องค์การอนามัยโลก (WHO) อธิบายว่า ไม่ควรใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลเพื่อควบคุมน้ำหนักตัว ทั้งสารสังเคราะห์ ดัดแปลง หรือธรรมชาติ ที่ไม่ได้จัดอยู่ในประเภทน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน แซ็กคารินหรือขัณฑสกร แอสพาร์เทม แอดแวนเทม ซูคราโลส
ศ.คลินิก นพ.วีระศักดิ์ ศรินนภากร นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ หัวหน้างานโรคต่อมไร้ท่อ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี อธิบายว่า การบริโภคสารทดแทนความหวานมากและบ่อยครั้ง มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และการเสียชีวิตก่อนวัย สาเหตุเพราะแบคทีเรียดีในลำไส้จะเปลี่ยนแปลงเป็นแบคทีเรียไม่ดีมากขึ้น ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกายสูงขึ้น ส่งผลต่อการเกิดโรคต่าง ๆ
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ในคนที่บริโภคสารทดแทนความหวาน เช่น พฤติกรรมการบริโภคอาหาร คนที่มีน้ำหนักตัวเกิน หรือมีความดันโลหิตสูง
บริโภคสารทดแทนความหวานอย่างไร?
บริโภคด้วยความระมัดระวัง ใช้ให้น้อยลง อย่าใช้บ่อยหรือระยะยาว ใช้เพื่อลดการไม่กินน้ำตาลในช่วงสั้นๆได้ แต่ในระยะยาวควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดื่มน้ำเปล่าแทน ร่วมกับการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก เป็นผลดีต่อสุขภาพมากกว่า
ศ.คลินิก นพ.วีระศักดิ์ อธิบายว่า การติดหวานเป็นสิ่งเสพติดอย่างหนึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพระยะยาว แนะนำให้บริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน
ซึงไม่มีใครดูแลสุขภาพของเราได้ดีเท่ากับตัวเราเอง
คำแนะนำป้องกันโรคเบาหวาน
1. รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เลี่ยงรสหวาน มัน เค็ม
2. ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
4. ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดปีละ 1 ครั้ง
5. ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
6. หากมีอาการของโรคเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ หิวบ่อย กินจุ น้ำหนักลด เป็นแผลง่ายหายยาก หรือชาปลายมือปลายเท้า ควรไปพบแพทย์
ที่มา กรมควบคุมโรค
แท็กที่เกี่ยวข้อง: