ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

2566 โลกร้อน อากาศแปรปรวน การพยากรณ์ไม่ง่าย

ภัยพิบัติ
5 มิ.ย. 66
12:40
8,904
Logo Thai PBS
2566 โลกร้อน อากาศแปรปรวน การพยากรณ์ไม่ง่าย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักพยากรณ์อากาศ ชี้ไทยยังไม่เผชิญสภาวะอากาศสุดขั้วขั้นหิมะตก - หนาวจัด เตือนรับมือฝนตกหนัก แล้งจัด รับโลกแปรปรวนพยากรณ์ยาก ต้องใช้ประสบการณ์ช่วยวิเคราะห์

ปีแห่งความแปรปรวน ภัยพิบัติทั่วโลก "รุนแรง-ถี่ขึ้น" 

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก คาดอีก 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2027 โลกจะร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกขณะที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ทั่วโลกอาจเสี่ยงที่จะต้องรับมือกับสภาพอากาศสุดขั้วและภัยธรรมชาติที่รุนแรงเพิ่มและถี่มากขึ้น หากยังคงมีการปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก"

ปีนี้หลายประเทศหลายประเทศทั่วโลก ต่างเผชิญกับภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้นจากเดิม จากสภาพอากาศแปรปรวนแสดงให้เห็นว่า โลกกำลังส่งสัญญาณถึงความเปลี่ยนแปลงผ่านภัยธรรมชาติหลายรูปแบบ ที่นับวันจะยิ่งรุนแรงและเกิดถี่เพิ่มขึ้น

องค์การสหประชาชาติ เตือน ปี 2023-2027 เป็นช่วงเวลา 5 ปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกสถิติมา มีปัจจัยสำคัญ คือ "ก๊าซเรือนกระจก" และปรากฏการณ์ "เอลนีโญ"

ต้นปีที่ผ่านมา หลายประเทศของยุโรป เผชิญกับสภาวะอากาศที่ไม่ปกติ อากาศอุ่นผิดปกติ ชนิดที่เรียกว่า ร้อนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ หิมะละลายเพิ่มขึ้นจากปกติ

ขณะที่ สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับพายุพัดถล่มอย่างหนัก เจอ "ทอร์นาโด" พัดถล่มกว่า 60 ลูก คร่าชีวิตผู้คน บ้านพังเสียหายเป็นวงกว้าง องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ฤดูเฮอริเคน ในฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ในปีนี้ ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.-30 พ.ย. จะมีพายุมากถึง 12-17 ลูก

นอกจากพายุแล้ว หลายพื้นที่ก็กำลังเผชิญภัยแล้งรุนแรง "อุรุกวัย" วิกฤตสุด อ่างเก็บน้ำหลายแห่งน้ำแห้งขอด จนผืนดินแตกระแหง ถือเป็นการขาดแคลนน้ำครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 70 ปี

พายุ ภัยแล้ง ตามมาด้วยคลื่นความร้อนในเอเชียก็เผชิญภาวะสภาพอากาศที่แปรปรวนไม่แพ้กัน ทั้งใน "บังกลาเทศ" เผชิญอากาศร้อนสุดในรอบ 60 ปี สูงถึง 43 องศาเซลเซียส (17 เม.ย.) ที่เมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ

เมื่อภูมิภาคทั่วโลกเจอสภาวะแปรปรวนของอากาศ ย่อมส่งผลกระทบถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน เข้าสู่ฤดูฝนแรกเมื่อวันที่ 22 พ.ค. เกิดเหตุการณ์ลมพายุพัดโดมของ ร.ร.วัดเนินปอ อ.สามงาม จ.พิจิตร พังถล่ม สร้างความสูญเสียถึง 7 ชีวิต บาดเจ็บอีก 18 คน บ้านเรือนนับร้อยเสียหาย และปีนี้ยังเป็นปีที่ร้อนทุบสถิติ

อ่านข่าว : ไขคำตอบ! นักอุตุนิยมฯ ชี้เปลี่ยนฤดูร้อน-พายุรุนแรงถล่มพิจิตร

นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา อธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าวกับ ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า เป็นสัญญานเตือนให้เห็นความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน ซึ่งจะทำให้นักอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศยากขึ้นกว่าเดิม

ตอนนี้ฝนตกไม่มีรูปแบบ ไม่เหมือนเดิม เช่น การพยากรณ์อากาศภายใน 24 ชม. ว่า พื้นที่นี้จะมีฝนตก แต่กลับมีแดด เมื่อก่อนการเกิดฝนตกจะเป็นรูปแบบเฉพาะ เช่น หากมีลมใต้ ฝนจะตกใน กทม.ตอนเช้าตรู่ หรือหากเป็นลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ฝนจะตกในช่วงบ่าย-ค่ำ แต่ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนได้ตลอดเวลา

ปริมาณฝนตกกระจายทั่วพื้นที่เริ่มน้อยลง เปลี่ยนมาเป็นตกบางจุด ไม่ได้ปูพรมเหมือนเดิมแล้ว

จากการติดตามรูปแบบการเคลื่อนตัวของฝนจะเปลี่ยนไปตามสภาพภูมิประเทศ บางพื้นที่ฝนตกน้อย บางพื้นที่ฝนตกแช่ หรือตกหนักอยู่จุดเดียว เช่นที่ จ.ชลบุรี เกิดเหตุฝนตกแค่ครึ่งชั่วโมง -1 ชั่วโมง ทำให้เกิดน้ำท่วมขังอย่างรวดเร็ว

นายสมควร ยังคาดการณ์ว่า ในปีนี้ สภาพอากาศค่อนข้างมีความผันผวน ผันแปร ไทยเจอร้อนจัดปีนี้บางพื้นที่อุณหภูมิสูง และภัยธรรมชาติที่รุนแรงจะเกิดบ่อยขึ้น จะเห็นได้ว่าเดือน เม.ย. อุณหภูมิสูงเกินกว่าที่คาดไว้ ที่ จ.ตาก อยู่ที่ 44.6 องศาเซลเซียส เท่ากับสถิติเดิมปี 2559 คาดการณ์ว่าปี 2567 ฝนจะตกน้อย อากาศจะร้อน และยาวนานกว่านี้ได้อีก

พยากรณ์อากาศแม่นยำต้องเพิ่มความถี่สถานี

ปัจจุบันไทยมีสถานีตรวจวัดอากาศทั่วประเทศ แต่ยังน้อยและไม่ครอบคลุมเพียงพอ การรวบรวมข้อมูลจากสถานีต่าง ๆ แม้ว่าจะทำทุก 3 ชั่วโมง แต่ก็ยังทำให้การอัปเดตข้อมูลสภาวะอากาศที่กำลังเกิดขึ้นยังไม่ทันท่วงที

นายสมควร อธิบายว่า ในช่วงเช้าจะมีการรวบรวมข้อมูลจากสถานีต่างจังหวัด ซึ่งทำการตรวจสภาพอากาศ ก่อนจะส่งข้อมูลมาที่กองสื่อสารเป็นโค้ดตัวเลข โดยกรมอุตุฯจะแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) จากนั้นจึงนำข้อมูลมากวิเคราะห์ และสังเคราะห์ โดยใช้เทคโนโลยีช่วยเพื่อให้การพยากรณ์มีความแม่นยำมากขึ้น

ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยา แบ่งการพยากรณ์เป็นระยะสั้น แบ่งเป็นสั้นมากไม่เกิน 3 ชั่วโมง ระยะสั้นไม่เกิน 12 ชั่วโมง ระยะกลางไม่เกิน 10 วัน และระยะยาว 3-6 เดือน เรียกว่า พยากรณ์รายฤดูกาล นั้นเพื่อให้เกษตรกรวางแผนการในการเพาะปลูก กักเก็บน้ำ

ขณะที่ การตรวจอากาศเพื่อเก็บข้อมูลสภาพอากาศมีทั้ง พื้นดิน พื้นน้ำ และการตรวจอากาศชั้นบน และสิ่งที่นำมาทำให้การตรวจพยากรณ์มีความแม่นยำมากขึ้นนั้นคือ การตรวจอากาศด้วยดาวเทียม และเรดาห์ตรวจอากาศ รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลกับต่างประเทศ เพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอที่จะใช้พยากรณ์

นักพยากรณ์จะนำข้อมูลมาร่วมกันวิเคราะห์ ทำแบบจำลองต่าง ๆ ว่า ทิศทางลมเป็นอย่างไร มีความรุนแรง เพิ่มขึ้น หรือ ลดลงเพียงใด เพื่อสรุปข้อมูลส่งต่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องเตรียมความพร้อมรับมือ

นายสมควร อธิบายคำว่า "สภาพอากาศ" คือ ภาวะลมฟ้าอากาศที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ และจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ โดยนักพยากรณ์จะอากาศติดตาม เรื่องเกี่ยวกับทิศทางลม อุณหภูมิ ความกดอากาศ และความชื้นในอากาศในภูมิภาคหนึ่ง ๆ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ว่า วันนี้จะมีฝนตกหรือไม่หรือแดดจะร้อนขนาดไหน ซึ่งโดยทั่วไปการพยากรณ์ในระยะสั้นมักค่อนข้างแม่นยำกว่า

อย่างไรก็ตาม การพยากรณ์อากาศระยะสั้นในไทยมีความถูกต้องแม่นยำ 80 % และด้วยปัจจัยข้อจำกัดของสถานีตรวจวัดที่ยังถือว่าน้อย แต่อากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การจะพยากรณ์ให้ถูกต้องแม่นยำจึงต้องเพิ่มความถี่ของสถานี

ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น พยากรณ์ได้แม่นยำ เพราะมีสถานีตรวจอากาศมากกว่า สภาพอากาศมีรูปแบบ ไม่เปลี่ยนแปลงมาก หากเทียบกับไทยที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร หรือมีข้อมูลเพิ่มเติมจากตรวจชั้นบรรยากาศ การปล่อยบอลลูนก็เสริมข้อมูลในการพยากรณ์ได้ดียิ่งขึ้น นอกเหนือจากการมีเพียงข้อมูลจากภาคพื้นดิน

ไทยยังไม่ถึงขั้น "อากาศสุดขั้ว" แต่ แปรปรวนเพิ่มขึ้น

ขณะนี้โลกกำลังร้อนขึ้น และส่งผลกระทบต่อมนุษย์ทั่วโลก ทำให้เกิดสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว เช่น ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น

ผอ.ส่วนพยากรณ์อากาศกลาง บอกว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เป็นปัจจัยสำคัญต่อภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในแต่ละเหตุการณ์ การเกิดสภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) มีแนวโน้วจะเกิดขึ้นในหลายประเทศ รุนแรงและถี่ขึ้น ทั้งฝนตกหนัก พายุ แล้งจัด รวมทั้งไฟป่า

การพยากรณ์ว่าฝนจะตกเมื่อไหร่ หรือตกที่ไหนยากขึ้น โดยเฉพาะในเขตร้อนอย่างไทย เพราะอากาศแปรปรวนตลอดเวลา หรือการเกิดพายุที่อินเดีย เดิมเป็นแค่พายุไซโคลน แต่ปีนี้กลายเป็น ซุปเปอร์ไซโคลน ขณะที่ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ฟิลิปปินส์ เจอ ซุปเปอร์ไต้ฝุ่น เป็นสัญญาณว่า น้ำทะเล เกิดความเปลี่ยนแปลง และต้องจับตาว่า ปีนี้จะเกิดถี่ขนาดไหน

ส่วนสภาพอากาศประเทศไทย นายสมควร กล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่า "Extreme" เหมือน อเมริกา หรือยุโรป เพราะอยู่ในเขตละติจูดที่แตกต่างกัน รูปแบบการเกิดจึงแตกต่าง ไทยอยู่ในพื้นที่เขตร้อน มีฝนตก พายุ ภัยแล้ง แต่หลังจากนี้อาจมีแนวโน้มเกิดฝนตกหนัก ลูกเห็บตกเพิ่มมากขึ้น เกิดถี่และรุนแรงเพิ่มขึ้น

และในอนาคต ความแปรวนปรวนจากสภาพอากาศ อาจส่งผลให้พื้นที่ภาคตะวันออก ภาคใต้ ที่เคยได้ชื่อว่า “ฝนแปดแดดสี่” เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจาก 2 ภาคนี้ เป็นพื้นที่รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่หอบนำความชื้นเข้ามา เป็นพื้นที่มีฝนตกได้มากกว่าภาคอื่นในฤดูฝน

หรือ จ.ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องการน้ำ แต่เพิ่งจะมีฝนตก ทำให้เกิดความแห้งแล้ง รวมไปถึงพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยชุ่มชื้นกลับกลายเป็นมีน้ำน้อย อาจกระทบผู้ปลูกทุเรียน จึงต้องมีการวางแผนการใช้น้ำอย่างเหมาะสม ไม่ให้กระทบผลผลิตที่เป็นรายได้หลักของเกษตรกร

นักพยากรณ์อากาศ ทิ้งท้ายว่า สภาพอากาศแปรปรวน เสริมด้วยปรากฎการณ์ "เอลนีโญ" คาดว่า เดือน มิ.ย.-ก.ค.ปีนี้ ไทยเจอฝนทิ้งช่วงนานขึ้น จากเดิม 3-5 วัน เป็น 1-2 สัปดาห์ติดต่อกัน กระทบปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่าง ๆ อาจมีน้อย

ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก และอุปโภคบริโภค

"ติดตามสถานการณ์สภาพแวดล้อม ภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปกับไทยพีบีเอสใน 1.5 องศาจุดเปลี่ยนโลก"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

PM 2.5 ยังวิกฤต “ผอ.กรีนพีซ” ชี้ทุกภาคส่วน ทั้ง “รัฐบาล-ประชาชน-กฎหมาย” ต้องช่วยแก้

โลกเผชิญ “ซูเปอร์เอลนีโญ-ลานีญา” 5 ครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง