ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

12 มิ.ย.ของทุกปี "วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก"

ไลฟ์สไตล์
8 มิ.ย. 66
14:43
11,688
Logo Thai PBS
12 มิ.ย.ของทุกปี "วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กำหนดให้ วันที่ 12 มิ.ย.2545 เป็นวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลกครั้งแรก เพื่อให้ประเทศสมาชิกดำเนินการป้องกันและขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายให้หมดไปอย่างเร่งด่วน
ความยุติธรรมทางสังคมสำหรับทุกคน ยุติการใช้แรงงานเด็ก! 

คือคำขวัญของวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก ปี 2566 (World day against child labour) 

การยกเลิกการใช้แรงงานเด็กเป็นประเด็นสำคัญในการเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคม ซึ่งแรงงานทุกคนสามารถเรียกร้องได้อย่างอิสระและอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันของโอกาส 

ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาก ILO พยายามแก้ปัญหาแรงงานเด็กโดยเริ่มจากต้นเหตุ โดยผลักดันให้มีกฎหมายแรงงานที่เข้มแข็ง พยายามให้เด็กเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพดีให้มากที่สุด ตลอดจนบรรเทาความยากจน ความไม่เท่าเทียมกัน และความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ รวมถึงส่งเสริมงานที่มีคุณค่าให้กลุ่มแรงงานผู้ใหญ่

ทุกวันนี้มีเด็กกว่า 160 ล้านคนที่เป็นแรงงานเด็ก หรือเกือบ 1 ใน 10 ของเด็กทั่วโลก

ในวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก 12 มิ.ย.2566 ILO เรียกร้องให้มีการกระตุ้นการดำเนินการระหว่างประเทศ ขจัดการใช้แรงงานเด็ก โดยเน้นย้ำการให้สัตยาบันสากลของอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 138 เรื่องอายุขั้นต่ำจะทำให้เด็กทุกคนได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายจากการใช้แรงงานเด็กทุกรูปแบบ 

สำหรับประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้ามและการดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก นำไปสู่ "นโยบายระดับชาติและแผนปฏิบัติการด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย พ.ศ.2552-ปัจจุบัน" 

กสร.กำหนด 5 มาตรการคุ้มครองแรงงานเด็ก ดังนี้

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กำหนดให้ "แรงงานเด็ก" หมายถึง เด็กทำงานที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 18 ปี ทำงานที่มีลักษณะงานหรือสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นไปตามที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกำหนด 

  1. เข้าตรวจแรงงานในสถานประกอบกิจการที่มีการใช้แรงงานเด็กอายุ 15-17 ปี เพื่อป้องกันการใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมาย
  2. รับคำร้องกรณีมีการละเมิดสิทธิด้านแรงงาน
  3. บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดที่เกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็ก 
  4. ส่งเสริมความรู้กฎหมายแรงงานและสิทธิด้านแรงงานให้แก่เด็กในสถานศึกษาผ่าน "โครงการเตรียมความพร้อมเด็กก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน"
  5. สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เช่น จัดพิธีแสดงเจตนารมณ์และลงนาม MOU การป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก 

กฎหมายเพื่อการคุ้มครองแรงงานเด็ก

ปัจจุบันประเทศไทยมี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้วางหลักเกณฑ์ในการจ้างแรงงานเด็ก ที่ถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่นายจ้างต้องปฏิบัติ นายจ้างที่มีการจ้างลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และประการสำคัญการใช้แรงงานเด็กต้องคำนึงถึง เงื่อนไขการจ้าง สภาพการทำงาน รวมถึงการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเด็กด้วย

ทั้งนี้ ไม่ว่านายจ้างและลูกจ้างนั้น จะมีเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา หรือเพศใดก็ตาม มีสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเท่าเทียมกัน มาตรการคุ้มครองแรงงานเด็กของประเทศไทยถูกบัญญัติไว้ใน หมวด 4 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำนวน 9 มาตรา เริ่มตั้งแต่ มาตรา 44-52 โดยมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองเด็กเกี่ยวกับเงื่อนไขการจ้างสภาพการทำงาน การพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิต สรุปดังนี้

1. เงื่อนไขการจ้าง

  • อายุขั้นต่ำของลูกจ้างเด็ก กฎหมายกำหนดว่าห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นลูกจ้าง
  • การขออนุญาต การจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี (แต่ไม่ต่ำกว่า 15 ปี) นายจ้างต้องปฏิบัติดังนี้
    • แจ้งการจ้างเด็กต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เด็กเข้าทำงาน
    • ทำบันทึกสภาพการจ้างที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยเก็บไว้ ณ สถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของนายจ้าง พร้อมให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจได้ในเวลาทำการ
    • แจ้งสิ้นสุดการจ้างเด็กต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน 7 วัน นับแต่วันที่เด็กออกจากงาน 
  • งานอันตรายที่ห้ามลูกจ้างเด็กทำ ห้ามมิให้นายจ้างให้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
    • งานหลอม เป่า หล่อ หรือรีดโลหะ
    • งานปั๊มโลหะ
    • งานเกี่ยวกับความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน เสียง และแสงที่มีระดับแตกต่างจากปกติ อันอาจเป็นอันตรายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
    • งานเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นอันตรายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
    • งานเกี่ยวกับจุลชีวันเป็นพิษ ซึ่งอาจเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย รา หรือเชื้ออื่นๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
    • งานเกี่ยวกับวัตถุมีพิษ วัตถุระเบิดหรือวัตถุไวไฟ เว้นแต่งานในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
    • งานขับหรือบังคับรถยกหรือปั้นจั่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
    • งานใช้เลื่อยเดินด้วยพลังไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์
    • งานที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ อุโมงค์ หรือปล่องในภูเขาไฟ
    • งานที่เกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
    • งานทำความสะอาดเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่กำลังทำงาน
    • งานที่ต้องทำบนนั่งร้านที่สูงกว่าพื้นดินตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป
    • งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
  • สถานที่ห้ามเด็กทำงาน ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานในสถานที่ดังต่อไปนี้
    • โรงฆ่าสัตว์
    • สถานที่เล่นการพนัน
    • สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
    • สถานที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

2. สภาพการจ้าง

  • เวลาพักของลูกจ้างเด็ก เมื่อลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กทำงานมาแล้วไม่เกิน 4 ชั่วโมง ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็ก มีเวลาพักวันหนึ่งไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงติดต่อกัน หลังจากที่ลูกจ้างทำงานมาแล้วไม่เกิน 4 ชั่วโมง แต่ใน 4 ชั่วโมงนั้นให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กได้มีเวลาพักตามที่นายจ้างกำหนด
  • เวลาที่ห้ามลูกจ้างเด็กทำงาน ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงาน ในระหว่าง 22.00 น.-06.00 น. (เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย) สำหรับผู้แสดงภาพยนตร์ ละคร หรือการแสดงอย่างอื่นที่คล้ายคลึงกัน นายจ้างอาจให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในระหว่างเวลาดังกล่าวได้ ทั้งนี้ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นเด็กนั้นได้พักผ่อนตามสมควร และห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด
  • พิกัดน้ำหนักการยกของ ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็ก ทำงานยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนักเกินอัตราน้ำหนักตามที่กำหนดในกฎกระทรวง คือ สำหรับเด็กอายุ 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี เพศหญิงไม่เกิน 20 กิโลกรัม เพศชายไม่เกิน 25 กิโลกรัม
  • การคุ้มครองเกี่ยวกับค่าจ้าง ห้ามมิให้นายจ้าง จ่ายค่าจ้างของลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กให้แก่บุคคลอื่น ในกรณีที่นายจ้างจ่ายเงินหรือประโยชน์ตอบแทนใดๆ ให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็ก บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลอื่น เป็นการล่วงหน้าก่อนมีการจ้างขณะแรกจ้าง หรือก่อนถึงงวดการจ่ายค่าจ้างในแต่ละคราว ไม่ให้ถือว่าเป็นการจ่ายหรือรับค่าจ้างสำหรับลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กนั้น และห้ามมิให้นายจ้างนำเงินหรือประโยชน์ตอบแทนดังกล่าว มาหักจากค่าจ้างซึ่งต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กตามกำหนดเวลา
  • การเรียกหรือรับหลักประกันการทำงาน ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันเพื่อการใดๆ จากฝ่ายลูกจ้างซึ่งเป็นเด็ก

3. การพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิต

เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการทำงานของเด็ก ให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี มีสิทธิลาเพื่อเข้าประชุม สัมมนา รับการอบรม รับการฝาก หรือ ลาเพื่อการอื่น ซึ่งจัดโดยสถานศึกษา หรือหน่วยงานรัฐ หรือเอกชน ที่อธิบดีกรมสวัสดิการ และ คุ้มครองแรงงานเห็นชอบ โดยให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็ก แจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าถึงเหตุที่ลาโดยชัดแจ้ง พร้อมทั้งแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องถ้ามี และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งเป็นเด็กเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 30 วัน

ที่มา : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน, International Labour Organization (ILO) 

อ่านข่าวอื่นๆ :

วันไหว้ครู 8 มิถุนายน 2566 ประวัติพิธี และความหมายดอกไม้ไหว้ครู

"วันอัฏฐมีบูชา" วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

1 มิถุนายน : “วันดื่มนมโลก” World Milk Day

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง