วันนี้ (9 มิ.ย.2566) ภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติกเกอร์รถบรรทุก ครั้งที่ 2 โดยมี นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ผู้แทนจากกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก และตำรวจทางหลวงเข้าร่วมประชุม
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 2 ของคณะกรรมการ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้นำสื่อลงพื้นที่ไปดูกระบวนการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เพื่อให้เข้าใจระบบทางด้านเทคนิค พร้อมยอมรับว่าระบบที่ผ่านมามีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดกระบวนการทุจริต เนื่องจากมีการใช้บุคลากรเข้าไปตรวจสอบและดำเนินการจับกุม
เบื้องต้น ผลของการประชุมจะเน้นให้ใช้ระบบทางด้านเทคนิคระบบไอทีเข้ามามากขึ้นและลดจำนวนคน เพื่อให้ลดการทุจริตให้ได้มากที่สุด
ในระยะยาวเตรียมจะระบบที่จะนำมาใช้คือระบบ Body Camera ซึ่งเป็นรูปแบบออนไลน์ เมื่อมีการตรวจจับ จะเห็นภาพเข้าสู่ส่วนกลางทันที และมีการบันทึกการจับกุม ซึ่งจะทำให้เห็นกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่และลดการทุจริต เบื้องต้น ได้สั่งการให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทไปพิจารณา
ขณะเดียวกันนอกจากการตั้งคณะกรรมการสอบสวนของกระทรวงคมนาคมแล้ว กรมทางหลวงยังได้ตั้งคณะทำงานมา 2 คณะ ในการดำเนินการหาข้อมูลบุคลากรที่กระทำความผิดร่วมกับสมาพันธ์รถบรรทุกแห่งประเทศไทย เพื่อตรวจสอบว่า มีคนของกรมเข้าข่ายการกระทำความผิด หรือไม่โดยจะมีการรายงานคณะกรรมการอีกครั้ง
เบื้องต้น ขณะนี้กรมทางหลวงมีด่านถาวร 97 แห่งทั่วประเทศ ตรวจจับกรณีได้รับแจ้งรถบรรทุกหนักอาจจะหลบเลี่ยง หรือใช้น้ำหนักเกิน ด่านส่วนกลาง 12 หน่วย ซึ่งเป็นการหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ ในการออกตรวจ ส่วนกรมทางหลวงชนบท มีด่านถาวร 5 ด่าน และด่านตรวจในแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีการสุ่มตรวจทุกสายทาง
ส่วนเรื่องบทลงโทษหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง หากได้รับแจ้งเบาะแส จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน บทลงโทษตามวินัย เป็น พ.ร.บ.บริการราชการแผ่นดินร้ายแรงสุดถึงขั้นไล่ออก รองลงมาเป็นทัณฑ์บน และยังมีโทษทางอาญาและทางแพ่ง
ด้าน นายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ยอมรับว่า บริเวณด่านชั่งน้ำหนักไม่มีประสิทธิภาพ เพราะรถบางคันฝ่าฝืนไม่ตรวจหน้าด่าน และที่ผ่านมาการจัดหากล้องบอดี้คาเมร่า งบประมาณไม่เพียงพอ หลังจากนี้หากต้องจัดซื้ออาจจะต้องใช้งบเหลือจ่ายแบบเร่งด่วน
ในระยะยาวจะมีการบูรณาการร่วมกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อจับกุมรถบรรทุก เช่น กรณีใช้ความเร็วเกินกว่ามที่กฎหมายกำหนด สามารถตรวจจับได้จากจีพีเอส และหากน้ำหนักเกินจะสามารถเอาผิดได้เช่นกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างร่างเอ็มโอยู เพื่อลดช่องโหว่ในเรื่องส่วย
ขณะเดียวกันที่ผ่านมางบเหลือจ่ายที่จะนำมาใช้ ถูกนำส่งมาใช้ปีละประมาณ 1-2 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมา เป็นการแบ่งสัดส่วน การจับกุมรถน้ำหนักเกินภาพรวม 10 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบดำเนินการจับของเจ้าหน้าที่ร้อยละ 60 หรือ 6 ล้านบาท เข้าหลวงร้อยละ 20 และงบดำเนินการจับกุมร้อยละ 20