นี่คือหน้าตาของสติกเกอร์ ที่ถูกอ้างอิงในงานวิจัยเรื่อง "แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต กรณีรถบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัดที่กฎหมายกำหนด" ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อปี 2560
รูปแบบสติกเกอร์ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เช่น สติกเกอร์สีเขียว ที่เคยมีมีพยัญชนะแค่ “พ” ระบุวันหมดอายุ คือ 31 ม.ค.2555
ต่อมา ก็ยังมีตัว “พ” เช่นกัน แต่เพิ่มเลข 7 เข้าไป คาดว่า อาจพยายามระบุรายละเอียดบางอย่างเพื่อการสื่อสารที่่ชัดเจนมากขึ้น
จากนั้นพัฒนาเป็นรูปกระต่ายนั่งบนเพชร ส่วนอีกภาพเป็นสติกเกอร์สีเหลือง มีรูปสุนัขสีน้ำเงินระบุวันที่ 7 / 2014 นอกจากนี้ยังพบว่ามีสัญลักษณ์จ่ายส่วย เป็นรูปแบบของพวงกุญแจด้วยเช่นกัน

งานวิจัย อธิบายว่า ผู้ประกอบการสามารถติดต่อขอซื้อสติกเกอร์ได้จากนายหน้าที่อยู่ในขบวนการส่วย ซึ่งจะทำหน้าที่จัดหา ซื้อขาย และนำเงินที่ได้มาไปแบ่งผลประโยชน์ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการบรรทุกน้ำหนักเกิน
สาเหตุที่ต้องมีนายหน้าเพราะหากเกิดปัญหาการร้องเรียน จะสาวไม่ถึงเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบางพื้นที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนขายสติกเกอร์เอง
ไม่ใช่แค่สติกเกอร์ แต่ขบวนการส่วยรถบรรทุก ยังมีไลน์กลุ่มที่คอยสื่อสารกัน ระหว่างนายหน้า ซึ่งติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่ตลอดเวลา จะทราบว่าถนนเส้นไหนบ้างที่มีการตั้งด่านชั่งลอย หรือ มีการเข้มงวดเรื่องน้ำหนักรถ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกแจ้งในไลน์กลุ่ม เพื่อให้ผู้ประกอบการที่จ่ายส่วย หลบเลี่ยงเส้นทาง
อ่านข่าวเพิ่ม "วิโรจน์" เปิดข้อมูลส่วยสติกเกอร์ อ้างเงินสะพัดเกือบ 20,000 ล้านต่อปี

รศ.อังคณาวดี ปิ่นแก้ว อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า ที่ผ่านมานอกจากจะมีด่านถาวรแล้ว ยังมีด่านลอย ที่เจ้าหน้าที่ใช้สุ่มตรวจตามถนนเส้นต่างๆ แต่รถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกิน จะรอดไปได้ เพราะได้รับการแจ้งเตือนจากนายหน้า หรือเจ้าหน้าที่มาก่อนแล้ว
รถบรรทุกเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ การแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น เช่น การก่อสร้างที่ขยายตัวจะยิ่งทำให้การทุจริต และเรียกเก็บส่วยจากผู้ประกอบการรถบรรทุกมากขึ้น

ในงานวิจัยนี้ ระบุข้อเสนอ และแนวทางการแก้ไขปัญหา เช่น เพิ่มระบบตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกแบบอัตโนมัติ และลดการใช้คน หรือเจ้าหน้าที่ ในระบบการตรวจชั่งน้ำหนัก เพื่อลดการติดต่อสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ กับ ผู้ประกอบการรถบรรทุก ข้อเสนอนี้ ป.ป.ช.เคยเสนอไปยังรัฐบาล อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ครม. ตั้งแต่ก่อนปี 2563 และยังรอความคืบหน้าจนถึงปัจจุบัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง