ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ล้างอิทธิพล "ส่วยสติกเกอร์" ปัญหาใหญ่ "สิงห์รถบรรทุก"

สังคม
29 พ.ค. 66
17:09
917
Logo Thai PBS
ล้างอิทธิพล "ส่วยสติกเกอร์" ปัญหาใหญ่ "สิงห์รถบรรทุก"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

"รักสิบล้อ ไม่ต้องรอสิบโมง"เพราะทุกวันนี้ เมื่อขับรถออกมาบนท้องถนนในพื้นที่กรุงเทพฯจะเห็นได้ว่า ในช่วงเวลา 8.00 โมงเช้า ก็มีรถบรรทุก รถพ่วง วิ่งแทรกอยู่ทุกช่องทางจราจร ทั้งๆที่ช่วงเวลาดัง กล่าว อยู่ในช่วงเวลาเร่งด่วน จราจรคับคั่ง

แต่"พี่ใหญ่"สิงห์รถบรรทุกบนท้องถนนก็หาได้สนใจไม่ วิ่งเบียดซ้าย -ขวา ไม่สนโลก และเพื่อนร่วมทาง อาจเป็นเพราะมีเกราะที่เรียกว่า "ส่วยสติกเกอร์"ที่ใช้กันตำรวจที่ติดอยู่ด้านหน้ารถ

ข้อมูลจากการเสวนาวิชาการเรื่อง"อิทธิพลส่วยรถบรรทุกกับการคอรัปชั่น"เมื่อปี 2565 ระบุว่า ในแต่ละปีมีการจ่ายส่วยทางหลวงให้แก๊งอั้งยี่ถึงปีละ 12,000 ล้านบาท และรูปแบบ วิธีการจ่ายส่วยในปี 2566 นี้ ก็ไม่ได้แตกต่างกัน และไม่เคยได้รับการแก้ไขปัญหาใดทั้งๆสิ้น

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร ที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจ่ายส่วยรถบรรทุกมีหลายรูปแบบ ในอดีตการจ่ายจะเป็นในลักษณะเหมาจ่าย คือ จ่ายครั้งเดียวหรือเหมาจ่าย ด้วยการติดสติกเกอร์รูปหนึ่งรถบรรทุกจะสามารถวิ่งได้ตลอดทั้งปี

แต่ปัจจุบันการจ่ายส่วยมีลักษณะที่เป็นระบบ มีประสิทธิภาพมากขึ้น เปลี่ยนจากจ่ายรายปีเป็นจ่ายรายเดือน โดยสติกเกอร์ที่ติดอยู่ที่หน้ารถบรรทุกของผู้ประกอบการทุกรายก็จะเปลี่ยนรูปแบบและสีในทุกๆเดือน

อัตราการจ่ายส่วยสติกเกอร์ราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 3,000 บาท หรือ 5,000 บาท ตามแต่ระยะทาง เส้นทางการวิ่งของรถว่า จะวิ่งสายสั้น หรือ สายยาว

พ.ต.อ วิรุตม์ กล่าวว่า ปัญหาที่อยากให้สังคมตระหนักมากกว่าการจ่ายส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก คือ ในแต่ละปี หรือทุกวันๆที่มีการปล่อยให้รถบรรทุกที่วิ่งเกินน้ำหนักวิ่งอยู่บนท้องถนน สร้างความเสียหายต่อถนน ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมถนนปีละมากกว่า 10,000 ล้านบาท ยังไม่รวมปัญหาอุบัติเหตุที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี

"ปัญหาส่วยรถบรรทุกและการคอรัปชั่น เป็นปัญหาที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน และไม่เคยถูกแก้ไข แม้จะเปลี่ยนผบ.ตร.ไปหลายคนแล้วก็ตาม ไม่อยากให้หลงประเด็นว่า ตำรวจเงินเดือนน้อย จึงต้องหากินกับการเก็บส่วย หากใครก็ตาม หรือพรรคการเมืองใดที่แก้ปัญหานี้ได้ ทำให้ผู้ประกอบไม่ต้องจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่ เราก็พร้อมให้ข้อมูลเพื่อให้เขาเข้าไปแก้ปัญหาให้"พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

ราคาน้ำมันที่การปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนด้านการขนส่งเพิ่มขึ้น ย่อมทำให้ธุรกิจมีการแข่งขันทางธุรกิจอย่างรุนแรง ด้วยเหตุนี้ รถสิบล้อ หรือรถพ่วงที่บรรทุกน้ำหนักเกินพิกัดที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงทำให้ผู้ประกอบการยอมจ่ายส่วยรถบรรทุก

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันรูปแบบการจ่ายส่วยเปลี่ยนไปจากเดิมโดยต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เช่น รถบรรทุก 1 คัน จะต้องจ่ายประมาณ 10,000-27,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับปริมาณการบรรทุกน้ำหนัก

ขณะนี้พบว่ามีรถบรรทุกจ่ายส่วยประมาณ 120,000 คัน หรือคิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาทต่อเดือน ปัจจุบันมีรถบรรทุกที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ประมาณ 1,400,000-1,500,000 คัน ในส่วนนี้เป็นสมาชิกสหพันธ์ขนส่งฯ ประมาณ 400,000 คัน

สำหรับราคาของส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก หากซื้อสติกเกอร์ รายเดือน และวิ่งสายสั้น ไม่โดนจับทุกข้อหา สามารถวิ่งขวาได้ตลอดเส้นทาง ราคาอยู่ที่ใบละ 5,000 บาท ส่วนรถบรรทุกที่วิ่งสายยาว วิ่งผ่านตลอดทั่วไทย ราคาใบละ 20,000 บาท

โดยส่วยสติกเกอร์จะมีการเปลี่ยนสีทุกเดือน"คนขับรถบรรทุก"ก็จะ"รู้กัน"กับเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง เพราะนอกจากจะไม่ถูกตำรวจเรียกตรวจจับแล้ว ยังมีการแจ้งความเคลื่อนไหวให้เจ้าของสติกเกอร์ทราบความเคลื่อนไหว และหลีกเลี่ยงเส้นทาง ในกรณีที่จะมีหน่วยงานออกตรวจสอบ ทางหลวงสายไหน วันใด เวลาเท่าใดถึงเท่าใด

หรือกรณีที่คนขับรถบรรทุกพลาดพลั้งถูก กรมทางหลวงหรือเจ้าหน้าที่จับกุมในข้อหาบรรทุกน้ำหนักเกิน เจ้าหน้าที่ก็จะจัดการเคลียร์ให้

ปัจจุบันผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วประเทศมีจำนวนกว่าหมื่นคน และบริษัทมีรถบรรทุกทุกประเภท เฉพาะที่อยู่ในเครือข่ายของสหพันธ์ รวมประมาณ 400,000 คัน และครึ่งหนึ่งไม่ต้องการทำผิดกฎหมายไม่ยอมจ่ายส่วย จึงร่วมกันต่อสู้เพื่อหาหนทางไม่ต้องจ่ายส่วยสติกเกอร์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง