินว่านจักจั่นชนิด Ophiocordyceps heteropoda ทำให้เกิดอาการเวียนหัว อาเจียน น้ำลายไหล ม่านตาขยาย กรามแข็ง ไม่สามารถขับปัสสาวะได้ตามปกติ ชัก เพ้อคลั่ง เกิดภาพหลอน ง่วงซึม โคม่า และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

โปรดอย่าไปเก็บมาบูชา หรือ เก็บมากินเลยนะครับ เพราะเป็นอาหารที่กินได้ครั้งเดียว แล้วต้องจัดงานรวมญาติ ซึ่งต้องใส่เสื้อผ้าขาว – ดำ มีพระสี่รูปมาสวดให้ และคงไม่มีใครอยากมีงานนี้
FB : Save Gurney Pitta

FB : Save Gurney Pitta

FB : Save Gurney Pitta

นักวิจัยย้ำ "ว่านจักจั่น" คือจักจั่นที่ตายแล้วแค่นั้น

ข้อมูลตามความเชื่อของคนโบราณ เชื่อว่าว่านจักจั่น หรือ พญาว่านต่อเงินต่อทอง เป็นว่านกึ่งพืชกึ่งสัตว์ประเภทเดียวกับพวกมักกะลีผล ถ้ามีไว้บูชาก็จะมีเงินทองทรัพย์สินหลั่งไหลมาไม่ขาดมือ และเป็นมงคลชีวิต นำความสำเร็จในการงาน แคล้วคาดจากอุบัติเหตุทั้งปวง แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ได้ชี้ชัดไปแล้วว่า "ว่านจักจั่น" ที่หลายคนบูชานี่ที่แท้แล้วคือ

จักจั่นที่ตายแล้วจากการติดเชื้อรา ไม่มีส่วนไหนที่เป็นว่านหรือพืชเกี่ยวข้องตามที่เข้าใจ
ว่านจักจั่น

ว่านจักจั่น

ว่านจักจั่น

วงจรชีวิต จักจั่น

วงจรชีวิตของจักจั่นมี 3 ระยะ คือ

1.ระยะไข่ จักจั่นตัวเมียจะวางไข่ตามใต้เปลือกไม้ ขอนไม้ รากไม้ต่างๆ ช่วงนี้จะใช้เวลา 2-4 เดือนกว่าไข่จะฟักตัวเป็นหนอน แล้วมันก็ตายไป

2.ตัวอ่อน ตัวอ่อนจักจั่นจะค่อยๆ ขุดดินเป็นรูและใช้ชีวิตอยู่ใต้ดิน ดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากไม้ บางทีอาจขึ้นมาดูดน้ำเลี้ยงจากต้นไม้หรือเห็ดรา ที่ขึ้นตามฤดู ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ยาวนานที่สุดของจักจั่น จักจั่นบางพันธุ์จะใช้เวลาใต้ดิน 2 ปี ยาวไปจนถึง 17 ปี 

3.ตัวเต็มวัย เมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ หรือฤดูร้อน จักจั่นที่โตเต็มวัยจะคลานออกมาจากรังใต้ดิน ปีนขึ้นไปบนที่สูง แล้วลอกคราบเป็น เมื่อลอกคราบใหม่ๆ มีสีขาวหรือเหลือง และสีจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลในที่สุด พวกมันจะใช้ชีวิตเกาะตามต้นไม้ ไม่กินอาหาร และทำหน้าที่เดียวคือจับคู่ สืบพันธุ์และวางไข่ ในเปลือกไม้ ภายในเวลา 2-4 เดือน ก่อนที่จะหมดวงจรชีวิตของจักจั่นไป 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง