เครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชน นำโดย ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันแถลงเปิดผลโหวต "เสียงประชาชน" เห็นด้วยหรือไม่ ที่ ส.ว. ควรเคารพเสียงประชาชนและโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากของ ส.ส. ตั้งแต่วันที่ 15 -18 พ.ค. มีประชาชนร่วมโหวต 3,487,313 ครั้ง เห็นด้วยร้อยละ 85 และไม่เห็นด้วยร้อยละ 15 จึงมีข้อเสนอแนะให้ ส.ว. ควรโหวตนายกรัฐมนตรี ที่มาจากพรรคการเมือง ที่มีเสียงข้างมาก
รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว จากคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ระบุว่า ส.ว. อย่ากังวลใจ เพราะยังเหลือวาระอีก 1 ปี ในการกำกับการดำเนินงานของรัฐสภา ดังนั้นควรฟังเสียงของประชาชน ต้องช่วยกันเอาฟืนออกจากกองไฟ ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้แสดงฝีไม้ลายมือ
ยิ่งยื้อยิ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ
สอดคล้องกับ รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต มองว่าการรับรอง ส.ส.ของไทยใช้เวลานานมากถึง 2 เดือน ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า จึงต้องการให้ กกต. เร่งรับผลการเลือกตั้งโดยเร็วไม่เกิน 1 เดือน
รศ.ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่าคนไทยทำสำเร็จแล้ว คือ การจัดตั้งรัฐบาลโดยลำดับคะแนนและปิดสวิตช์ รัฐบาลเสียงข้างน้อย และมองว่าท่าทีของนายพิธา ที่จะไปหารือกับ ส.ว. ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ ถือเป็นทิศทางที่ดี
อ่านข่าวเพิ่ม :
เลือกตั้ง2566: "ทวี" ร้องกกต.เอาผิด "ชวน-สาทิตย์" อ้างหาเสียงป้ายสี
เลือกตั้ง2566 : "ชัยธวัช" ชี้ดีลเก้าอี้ไม่ลงตัว แย้มกระทรวงเกรดเอ โควตาพรรคแกนนำ