ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักกีฏวิทยา ชี้ ปัจจัยโลกร้อน "ยุงเพิ่มจำนวน-โตไว-ผสมพันธุ์เร็วขึ้น"

สังคม
30 พ.ค. 66
12:36
3,618
Logo Thai PBS
นักกีฏวิทยา ชี้ ปัจจัยโลกร้อน "ยุงเพิ่มจำนวน-โตไว-ผสมพันธุ์เร็วขึ้น"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
5 เดือน "ไข้เลือดออก" คร่า 17 ชีวิต ป่วยเกือบ 1.7 หมื่นคน ห่วงระบาดหนักช่วงกลางปี นักกีฏวิทยาชี้ ปัจจัยโลกร้อน เร่งยุงเพิ่มจำนวน-โตไว-ผสมพันธุ์เร็วขึ้น

วันนี้ (30 พ.ค.2566) ไข้เลือดออกที่คร่าชีวิต 17 ศพ มีผู้ป่วยสะสม 16,650 คน กรมควบคุมมโรคประเมินว่าในเดือน มิ.ย.นี้ จะมีผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มสูงขึ้น

อ่านข่าว : ไข้เลือดออกระบาด คาดตัวเลขป่วยพุ่ง มิ.ย.นี้

หนึ่งในต้นเหตุที่ไข้เลือดออกระบาด มีการยืนยันจาก ดร.ปิติ มงคลางกูร นักกีฏวิทยา กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ว่า สภาวะโลกร้อน ทำให้น้ำที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงมีอุณหภูมิอุ่นขึ้น เพียงไม่ถึง 1 องศาเซลเซียล ก็มีผลกับลูกน้ำ ที่เจริญเติบโตอยู่ในน้ำ คือ จะทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกายของลูกน้ำเกิดขึ้นเร็ว ทำให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายเปลี่ยนแปลงเร็ว

ฉะนั้นลูกน้ำจะเปลี่ยนระยะเร็วมาก โดยยุงมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง 4 ระยะ คือ ระยะไข่ ระยะลูกน้ำ ระยะตัวโม่ง และระยะตัวเต็มวัย โดยระยะตัวเต็มวัยเพศเมียเป็นระยะที่กินเลือด เพื่อใช้ในการพัฒนาไข่ของยุง จึงทำให้เกิดการแพร่โรคติดต่อนำโดยยุงทำหน้าที่เป็นพาหะนำโรคจากคนหนึ่งไปแพร่สู่อีกคนหนึ่งได้

ระยะตัวโม่งของยุงลายบ้าน ปกติจะใช้เวลาในการสร้างปาก ปีก ขา และเปลี่ยนแปลงลำตัว 2-3 วัน สภาวะโลกร้อนทำให้ระยะเวลานี้หดสั้นลงเหลือเพียง 1-2 วัน เฉลี่ยแล้วประมาณ 1 วันครึ่ง ก็สามารถลอกคราบเป็นตัวยุงได้แล้ว

แต่ยุงที่เกิดขึ้นจะตัวเล็กกว่าปกติ เพราะเกิดจากลูกน้ำที่ตัวเล็ก พอเกิดเป็นยุงก็เป็นยุงที่ตัวเล็ก เมื่อระยะต่าง ๆ สั้นลง ยุงจะเกิดเร็ว ทำให้มีการผสมพันธุ์เร็วตามไปด้วย และทำให้มียุงสะสมในธรรมชาติมากขึ้นตามไปด้วย เช่นกัน

ปกติวงจรชีวิตยุงใช้เวลาประมาณ 12-15 วัน แต่ในภาวะโลกร้อนนี้วงจรชีวิตยุงหดสั้นลงใช้เวลาเพียงสัปดาห์กว่า ๆ เท่านั้น

นอกจากนี้อุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้นยังส่งผลต่อระบบเผาผลาญของยุงตัวเต็มวัยด้วยคือทำให้ยุงมีกิจกรรมการบินมากขึ้นและทำให้หิวบ่อย จึงหากินเลือดเหยื่อบ่อยขึ้นเป็นสาเหตุว่าทำไมโรคภัยไข้เจ็บที่นำโดยยุงจึงมากขึ้น

ยุงพาหะนำหลายโรคร้าย 

ยุงในไทยมีหลายชนิด ชนิดที่พบเป็นพาหะนำโรค ได้แก่ ยุงลายบ้านและยุงลายสวน พาหะนำโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิก้า, ยุงก้นปล่องพาหะนำโรคไข้มาลาเรีย, ยุงเสือพาหะนำโรคเท้าช้าง และยุงรำคาญท้องนา พาหะนำโรคไข้สมองอักเสบ ซึ่งยุงพาหะแต่ละชนิดมีชีวนิสัยและแหล่งเพาะพันธุ์ที่แตกต่างกัน

การฉีดพ่นฆ่ายุง เป็นวิธีที่ได้ผลรวดเร็วในการควบคุมการระบาดของโรคติดต่อที่นำโดยยุง เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ในการพ่นเพื่อฆ่าแม่ยุงตัวที่มีเชื้อให้ตายลงอย่างรวดเร็ว

หากพ่นไม่ได้ผล ก็จะกลายเป็นปัญหาทางสาธารณสุขมากขึ้น เนื่องจากจะเกิดการล่าช้าในการควบคุมโรค ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ควรจะเป็น และบุคลากรทางการแพทย์ต้องมีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้นอีกมากในการดูแลรักษาผู้ป่วย

ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องหาวิธีกำจัดยุงที่ มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสู้กับ ยุง ตัวร้าย ส่วนประชาชนก็ต้องหาวิธีการป้องกันตัวเองจากยุงมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ดร.ปิติ ยังแนะนำให้ประชาชนทำสเปรย์ฉีดยุงจากนำยาล้างจานไว้ใช้เองที่บ้าน เพื่อฆ่ายุงลายและยุงรำคาญที่หากินอยู่ตามบ้านเรา เพื่อเป็นการช่วยกันควบคุมยุงแบบมีส่วนร่วมและช่วยลดปัญหายุงรำคาญที่ออกมารบกวนชีวิตประจำวันของเราในช่วงค่ำ ๆ ได้อีกด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เทียบอาการ! ไข้เลือดออก-ไข้หวัดใหญ่-โควิด อะไรเหมือน-ต่าง?

เปิด 3 กลไก แปลงร่างจาก ”ยุง” เป็น ”ซูเปอร์ยุง”

เปิด 13 เรื่อง น่ารู้เกี่ยวกับ "ยุง" วายร้ายตัวจิ๋ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง