วันนี้ (30 พ.ค.2566) ไทยพีบีเอสสำรวจสถานีตรวจสอบน้ำหนักวังน้อยขาออก ซึ่งเป็นด่านชั่งน้ำหนักขาออกสู่ภาคอีสาน พบรถบรรทุกน้ำหนักเกิน และบางคันติดสติกเกอร์ โดยกว่า 8 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 ถึงปัจจุบัน เฉพาะที่สถานีตรวจสอบน้ำหนักวังน้อย (ขาออก) สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง จับรถบรรทุกน้ำหนักเกินกำหนดได้เกือบ 300 คัน และในจำนวนนี้ มี 24 คัน ที่เป็นรถติดสติกเกอร์จ่ายส่วย
บันทึกการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินที่กฎหมายกำหนด เอกสารทำขึ้น วันที่ 23 พ.ค.2566 พบว่า รถคันนี้ขับมาจาก จ.ชลบุรี จะไปส่งข้าวโพด ที่ จ.สระบุรี เมื่อมาถึงสถานีตรวจสอบน้ำหนักวังน้อยฯ ขับเลยไป โดยไม่เข้าด่านชั่งน้ำหนัก แต่กรมทางหลวงมีระบบเทคโนโลยี "ตรวจจับน้ำหนักรถบรรทุก" ติดตั้งอยู่ด้านหน้าสถานีทุกช่องทางจราจรจึงตามกลับมาได้
จากการตรวจสอบพบว่า รถบรรทุกคันนี้มีสติกเกอร์รูปพระอาทิตย์ยิ้มสีขาว ติดไว้หน้ากระจกรถฝั่งคนขับและบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอยู่ที่ 50,030 กิโลกรัม ทั้งที่รถลักษณะนี้ ต้องบรรทุกน้ำหนักไม่เกิน 47,000 กิโลกรัม
ในบันทึกจับกุมรถบรรทุก 24 คัน ที่สถานีแห่งนี้จับกุมได้ ในช่วง 8 เดือน พบว่ามีสติกเกอร์หลายแบบติดไว้ ที่กระจกรถด้านหน้า ทั้งรูปกระต่ายสีฟ้า พระอาทิตย์ยิ้มสีน้ำเงิน พระอาทิตย์ยิ้มสีขาว และสติกเกอร์สัญลักษณ์อื่น ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแบบเดียวกับสติกเกอร์จ่ายส่วย ที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้
อ่านข่าว : "วิโรจน์" เปิดข้อมูลส่วยสติกเกอร์ อ้างเงินสะพัดเกือบ 20,000 ล้านต่อปี
ผู้ประกอบการยอมจ่ายส่วย อ้างคุ้มส่วนต่าง
ทีมข่าวได้คุยกับผู้ประกอบการรายหนึ่ง ซึ่งมีรถบรรทุกในความดูแลเกือบ 30 คัน แต่ละเดือนต้องจ่ายเงินค่าสติกเกอร์ลายพระอาทิตย์ยิ้มแฉ่ง เกือบ 70,000 บาท
ผู้ประกอบการรายนี้ บอกว่า ปกติรถบรรทุก 22 ล้อ น้ำหนักที่กรมทางหลวงกำหนด อยู่ที่ 50.5 ตัน การจ่ายส่วยจะทำให้บรรทุกน้ำหนักได้ 60 - 70 ตันต่อเที่ยว คิดเป็นกำไรตันละ 200 บาท หรือ เป็นเงินประมาณ 2,000 บาทต่อน้ำหนักบรรทุกเกินมา 10 ตัน หรือหากคิดเป็นเดือนอยู่ที่ประมาณ 60,000 บาท
ผู้ประกอบการ บอกว่า เหตุผลที่ซื้อสติกเกอร์มีมากกว่าความคุ้มค่าของกำไรที่ได้จากส่วนต่างบรรทุกน้ำหนักเกิน เพราะเอื้อประโยชน์ต่อการรับงาน
ผู้ประกอบการอ้างซื้อสติกเกอร์แลกโอกาสได้งานขนส่ง
จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุกอีกรายหนึ่ง สะท้อนว่า การซื้อสติกเกอร์กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการรถบรรทุกไปแล้ว เพราะจากประสบการณ์ในช่วงการประมูลรับงานไม่สามารถแข่งขันราคาค่าขนส่งสินค้า กับผู้ประกอบการที่จ่ายเงินซื้อสติกเกอร์ได้ เพราะผู้ที่ซื้อสติกเกอร์สามารถเสนอราคาค่าขนส่งที่ต่ำกว่าจึงได้งานไป
ส่วนสาเหตุที่ผู้ประกอบการรายนี้ไม่ยอมจ่ายเงินซื้อส่วยสติกเกอร์เหมือนเดิม เพราะตั้งใจแล้วว่าจะไม่กลับไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องอีก อยากให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และมองว่าการบรรทุกน้ำหนักเกินเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้รถเสื่อมเร็ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จเรตำรวจสั่งตรวจสอบ "ส่วยสติ๊กเกอร์" ขีดเส้น 15 วันรู้ผล
ล้างอิทธิพล "ส่วยสติกเกอร์" ปัญหาใหญ่ "สิงห์รถบรรทุก"
คมนาคมสั่งสอบ สติ๊กเกอร์ "ส่วยรถบรรทุก" "ทางหลวง" กำชับด่านตรวจเข้ม