หลังเป็นเรื่องฮือฮาในโลกออนไลน์ กรณีนักท่องเที่ยวสาวรายหนึ่งถูกหนูกัดขณะนั่งกินอาหารริมชายหาดบางแสน สร้างกระแสเป็นวงกว้างเกี่ยวกับการจัดระเบียบด้านสาธารณสุขของชายหาดบางแสน ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี
อ่าน : โซเชียลแชร์ "บางแสน" หนูชุก-วิ่งกัดนักท่องเที่ยว
ล่าสุด ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ "ณรงค์ชัย คุณปลื้ม หรือ นายกฯ ตุ้ย" นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดย นายกฯ เมืองแสนสุข ระบุว่า ในอดีต บริเวณเขื่อนกันคลื่นที่หาดวอนนภาจะเป็นก้อนหินก้อนใหญ่นำมาก่อทับกันเป็นแนวยาว หินแต่ละก้อนจะมีช่องว่างระกว่างกัน ซึ่งกลายเป็นที่อยู่อาศัยของ "หนู" และสัตว์ตัวเล็กๆชนิดอื่น เช่น แมลงสาบ หรือแมลงตัวเล็กๆ อื่นๆ ต่อมาได้จัดระเบียบหาดใหม่ ใช้ปูนมาโบกปิดช่องว่างเหล่านั้น ทำให้หนูย้ายที่อยู่ลงไปอยู่ตามท่อระบายน้ำบริเวณหาด และสัตว์ชนิดอื่นก็เริ่มหายไป
FB : เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี
หนูไม่กลัวคน
หนูปรับพฤติกรรมให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่ตัวมันอาศัยอยู่ คุ้นกับคน ไม่กลัวคน และรู้ว่าเมื่อคนมาก็จะมีอาหารตามมาด้วย แม้ว่าทางเทศบาลจะมีมาตรการทำความสะอาด ไล่เก็บขยะตั้งแต่เวลา 5.00 น.ทุกวัน แต่ก็ไม่สามารถเก็บกวาดได้ทั้ง 100% อาจจะมีเศษอาหารบางอย่างที่ตกหล่นตามชายหาดบ้าง ซึ่งพวกหนูเหล่านี้ก็จะมาไล่เก็บกิน
บางกรณีพบเจอกลุ่มนักเที่ยวมานั่งกินอาหารกลางดึก พอกลับบ้านก็ไม่ได้เก็บกวาดให้เรียบร้อย ก็เป็นแหล่งอาหารให้กับหนูอีก
พอเป็นแบบนี้เรื่อยๆ ก็เหมือนมนุษย์สร้างพฤติกรรมให้หนูไม่ย้ายที่อยู่ และรู้ว่าที่ตรงนี้มีอาหารให้เสมอ
หนูไม่เข้าใจ แต่คนเข้าใจ
"เรื่องนี้เหมือนเป็นปัญหาโลกแตก" แม้กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีก็ยังระบุเช่นนั้น นายกฯ เมืองแสนสุข บอกกับผู้สื่อข่าว แนวทางการจัดการเกี่ยวกับปัญหานี้ต้องจัดการที่คน คือให้นักท่องเที่ยวช่วยกันรักษาความสะอาด ไม่ทิ้งอาหารที่จะเป็นแหล่งอาหารให้หนูเท่าที่จะทำได้
ทางเทศบาลก็พยายามที่จะเก็บขยะและสิ่งปฏิกูลให้มากที่สุด ให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ทำความสะอาดทุกวัน น้ำที่ใช้ล้างถนนก็ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและชาวบ้านในพื้นที่ แม้จะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาก ก็ได้ปรึกษากับสำนักงานป้องกันและควบคุมโรค ในอนาคตให้เล็งหาเทคโนโลยีที่จะใช้ควบคุมประชากรหนู
FB : เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี
แม้จะถูกมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ต้นเหตุคือประชากรหนูนั้นแก้ไขได้ยากกว่า การใช้ยากำจัดหนูนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ถ้าหนูตายทั่วไปก็เก็บกวาดง่าย แต่ถ้าไปตายในท่อระบายน้ำ จะเป็นผลเสียและอันตรายมากกว่า ทั้งเรื่องกลิ่นหนูตายและเชื้อโรคที่จะปนเปื้อนในน้ำ นอกจากนั้นสารพิษมีโอกาสปนเปื้อนลงไปในน้ำทะเลอีก จะสร้างปัญหาใหญ่กับท้องทะเลได้ ส่วนกับดักจับหนู ก็เป็นอันตรายต่อผู้คนที่เดินไปมา และสร้างภาพไม่น่าดูเชิงการท่องเที่ยวอีกด้วย
ยอมรับว่า "หนูมาเพราะคน"
ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่จำกัดการเดินทางของประชาชน นายกฯ ตุ้ยยืนยันว่า แทบไม่เห็นหนูบริเวณหาดบางแสนเลย เพราะไม่มีคนมาเที่ยว
แต่จะบอกว่า ถ้าไม่อยากให้มีหนูก็ต้องให้นักท่องเที่ยวมา แล้วไม่กินข้าว ก็ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา
วิธีการที่ทางเทศบาลเมืองแสนสุขทำคือ กำจัดขยะ เศษอาหารในพื้นที่ชายหาดทุกวัน, ทุกวันอังคารเป็นวันหยุดประกอบการ และ ปลอดร่ม-ปลอดเตียง และจากกรณีกระแสโซเชียลที่เป็นข่าวนั้น วันนี้ (31 พ.ค.2566) เทศบาลเมืองแสนสุขได้ลงพื้นที่บริเวณ หาดบางแสน หาดวอนนภา และ แหลมแท่น ดำเนินการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงและหยอดยากำจัดหนู เพื่อกำจัดสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคต่างๆ ในบริเวณดังกล่าว
FB : เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี
ซึ่งแผนการดำเนินงานดังกล่าวเป็นแผนการดำเนินงานของทางเทศบาลอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว และเทศบาลจะเพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินงานมากขึ้น ทั้งในด้านการดูแลด้านสุขาภิบาล ความสะอาดและขยะในพื้นที่ การควบคุมสัตว์พาหะนำโรค การดูแลควบคุมผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ เทศบาลเมืองแสนสุข ต้องขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยว ประชาชนที่มาพักผ่อนบริเวณ หาดบางแสน หาดวอนนภา และ แหลมแท่น ทิ้งขยะและเศษอาหารลงในถังขยะที่เทศบาลได้จัดเตรียมไว้ให้ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อไม่ให้เศษอาหารและขยะดังกล่าวเป็นแหล่งอาหารของสัตว์พาหะนำโรค และไม่ก่อให้เกิดแหล่งสะสมเชื้อโรค
อ่าน : ภัยจากหน้าฝน "โรคฉี่หนู"