วิชาป้องกันตัวจากศาสตร์มืด ที่รู้จักกันในนิยายและภาพยนตร์ชื่อดัง “แฮร์รี่ พอตเตอร์” ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังจากที่มีการแชร์วิชาเรียนที่มีชื่อคล้ายกัน ของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม หลายคนสงสัยว่า วิชานี้ จะสอนเกี่ยวกับเวทมนตร์ เช่นเดียวกันหรือไม่
วิชาป้องกันตัวจากศาสตร์มืด คืออะไร ?
กมลชนก สกนธวัฒน์ อาจารย์กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เปิดเผย จุดเริ่มต้นของวิชานี้ มาจากการพูดคุยกับเด็กหลายคน พบว่า เด็กมีปัญหาในชีวิตที่อยากก้าวข้ามไปให้ได้หลายปัญหา บางคนเกิดความเครียด จนไปถึงภาวะซึมเศร้า
ขณะที่สถานการณ์ในสังคมปัจจุบัน มีการแชร์ข่าวเท็จ กลโกงต่าง ๆ รวมถึงการบูลลี่ในโซเชียลมีเดีย วิชาป้องกันตัวจากศาสตร์มืดจึงเกิดขึ้น เพื่อให้เด็กรู้จักคิด มีวิจารณญาณในการใช้ชีวิตในสังคม
กมลชนก สกนธวัฒน์ อาจารย์กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สาธิต จุฬาฯ
สังคมเมื่อ 10 ปีที่แล้ว กับสังคมในปัจจุบัน มันแตกต่างกันมาก ๆ เด็กปัจจุบันเกิดมาปุ๊บ เขาอยู่กับโลกที่มีหลายใบมาก ไม่ว่าจะเป็นโลกในชีวิตประจำวันที่เราเจอกัน โลกออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ เหล่านี้ เขาเข้าถึงง่าย และมันถูกใช้เป็นเครื่องมือนำเสนอสิ่งต่าง ๆ เข้ามาในตัวเขาเองได้ง่ายด้วย ดังนั้น มองว่า เหล่านี้ควรเป็นพื้นฐานที่เด็กควรมี เพื่อที่เขาจะสามารถมีภูมิคุ้มกันตั้งรับเหตุการณ์ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
4 คาถา สร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กในการใช้ชีวิต
วิชาป้องกันตัวจากศาสตร์มืด ถูกแบ่งออกเป็น 4 คาถา หรือ 4 บทเรียน
1. คาถาพินิจใจ ส่งเสริมให้เด็กเกิดความตระหนักรู้ในตัวเอง รู้ข้อดี ข้อเสีย ของตัวเอง
2. คาถาสะกดใจ ส่งเสริมให้เด็กพยายามที่จะเข้าใจคนอื่น เพื่ออยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
3. คาถาคุ้มครอง ส่งเสริมให้เด็กสามารถใช้ชีวิตในสังคมที่มีความขัดแย้งได้ และรู้จักปฏิเสธ หลีกเลี่ยงสิ่งไม่ดี
4. คาถาผู้พิทักษ์ กับ คาถาต่อกร สอนให้เด็กรู้จักกลโกงในสังคม และรู้วิธีต่อกรกับกลโกง
4 คาถานี้ จะถูกสอนผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ปัจจุบันโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เปิดสอนเข้าสู่ปีที่ 3 ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เป็นวิชาเลือกเสรี สาเหตุที่สอนให้เด็กกลุ่มนี้ เพราะต้องการเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก ๆ ที่กำลังจะเริ่มตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตของตัวเอง
เด็กมีความพยายามที่จะเข้าใจคนอื่นมากขึ้น เขาไม่ตัดสินอะไรโดยง่าย นี่คือสิ่งที่เห็นจากพัฒนาการของตัวเขา
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ศธ.เผยข้อมูลปี 65 เด็กหลุดจากระบบการศึกษากว่า 1 แสนคน