แต่หากมองสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย โดยเฉพาะปีที่ผ่านมา กลับยิ่งรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงปลายปี 2565 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2566 จะเห็นว่าเกิดฝุ่นมากขึ้น เกิดไฟป่าจำนวนมหาศาลแทบทุกวัน และสภาพอากาศที่ร้อนกว่าหลายปีก่อน
ไทยพีบีเอสออนไลน์ พูดคุยกับ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ สำนักงานประเทศไทย ถึงปัญหาต่าง ๆ และแนวทางการแก้ไข โดยเฉพาะในช่วงรอยต่อของรัฐบาลรักษาการ และรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะมาถึง
ไทยพีบีเอสออนไลน์ : ขณะนี้สถานการณ์ PM 2.5 ของโลกเป็นอย่างไรบ้าง
ธารา : ถ้าเราดูในระดับโลก ฝุ่น PM 2.5 ถือว่าเป็นวิกฤตมลพิษทางอากาศในระดับโลก ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมารวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลวิกฤตมลพิษทางอากาศ ที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นขนาดเล็กหรือ PM 2.5 ออกมาเป็นระยะ
ล่าสุดมีการปรับมาตรฐาน คุณภาพอากาศของฝุ่นตัวนี้ ในบรรยากาศให้มีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่เราเห็นว่า ค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็ปรับลงมาเป็น 2.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถ้าเราดูทิศทางขององค์การอนามัยโลกที่ออกมาประกาศเรื่องนี้ ทำให้เห็นชัดเจนว่า ฝุ่น PM 2.5 ในระดับโลก เป็นวิกฤต ที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของการพัฒนามนุษย์
จากประกาศนี้เขาก็จะยกตัวเลขออกมาว่า ประมาณ 1 ใน 9 หรือ 1 ใน 7 ของคนทั่วโลก หรือเฉลี่ย ราว ๆ 9-10 ล้านคน จะต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่จะต้องปนเปื้อนกับฝุ่น PM 2.5 และอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรก็เพิ่มขึ้น
และวิกฤต PM 2.5 ก็จะมาอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหา ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยหรือในภาพรวมในทวีปเอเชียทั้งหมด หรือประเทศใหญ่ๆ เช่น จีน อินเดีย หลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน ก็ถือว่าเป็นจุดสนใจของวิกฤต PM 2.5 ในระดับโลกด้วย
ไทยพีบีเอสออนไลน์ : นอกจากเอเชียแล้ว มีกลุ่มประเทศไหนที่เข้าข่ายวิกฤตบ้าง
ธารา : กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ก็เจอกันเป็นระยะ ด้วยความที่มันมีปัจจัยเข้ามาเสริมก็คือ เรื่องของการที่ฝุ่น PM 2.5 เป็นมลพิษข้ามพรมแดน เนื่องจากมันมีขนาดเล็กมาก ๆ สายตามองไม่เห็น และมีคุณสมบัติ ที่เรียกว่าเป็นแอร์โรไดนามิก สามารถเดินทางได้ไกลผ่านกระแสลม ทำให้ประเทศ ที่เป็นประเทศกลุ่มอุตสาหกรรม ประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็เจอปัญหาวิกฤตมลพิษฝุ่น PM 2.5 อย่างต่อเนื่องเป็นระยะ
อาจจะไม่ได้เป็นทั้งทวีป อาจจะมีบางจุดที่มีเงื่อนไขพิเศษ เช่น ทางตอนเหนือของอิตาลี เป็นต้น หรือประเทศที่ขอบๆ ทะเลเบดิเตอร์เรเนียน ในละตินอเมริกาก็เจอปัญหานี้เหมือนกัน ปัญหาหลักๆ ของหลายประเทศในแถบทวีปอเมริกาใต้ จะมาจากการเผาไหม้ในที่โล่ง หรือไฟป่า
หรือแม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกา ในแคนาดา ขณะนี้ก็มีประเด็นเรื่องของฝุ่นจากไฟป่าที่มีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง เพราะฉะนั้นมันเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า เป็นวิกฤตในระดับโลกที่ ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของทวีป ทั่วโลก เราก็จะเจอกับปัญหานี้ ตามระยะเวลาที่ต่างกัน
ไทยพีบีเอสออนไลน์ : ไทยอยู่ตรงไหน ในระดับไหน ของสถานการณ์ขณะนี้
ธารา : ถ้าเราดูจากการจัดลำดับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศแย่ที่สุดในโลก ในแต่ละปี เราก็จะเห็นประเทศไทย เราจะเห็นเมืองบางเมืองในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร หรือเชียงใหม่ แต่จริง ๆ แล้วมันมีหลายจังหวัด ที่อาจจะยังไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ แต่มีเครื่องเซ็นเซอร์ขนาดเล็ก ที่บางแห่งเขาเก็บข้อมูลและปรากฏว่า อยู่อันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับเมืองต่าง ๆ ของโลก
ของประเทศไทยมันจะขึ้นๆ ลงๆ ถ้าดูค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่น PM 2.5 ของประเทศไทย เราจะอยู่ที่อันดับที่ 10 กว่าๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่มีปรากฏการณ์ลานีญา เราก็จะลงไปอยู่อันดับ 20 แต่พอมีปรากฏการณ์ที่เป็นเงื่อนไขให้เกิดวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ประเทศไทยก็จะขึ้นมาอยู่อันดับที่ 10 หรือลำดับที่ 15
ประเทศที่พบมากที่สุด คิดว่าเป็นประเทศที่มีเงื่อนไขอื่น ๆ ด้วย เช่น แถบประเทศอินเดีย เมืองในอินเดีย ก็จะเป็นอันดับต้นๆ หรือแถวตะวันออกกลาง เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาค่อนข้างสูงในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ เขาก็จะเจอกับปัญหานี้ ซึ่งมันค่อนข้างมีพลวัตพอสมควร ในเรื่องว่า เราจะจัดลำดับ ฝุ่น PM 2.5 ในช่วงไหน เพราะมันไม่ได้อยู่ตรงนั้นตลอดเวลา มันมีการขึ้นๆ ลงๆ ตามเงื่อนไข ของสภาพแวดล้อมหรือปัจจัย
ไทยพีบีเอสออนไลน์ : สาเหตุหลักของการเกิดฝุ่น PM 2.5 มาจากอะไรมากที่สุด
ธารา : ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การรณรงค์ของภาคประชาชน และของกรีนพีซ พยายามหยิบยกปัญหานี้ให้เป็นปัญหาเร่งด่วน ถ้าพูดถึงมลพิษทางอากาศ ก็มีการศึกษาของนักวิชาการ ของสถาบันการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ข้อสรุปในเบื้องต้น เราอาจจะไม่ได้จัดว่าอะไรเป็นแหล่งกำเนิดใหญ่ หรือแหล่งกำเนิดเล็ก มันขึ้นอยู่กับพื้นที่
ในภาพรวมของประเทศไทย จะเริ่มต้นจากการดูแหล่งกำเนิดจากการเผาในที่โล่ง ซึ่งมันก็รวมถึงการเผาซากจากการเกษตร เรื่องของไฟป่า และการผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือก๊าซธรรมชาติ แล้วตามมาด้วยเรื่องของอุตสาหกรรมการผลิต ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการเผาไหม้ เพื่อเอาไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม
อีกภาคหนึ่งที่เกี่ยวข้องมาก ๆ และกระจุกตัวอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ นั่นก็คือ การขนส่งและการคมนาคม คือรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันประเภทต่าง ๆ
บางทีขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนศึกษา ซึ่งเราก็จะบอกว่า กรุงเทพฯ มีส่วนเป็นแหล่งกำเนิด PM 2.5 ก็จะเป็นรถยนต์ การคมนาคม แต่บางช่วงบางเวลา เราจะพบว่า มันก็จะมีฝุ่นข้ามแดนที่เคลื่อนย้ายมาตามกระแสลม ไม่ว่าจะมาจากทางฝั่งกัมพูชา ที่มีการเผาในที่โล่ง หรือมีไฟป่าเกิดขึ้น หรือตอนนี้ (พ.ค.2566) ทางลาวตอนใต้ มีโอกาสที่จะกระจายตัวมาอยู่ทางฝั่งไทยได้
หรือกระทั่งกิจกรรมทางอุตสาหกรรมที่อยู่ในเขต EEC หรือเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก ก็จะเข้ามาเติมความเข้มข้นของฝุ่นที่อยู่ในกรุงเทพฯ ได้ เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาด้วย ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางอุตุนิยมวิทยา มันก็จะเป็นเงื่อนไขให้ในแต่ละพื้นที่ มีแหล่งกำเนิดที่มีความแตกต่างกัน
ไทยพีบีเอสออนไลน์ : ที่ผ่านมารัฐบาลได้แก้ปัญหาเหล่านี้ยังไงบ้าง หรือแก้ไขได้จริงมั้ย
ธารา : ที่มีความชัดเจนมาก คือหยิบยกเอาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติ มีการทำแผนปฏิบัติการณ์ว่าด้วยเรื่องฝุ่น ที่เป็นวาระแห่งชาติขึ้นมา มีกรอบเวลา น่าจะผ่านมาแล้ว 6 ปี โดยมองไปถึงปี พ.ศ.2567 ซึ่งเราเรียกว่า แผนฝุ่นแห่งชาติ
เท่าที่มีการวิเคราะห์กันในภาคประชาสังคมและแวดวงนักวิชาการที่ทำงานเรื่องนี้ แผนฝุ่นที่ดำเนินการภายใต้รัฐบาลรักษาการในขณะนี้ อาจจะสำเร็จไปเพียงแค่น้อยกว่า 1 ใน 3 ถ้าเทียบดูว่า 100 เปอร์เซ็นต์ สำเร็จไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์
มีบางเรื่องที่มีความพยายามที่จะทำ เช่น การปรับค่ามาตรฐานของฝุ่น PM 2.5 ในบรรยากาศทั่วไป ซึ่งถ้าไม่มีการขับเคลื่อนของภาคประชาชน อาจจะไม่มีการปรับก็ได้
เพราะฉะนั้นแผนฝุ่นของรัฐบาลรักษาการที่ผ่านมา เป็นบทเรียนที่ต้องเอามาทบทวนว่า แผนปฏิบัติการณ์ว่าด้วยวาระแห่งชาติ เรื่องฝุ่น PM 2.5 ควรจะมีการทบทวนอย่างไรหรือไม่ ในรัฐบาลที่จะมาข้างหน้า ในการที่จะทบทวนอะไรที่เป็นจุดอ่อนจุดแข็ง อะไรที่เป็นข้อผิดพลาด ในการที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้
อาจจะเรียกได้ว่า โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต ที่เราเจอกับฝุ่นเยอะๆ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นในภาคเหนือหรือฝุ่นในกรุงเทพมหานคร ที่เรากำลังเจอที่ผ่านมา เราจะไม่ค่อยเห็นปฏิบัติการฉุกเฉินเร่งด่วน ที่จะมาตอบรับกับปัญหาที่มันวิกฤตมาก ๆ
ในช่วงเวลาที่เป็นภัยฉุกเฉินจริง ๆ เราจะเห็นว่าไม่มีการประกาศพื้นที่เสี่ยงภัย หรือเป็นพื้นที่วิกฤตฝุ่น ซึ่งที่ผ่านมาเราประกาศไม่ได้ เพราะกระทบกับเศรษฐกิจ กระทบการท่องเที่ยว
เป็นบทเรียนให้กับเราว่า ในฐานะที่มลพิษทางอากาศเป็นวาระแห่งชาติ เป็นวิกฤตทางด้านสาธารณสุข แผนฝุ่นที่ผ่านมาจะต้องมีการทบทวน อาจจะมีการยกเครื่องเพื่อดูว่า เราจะทำให้สำเร็จตามเป้าได้อย่างไรบ้าง
ไทยพีบีเอสออนไลน์ : กฎหมายจะช่วยอะไรได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันกฎหมายอยู่หลายฉบับ
ธารา : ไม่อยากเรียกว่าความล้มเหลว แต่มันขาดความใส่ใจว่าเป็น Political View ของรัฐบาล ที่จะออกกฎหมายใหม่ๆ ออกมา จริง ๆ กฎหมายที่มีอยู่ก็ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ฉะนั้นกฎหมายใหม่ที่จะเข้ามา จะเป็นกฎหมายที่เสนอให้มีการบูรณาการกฎหมายที่มีอยู่เข้าด้วยกัน ที่จะแก้ปัญหาได้ตรงจุด แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่คิดว่าเป็นการขาดแรงจูงใจทางการเมืองที่จะทำให้เราสามารถที่จะมีเครื่องมือใหม่ๆ มาใช้แก้ปัญหาที่เป็นวิกฤตของชาติได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย
ไทยพีบีเอสออนไลน์ : สภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มาจาก PM 2.5 ด้วยหรือไม่
ธารา : เกี่ยวข้องโดยตรงเลยครับ เมื่อเราพูดถึงฝุ่น PM 2.5 มันก็คือเหรียญคนละด้าน จากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
ตัวอย่างที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ตอนช่วงต้นปี เห็นได้ชัดก็คือ เราจะเห็นจุดความร้อน (Hot Spot) ที่มันกระจายตัว กระจุกตัว อยู่บริเวณอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทางภาคเหนือตอนบนของไทย ในรัฐฉานของเมียนมา ภาคเหนือของประเทศลาว ที่มันมีความเข้มข้นสูงมาก
ฝุ่นพิษ PM 2.5 รวมถึงสิ่งที่เรียกว่าละอองลอย ที่เกิดจากการเผาไหม้ มันมีแบบแผนการกระจายตัวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของกระแสลม วิกฤตภาพอากาศ หรือปรากฏการณ์ สภาพอากาศสุดขั้วที่มันเปลี่ยนไป
เพราะช่วงต้นปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งจะมีความขึ้นสูง มาเป็นปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่เริ่มทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
และเราเห็นได้ชัดว่า ละอองลอยที่เกิดจากการเผาไหม้ในพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มันกระจายตัวลงมาทางอ่าวไทย ครอบคลุมภาคใต้ของเรา ทำให้เกิดปรากฏการณ์ฟ้าหลัวเกิดขึ้น เราจะเห็นได้จากพื้นที่ชายฝั่งทะเล หลายจังหวัดในภาคใต้ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากการที่เกิดการกระจายตัวของละอองลอยที่อยู่ในกัมพูชาหรือในลาว ลงมาถึงอ่าวไทยได้
ปกติเราจะเห็นหมอกควันข้ามพรมแดนที่มาจากอินโดนีเซีย คือการขยายตัวของการปลูกปาล์มน้ำมัน ข้ามสิงคโปร์ มาเลเซีย มาจนถึงภาคใต้ของเรา แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีปรากฎการณ์ใหม่เกิดขึ้น ซึ่งมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับปรากฏการณ์สภาพอากาศที่มันสุดขั้น เราเรียกว่า ปรากฎการณ์สภาพอากาศกับสภาพภูมิอากาศ เป็น 2 ด้านในบริเวณเดียวกัน
ไทยพีบีเอสออนไลน์ : ประชาชน หรือภาคธุรกิจ จะต้องทำอย่างไร เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหานี้ หรือป้องกันไม่ให้เกิดปัญหารุนแรงกว่านี้
ธารา : ที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นในการขับเคลื่อนของภาคประชาชน ในเรื่องฝุ่น PM 2.5 อาจจะย้อนหลังไป 5-6 ปีที่ผ่านมา มีเครื่องวัดฝุ่นขนาดเล็ก ยังไม่เป็นที่ยอมรับของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ก็คือกรมควบคุมมลพิษ
แต่ตอนนี้เราพบว่า พื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมดเลย เป็นเมืองที่มีเครื่องเซ็นเซอร์ขนาดเล็ก หรือเครื่องวัดฝุ่นมากที่สุด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา Disturb วิธีการติดตามตรวจสอบสภาพอากาศ เราจะไปพึ่งเครื่องวัดฝุ่นขนาดใหญ่ ที่เป็นสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ของกรมควบคุมมลพิษ อย่างเดียวไม่ได้ เพราะมันขยายตัวได้ช้ามาก
ประการที่สอง เราเห็นภาคประชาชนในภาคเหนือ ได้ทำเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศของตัวเองขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้ในการเตือนภัย เช่น เขาตกลงร่วมกันระหว่าง สถาบันทางวิชาการ ภาคประชาชน แพทย์ บอกว่า เขาจะมีดัชนีคุณภาพอากาศของภาคเหนือโดยเฉพาะ ถ้าความเข้มข้นของ PM 2.5 เกิน 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะมีการเตือนภัยในขณะที่เกณฑ์ของกรมควบคุมมลพิษ ที่ใช้ทั้งประเทศ ต้อง 50 ไมโครกรัมฯ ขึ้นไป
อีกอันหนึ่งที่คิดว่าน่าสนในก็คือ มีนวัตกรรมใหม่ๆ หรือจะเรียกว่าเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย หรือในแวดวงวิชาการ มีการศึกษาอย่างนี้เยอะมาก ออกมาพูดว่า เราจะร่วมมือกันอย่างไร ที่จะต่อกรกับวิกฤตมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 สถาบันวิจัย นักวิชาการต่าง ๆ พยายามออกมาพูดถึงเรื่องนี้ และยื่นข้อเสนอเรื่องนี้
อีกอันก็คือ การร่างให้มีกฎหมายอากาศสะอาด ที่มีหลายฉบับ บางฉบับก็ถูกปัดตกไป บางฉบับก็ยังคงอยู่ในกระบวนการของรัฐสภา จริง ๆ ภาครัฐเองก็มีหน่วยงานที่พยายามคิดค้นว่า จะต่อกรกับวิกฤตทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5 ในระดับท้องถิ่นอย่างไรบ้าง ก็มีหลายพื้นที่ที่พยายามหาวิธีการ รับมือโดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤต
คิดว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง เป็นการรับมือ เป็นความร่วมมือ เรียกว่าอาจจะเป็นฉันทามติ ที่เรียกว่าสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เมื่อพูดถึงมลพิษทางอากาศ เมื่อพูดถึงคำว่า PM 2.5 ซึ่งเมื่อก่อนหน้านี้ มันเป็นภาษาเฉพาะ แต่ตอนนี้เมื่อพูดถึงคำนี้คนก็เข้าใจ สังคมก็มีฉันทามติร่วมกันว่า เราควรที่จะ ทำงานร่วมกันได้
ไทยพีบีเอสออนไลน์ : เคยอนุมานกันมั้ยว่า มันจะไปรุนแรงที่สุดขนาดไหน
ธารา : เราไม่เคยจินตนาการมาก่อนว่า ระดับของฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะในภาคเหนือ เกิดจากเขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน จะเป็นฝุ่นข้ามแดน เราเห็นปรากฏการณ์ ที่เรียกว่า ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ Air Quality Index มันเกินทะลุเพดานไป
ดัชนีคุณภาพอากาศของภาคเหนือ ที่ทำการติดตามตรวจสอบ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านสุขภาพ เขาจะทำเกณฑ์ขึ้นมา ถ้ามันเกิน 200 ขึ้นไป แสดงว่า Beyond AQI นั่นคือ มันวิกฤตมาก ๆ มันคือ ความเป็นความตายของสุขภาพของทุกคน ซึ่งเราเห็นหลายพื้นที่ในภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ เชียงราย หรือ 8 จังหวัดในภาคเหนือ
ในบางช่วงบางเวลาของวิกฤตเหล่านี้ ค่าดัชนีคุณภาพอากาศของ PM 2.5 มัน Beyond มันเกิน มันทะลุ 200 ขึ้นไป ซึ่งเราไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นมาก่อน
ผมคิดว่าอันนี้มันมีความสำคัญมาก ในการที่เราจะวางแผนในอนาคตที่จะรับมือ เพราะตอนนี้ปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังมา สิ่งที่เราเห็นในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา มันเป็นแค่การเริ่มต้น เพราะว่า เอลนีโญกำลังดีดตัวขึ้นมาจาก 50-60 เปอร์เซ็นต์ และมันจะค่อยๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้น เราจะต้องเตรียมรับมือในช่วงปลายปีนี้ และต้นปีหน้า มันอาจจะเป็นวิกฤตที่รุนแรงมากกว่าที่เราเห็นในช่วงต้นปี
เรื่อง : เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์
"ติดตามสถานการณ์สภาพแวดล้อม ภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปกับไทยพีบีเอสใน 1.5 องศาจุดเปลี่ยนโลก"
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง