ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

STARK หุ้นกู้สะเทือนตลาดทุน ผู้ลงทุนหวั่นเงินสูญ

เศรษฐกิจ
9 มิ.ย. 66
16:15
5,925
Logo Thai PBS
STARK หุ้นกู้สะเทือนตลาดทุน ผู้ลงทุนหวั่นเงินสูญ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

นาทีนี้ หุ้นกู้ที่สะเทือนตลาดทุนมากที่สุดคือ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ STARK หลังบริษัทรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า กรรมการบริษัทประกาศลาออกพร้อมกัน 7 คน ตามมาด้วยการส่งงบการเงินปี 2565 ไม่ทัน ขอเลื่อนการส่งงบฯ ออกไปก่อน จนถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ ระงับการซื้อขายชั่วคราว

เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เจ้าหนี้หลายพันราย ทั้งสถาบันรายใหญ่และลูกหนี้รายย่อย กังวลว่าจะไม่ได้เงินคืน

ตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปี 2568 สตาร์ค ต้องหาเงินมาไถ่ถอนหุ้นกู้หรือใช้หนี้เกือบ 10,000 ล้านบาท ให้กับเจ้าหนี้ที่มีประมาณ 4,500 คน และจากความกังวลต่อทิศทางการดำเนินกิจการของสตาร์คที่อาจผิดนัดชำระหนี้กับผู้ถือหุ้นกู้ ทำให้ผู้ถือหุ้นกู้สตาร์คนัดรวมตัวในเช้าวันที่ 9 มิ.ย.

กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้สตาร์คที่เป็นกลุ่มรายย่อยมีการรวมตัวกัน 2 กลุ่ม รวมๆ แล้วมากกว่า 600 คนและเงินลงทุนเฉียดพันล้านบาท โดยการลงทุนรายบุคคลอยู่ที่ 100,000 ไปจนถึง 30 ล้านบาท

ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้สตาร์คคนหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ลงทุนไป 2,000,000 บาท กำหนดไถ่ถอนวันที่ 12 พ.ค.2567 สาเหตุที่ลงทุนเพราะมีคนแนะนำว่าแนวโน้มธุรกิจดี, เครดิตบริษัทน่าเชื่อถือ อีกทั้งผู้ถือหุ้นรายใหญ่มาจากตระกูลมหาเศรษฐีของไทย แต่จากสถานการณ์บริษัทในขณะนี้ทำให้ความหวังว่าจะได้รับเงินคืนริบหรี่มาก

ขณะที่ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้สตาร์คอีกคน ระบุว่า ตั้งแต่บริษัทเลื่อนส่งงบการเงินปี 2565 ผู้ถือหุ้นกู้รู้สึกกังวลและนี่เป็นครั้งแรกที่ได้เจอหน้ากันเพื่อช่วยแก้ปัญหา ที่ผ่านมากลุ่มผู้ถือหุ้นกู้มีความพยายามติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน

การหารือในวันนี้ (9 มิ.ย.) ผู้ถือหุ้นกู้สตาร์ค จะรวบรวมเป็นข้อมูลเพื่อยื่นร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้

สตาร์ค มีหุ้นกู้จำนวน 5 รุ่นที่เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ มูลค่าหนี้คงค้างรวม 9,198.4 ล้านบาท และเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ถือหุ้นกู้ 2 รุ่นมีมติไม่ยกเว้นเหตุผิดนัด พร้อมเรียกร้องให้หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยที่ถึงกำหนด ชำระโดยพลัน รวมวงเงิน 2,241 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ สตาร์ค เป็นบริษัทดาวรุ่งในตลาดหุ้นไทย สะท้อนจากการติดอันดับ SET100 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทย 100 อันดับแรก แต่การเข้าตลาดหุ้น สตาร์คใช้วิธี Back-door Listing การเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์โดยอ้อม ผ่านบริษัท สยามอินเตอร์ มัลติมีเดีย ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นสตาร์ค ทำธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิล มูลค่าทรัพย์สินเกือบ 40,000 ล้านบาท

หลังจากเข้ามาในตลาดหุ้น ปรากฏว่า ผลประกอบการในปี 2562 กำไร 124 ล้านบาท, ปี 2563 กำไรพุ่งไปที่ 1,600 ล้านบาท, ปี 2564 กำไรวิ่งขึ้นต่อไปแตะ 2,780 ล้านบาท ส่วนปี 2565 เฉพาะ 9 เดือนแรกรายได้ 21,800 ล้านบาท กำไร 2,200 บาท ทั้งหมดนี้ทำให้นักลงทุนรายใหญ่เข้ามาถือหุ้นและดึงดูดกองทุนต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ

แต่ “ปม” ที่ทำให้ปัญหาลามมาจนถึงทุกวันนี้ เริ่มขึ้นกลางปี 2565 โดยบริษัทประกาศเพิ่มทุน 5,580 ล้านบาท เพื่อไปซื้อกิจการในเยอรมนีที่ทำธุรกิจสายเคเบิลและการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า การจัดสรรหุ้นเป็นไปอย่างราบรื่น จนกระทั่งวันที่ 13 ธ.ค.2565 สตาร์ค แจ้งยกเลิกแผนการลงทุนดังกล่าวจากเหตุผลสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน พร้อมระบุว่าจะนำเงินเพิ่มทุน 5,580 ล้านบาทไปใช้กับโครงการอื่น หรืออาจชำระหนี้ระยะสั้นแทน

แต่ไม่นาน ต้นปี 2566 ผู้บริหารบริษัทกลับทยอยลาออก ขณะเดียวกันสตาร์คแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ จำเป็นต้องเลื่อนส่งงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการปี 2565 จนทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องระงับการซื้อขายชั่วคราว

วันที่ 1 มิ.ย.2566 หุ้นสตาร์ค กลับมาทำการซื้อขายวันแรก ราคาหุ้นเปิดตลาดร่วงลงทันทีและร่วงต่อเนื่องไปทำจุดต่ำสุดที่ 0.13 บาทต่อหุ้น ก่อนจะปิดตลาดที่ 0.18 บาทหุ้น หรือร่วงลงกว่าร้อยละ 90 ภายในวันเดียว

หน่วยงานกำกับอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้สั่งการให้สตาร์คชี้แจงข้อเท็จจริงและความคืบหน้าในการดำเนินการต่างๆ รวมทั้งจัดให้มีการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ

ขณะที่บริษัทได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อให้สืบสวนและสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมาย

ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้บริษัทเร่งชี้แจงความคืบหน้าของการดำเนินการต่างๆ ภายในวันที่ 13 มิ.ย.2566 เช่น สถานะการจัดทำและวันที่จะนำส่งงบการเงินประจำปี 2565, การแต่งตั้งผู้สอบบัญชี เพื่อตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงสถานการณ์และผลกระทบต่อบริษัท เป็นต้น

ในกรณีเลวร้ายที่สุด สตาร์ค ไม่สามารถชำระหนี้ได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นจะคล้ายกับกรณีการบินไทย คือต้องเข้าสู่กระบวนการขอฟื้นฟูกิจการและจะถือเป็นการผิดนัดชำระหุ้นกู้ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากการบินไทย อย่างไรก็ตามต้องพิจารณาส่วนทุนของบริษัทที่คาดว่าจะเปิดเผยวันที่ 16 มิ.ย.นี้

อ่านข่าวอื่นๆ

"อีซูซุ" ปฏิเสธข่าวย้ายฐานการผลิตจากไทยไป "อินโดนีเซีย"

อนาคต "ตลาดหุ้น" ในเงื้อมมือ รัฐบาลก้าวไกล

แบงก์แห่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง