ด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้อุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับสวมใส่ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และตอนนี้วิศวกรจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก (University of California San Diego) ได้พัฒนาระบบอัลตราซาวนด์ไร้สายที่สามารถตรวจสอบสัญญาณชีพแบบเรียลไทม์ได้อย่างต่อเนื่อง แม้ในขณะที่ผู้ป่วยเคลื่อนไหว
การตรวจสอบร่างกายด้วยวิธีอัลตราซาวนด์เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อสร้างภาพจำลองโครงสร้างภายในร่างกาย เช่น อวัยวะในช่องท้อง กล้ามเนื้อและเส้นเอ็น หรือหัวใจและหลอดเลือด เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการสร้างภาพทางการแพทย์อื่น ๆ เช่น การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) และการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) วิธีนี้ปลอดภัยกว่าและมีราคาไม่แพง
แต่อย่างไรก็ตาม การอัลตราซาวนด์ยังคงมีข้อจำกัดเนื่องจากต้องเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ขนาดใหญ่ และจำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่วางอุปกรณ์อัลตราซาวนด์ลงบนตัวคนไข้และเคลื่อนไปยังตำแหน่งที่ต้องการตรวจสอบโดยที่คนไข้ต้องไม่มีการเคลื่อนไหว และให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแปลผลภาพอัลตราซาวนด์ต่อไป
การพัฒนาอุปกรณ์แบบสวมใส่จึงเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้การตรวจวินิจฉัยด้วยการทำอัลตราซาวนด์สะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม ลดความยุ่งยากของการเชื่อมต่ออุปกรณ์ขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้าย เปลี่ยนมาเป็นระบบเชื่อมต่อไร้สายแบบสวมใส่เพื่อการตรวจสอบเนื้อเยื่อลึกถึง 16 เซนติเมตรใต้ผิวหนัง สามารถวัดความดันโลหิต สุขภาพทางเดินหายใจ และสัญญาณทางสรีรวิทยาอื่น ๆ ได้อย่างต่อเนื่องนานถึง 12 ชั่วโมงต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ทำให้แพทย์สามารถประเมินการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดในขณะเคลื่อนไหว รวมถึงอัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ ในขณะพักหรือขณะออกกำลังกายซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะหัวใจล้มเหลว
สำหรับสายรักสุขภาพที่ชอบออกกำลังกาย อุปกรณ์นี้ยังสามารถวัดการตอบสนองของหัวใจและหลอดเลือดต่อการออกกำลังกายได้แบบเรียลไทม์ และให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความเข้มข้นของการออกกำลังกายที่แต่ละคนออกแรง ซึ่งสามารถเป็นแนวทางในการกำหนดแผนการออกกำลังกายเฉพาะบุคคลได้
จนถึงตอนนี้นักวิจัยได้ตรวจสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์กับประชากรกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อพัฒนาอุปกรณ์อัลตราซาวนด์ไร้สายแบบสวมใส่สำหรับตรวจสอบเนื้อเยื่อลึกรุ่นใหม่ และตั้งเป้าให้มีการทดลองอุปกรณ์ในโรงพยาบาลและคลินิกเป็นขั้นตอนต่อไป
ที่มาข้อมูล: newatlas, spectrum, scitechdaily
ที่มาภาพ: ucsd
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech