รถบรรทุก 3 เพลา 10 ล้อ เป็นรถบรรทุกขนาดกลาง ที่ผู้ประกอบการนิยมนำมาใช้ขนดิน หิน ทราย ซึ่งกฎหมายกำหนดน้ำหนักบรรทุกรวมน้ำหนักรถไม่เกิน 25 ตัน
หากเป็นขนาดปกติ "คอกรั้ว" ระหว่าง 2 เส้น - 4 เส้น ต้องมีความสูงไม่เกิน 1.70 เมตร แต่รถบรรทุกเหล่านี้มักเป็นรถที่วิ่งระยะใกล้ ไม่ค่อยผ่านด่านตรวจน้ำหนัก ผู้ประกอบการบางส่วนจึงนำรถประเภทนี้มาดัดแปลงคอก

จากการพูดคุยกับเจ้าของอู่ซ่อมรถ ซึ่งมีรถบรรทุกอยู่ในครอบครอง ให้ข้อมูลว่ารถประเภทนี้ถูกดัดแปลงด้วยการเสริมเหล็กแผ่น ติดไว้รอบคอก ปิดช่องว่างระหว่างเหล็กเพื่อให้บรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้น ตามกฎหมายกำหนดให้บรรทุกสินค้าไม่เกิน "แผ่นทึบ" ที่ติดไว้ที่มีความสูง 1 เมตร
กองบังคับการตำรวจทางหลวง เปิดเผยว่า การจับกุมช่วงเดือน ม.ค. - พ.ค.2566 พบรถที่มีน้ำหนักเกิน รวม 531 ราย ในจำนวนนี้มีน้ำหนักเกินมากกว่า ร้อยละ 90 จำนวน 14 ราย

ประเภทสินค้าที่บรรทุกเกินน้ำหนักเกิน มากที่สุด คือ วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง พบมากถึง 243 ราย คิดเป็นร้อยละ 45.7 รองมา คือ ผลผลิตทางการเกษตร พบ 140 ราย หรือร้อยละ 26.3 ส่วนที่เหลือ คือ สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องจักรกล น้ำมันเชื้อเพลิง Logistic และอื่น ๆ
นอกจากนั้นยังพบการดัดแปลงสภาพเครื่องอุปกรณ์หรืออุปกรณ์ส่วนควบที่ผิดกฎหมาย ทั้งบังโคลนล้น การต่อเติมกระบะบรรทุก ไม่มีสิ่งป้องกันของตกหล่น ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ขับชิดขวาและใช้ความเร็วที่กีดขวางการจราจร ซึ่งกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน
สำหรับการดัดแปลงรถบรรทุกให้รับน้ำหนักได้มากขึ้น ทั้งการเสริมช่วงล่างและการเสริมคอก ถือเป็นความผิดตามมาตรา 71 แห่ง พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มีระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท นอกจากดัดแปลงเพื่อให้บรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้นแล้ว ที่ผ่านมาพบว่า บางพื้นที่มีการนำคอกเกษตรมาสลับใส่รถขน
การตัดแปลงรถยนต์ไม่ได้มีเฉพาะรถบรรทุกใหญ่ แต่ในรถเล็กอย่างกลุ่มรถขนผักก็มีการดัดแปลงเหมือนกัน ซึ่งก็มีช่องที่ทำให้เกิดการติดสินบน
ผู้ขับรถขนผัก ยอมเสียเงินแลกความสะดวก
คนขับรถขนผักคนนี้ อยู่ในพื้นที่ จ.ตาก ระบุว่า เมื่อก่อนดัดแปลงรถทำให้บรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้นและช่วยป้องกันรถโยก ซึ่งที่ผ่านมาถูกตำรวจจับหลายครั้ง เพราะดัดแปลงโดยไม่ผ่านการตรวจของสำนักงานขนส่งจังหวัด ล่าสุดนำออกไปแล้ว ส่วนเพื่อนบางส่วนยังใช้อยู่ ซึ่งเมื่อถูกตรวจก็มักถูกออกใบสั่ง หรือ บางคนเลือกจ่ายเงินแบบผิดกฎหมายเพื่อลดความยุ่งยาก

อ้างขนผักเกินหาเงินส่วนต่างจ่าย "เบี้ยรายทาง"
หนึ่งในคนขับรถขนผัก จาก จ.เชียงใหม่มายังภาคกลางและกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่ารถขนผักส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกรและคนรับจ้าง การเสริม "แหนบ" และ "ใส่คอก" ต้องผ่านการตรวจมาตรฐานจากขนส่งจังหวัด จึงไม่มีการจ่ายส่วยเหมือนรถบรรทุกที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่
ส่วนปัญหาที่พบระหว่างถูกตรวจคือถูกรื้อค้นจนทำให้พืชผักเสียหาย ดังนั้นแต่ละเที่ยวต้องเตรียมเงินประมาณ 1,000-1,500 บาท เพื่อจ่ายเบี้ยรายทางบางครั้งจึงบรรทุกน้ำหนักเกินเพื่อชดเชยเงินที่เสียส่วนนี้