ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"หมีพิซลี" สัตว์กำเนิดใหม่จาก "ภาวะโลกร้อน"

สิ่งแวดล้อม
6 มิ.ย. 66
11:59
2,154
Logo Thai PBS
"หมีพิซลี" สัตว์กำเนิดใหม่จาก "ภาวะโลกร้อน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การพบรักของหมีต่างสายพันธุ์ "หมีขั้วโลก (Polar Bear)" และ "หมีกริซลี (Grizzly Bear)" ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากความแปรปรวนของสภาพอากาศโลก ที่ทำให้ผืนน้ำแข็งเขตแดนกั้นหมี 2 ชนิดละลายหายไป

ในขณะที่สัตว์เขตหนาวหลายชนิดกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหาร เพราะน้ำแข็งเขตอาร์กติกกำลังละลาย แต่เจ้าหมีลูกครึ่งกลับมีวิวัฒนาการที่สามารถเอาตัวรอดในอากาศหนาวของขั้วโลกตามหมีขั้วโลก และสามารถกินอาหารได้หลากหลายตามหมีกริซลี

หลักฐานทาง DNA ยังแสดงให้เห็นว่าในช่วงภาวะโลกร้อนก่อนหน้านี้เมื่อ 100,000 ปีที่แล้ว เป็นสาเหตุให้หมีขั้วโลกและหมีกริซลีประสบความสำเร็จในการผสมพันธุ์ พวกมันออกลูก หมีพิซลี ที่สามารถผสมพันธุ์และผสมพันธุ์ได้ ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา กล่าวว่า

ลูกผสมมีความแข็งแกร่งมากกว่าและสามารถปรับตัวได้ดีกว่า
เพื่อเอาตัวรอดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ข้อมูลจากวารสาร Arctic และ Biology Letters เมื่อปี 2017 พบว่าประชากรหมีพิซลีเพิ่มขึ้นสวนทางกับประชากรของหมีขั้วโลก ซึ่งคาดว่าจะลดลงกว่าร้อยละ 30 ในช่วงเวลาอีก 30 ปีข้างหน้า เนื่องจากผืนน้ำแข็งที่เป็นแหล่งหากินกำลังแตกตัวเล็กลงและละลายหายไป คิดเป็นพื้นที่ถึง 2 เท่าของรัฐแคลิฟอร์เนีย หรือราว 870,000 ตร.กม.

หมีขั้วโลก (Polar bear)

หมีขั้วโลก (Polar bear)

หมีขั้วโลก (Polar bear)

หมีกริซลี (Grizzly bear)

หมีกริซลี (Grizzly bear)

หมีกริซลี (Grizzly bear)

Chris Servheen ผู้เชี่ยวชาญด้านหมีกริซลี กังวลเรื่องของยีนหมีกรีซลีที่ข่มยีนหมีขั้วโลก ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนประชากรหมีขั้วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง กรณีเช่นนี้คือผลกระทบทางพันธุกรรมสิ่งมีชีวิตที่เกิดจาก "ภาวะโลกร้อน" ที่หากยังไม่มีมาตรการที่เข้มข้นในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หมีขั้วโลกในแถบอาร์กติกตอนล่างจะหายไป และคงเป็นเรื่องยากที่จะรักษาจำนวนประชากรหมีขั้วโลกให้คงอยู่ได้จนถึงสิ้นศตวรรษนี้

นักวิจัยอังกฤษประเมินสิ้นปี 2100 น้ำทะเลเพิ่มขึ้น 2 ม.

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) ระบุว่ามหาสมุทรดูดซับความร้อนจากก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 90 ที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ศ.เคน ไรซ์ จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในสกอตแลนด์ ประเมินว่าในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลของโลกได้เพิ่มสูงขึ้นจาก 160 มม. เป็น 210 มม. แม้การเปลี่ยนแปลงนี้อาจไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ส่งผลกระทบให้เห็นอย่างชัดเจน เพราะระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นตัวเร่งให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และมีแนวโน้มจะเกิดน้ำท่วมมากขึ้น

หากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ระดับน้ำทะเลอาจสูงแตะ 2 ม. ภายในสิ้นปี 2100

นั่นหมายถึงประชากรหลายล้านคนที่อาศัยตามแนวชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย อาจต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมเขตที่อยู่อาศัย

ในขณะที่ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ประเมินว่าหากอุณหภูมิโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นศตวรรษนี้ มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นกับโลก 54 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มเป็น 69 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิผิวน้ำของมหาสมุทรทั่วโลกร้อนพุ่งทำลายสถิติ

เว็บไซต์ข้อมูลสภาพอากาศ ClimateReanalyzer.org ระบุว่าตั้งแต่ช่วงต้นเดือน เม.ย.2023 อุณหภูมิผิวน้ำของมหาสมุทรทั่วโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนแตะระดับทำลายสถิติที่ 21.1 องศาเซลเซียส สูงกว่าข้อมูลเดือนมี.ค.2016 ที่ 21 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิผิวน้ำที่เพิ่มขึ้นหรือการเกิดคลื่นความร้อนในมหาสมุทร ทำให้สิ่งมีชีวิตในท้องทะเลหลายชนิดพันธุ์ไม่อาจทานทนได้ เช่น ปะการังฟอกขาว ซึ่งส่งผลกระทบแบบลูกโซ่ต่อแหล่งอาหารและสถานที่อนุบาลลูกอ่อนของเหล่าสัตว์น้ำ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้วัฏจักรของน้ำของโลก ซึ่งเป็นกระบวนการที่น้ำระเหยกลายเป็นไอในชั้นบรรยากาศและควบแน่นตกลงมาเป็นฝน เริ่มหมุนเวียนไปจนครบรอบอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ส่งผลให้พื้นที่ประสบภัยแล้งจะขาดแคลนน้ำยิ่งขึ้น
ส่วนเขตมรสุมพายุฝนจะรุนแรงกว่าเก่าและเกิดอุทกภัยหนักขึ้น

"ติดตามสถานการณ์สภาพแวดล้อม ภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปกับไทยพีบีเอสใน 1.5 องศาจุดเปลี่ยนโลก"

ที่มา : BBC, IPCC, Sierraclub

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ไขคำตอบ เอลนีโญ-ลานีญา ความต่างที่สุดขั้ว

โลกร้อน “ลานีญา” สลับขั้ว "เอลนีโญ"ไทยเผชิญฝนน้อย-แล้งยาว 19 เดือน

2566 โลกร้อน อากาศแปรปรวน การพยากรณ์ไม่ง่าย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง