แม้ว่าก่อนหน้านี้ เพียงเดือนเศษๆ จะมีคะแนนตามหลัง “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ในโพลหลายสำนัก ถึงขั้นเคยเป็นประเด็นสร้างความขัดแย้งในกลุ่มหัวขบวนของพรรคเช่นกัน ระหว่าง พิธา กับปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค (เมื่อครั้งยังเป็นพรรคอนาคตใหม่) เรื่องคะแนนนิยมไม่ปังเหมือนพรรคเพื่อไทย
พิสูจน์ให้เห็นว่า ประชาชนเชื่อมั่นและพร้อมเปิดโอกาสให้ ในช่วงเวลาที่ผู้คนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แตกต่างไปจากยุคสมัยเดิม ๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสียที พอแล้วกับวิธีการทำงานแบบลุงๆ เป็นแผ่นเสียงตกร่องมานาน 8 ปี พอทีกับระบอบประยุทธ์
เพราะปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ของพรรคก้าวไกล ส่งผลสะเทือนเลื่อนลั่นทั้งในภาคกลาง ตะวันออก ภาคอีสาน ภาคเหนือ แม้แต่เชียงใหม่ ที่เป็นเมืองหลวงของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล
พิธามีนัดเจรจากับแกนนำพรรคเพื่อไทย พันธมิตรพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เคยทำงานร่วมกันมานานเพื่อหาเรือเรื่องจัดตั้งรัฐบาล โดยบอกว่า จะมีการทำ MOU หรือเอกสารสัญญาร่วมกัน
ในเบื้องต้น นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุว่า จะดึงพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมที่เป็นพันธมิตรกันเข้าร่วมรัฐบาลด้วย อาทิ พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย คาดว่าจะทำให้มีเสียงตั้งรัฐบาลร่วมกันเกินกว่า 300 คน ซึ่งน่าจะเพียงพอ และจะช่วยกดดัน ส.ว.หรือสมาชิกวุฒิสภา ไม่ให้โหวตสวนกับมติของประชาชน และไม่จำเป็นต้องไปดึงพรรคร่วมรัฐบาลเข้ามาเสริมอีก
อย่างไรก็ดี แนวทางนี้แตกต่างจาก รศ.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ที่เห็นว่าเป็นวิธีที่สุ่มเสี่ยง หากไม่มีเสียง ส.ว.เป็นแนวร่วมสนับสนุน เพราะแม้จะมีเสียงในขั้วฝ่ายค้านเดิมด้วยกัน
รวมทั้งหมดจะมีเสียงรวมกันเพียง 329 เสียง ยังต้องหาอีก 47 เสียง จึงจะทำให้จำนวนรวมกันเกินกว่า 376 เสียง หรือเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภารวมกัน
หากมีเสียงจาก ส.ว.ช่วย พรรคก้าวไกลอาจต้องดึงเสียงข้ามขั้วฝ่ายค้าน คือดึงจากพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคมาสนับสนุนด้วย แต่หากทำไม่ได้หรือไม่สำเร็จ ก็จะเป็นโอกาสของพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคที่มีเสียงส.ส.มากเป็นอันดับ 2
ภารกิจนี้คือสิ่งท้าทายและทดสอบพรรคก้าวไกลไปในตัว
นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีการเล่นเกมยื้ออำนาจ เพื่อผลักให้พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน ร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่วนพรรคเพื่อไทยจะได้มีโอกาสได้เป็นพรรคแกนนำตั้งรัฐบาล
ดึงขั้วรัฐบาลเดิมและพรรคอื่น ๆ ที่เหลือมาร่วมสนับสนุนด้วย จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านประเทศ ทำได้แบบค่อยเป็นค่อยไป และสามารถควบคุมปัจจัยอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังโดนใจพรรคการเมืองอื่นที่ได้ร่วมรัฐบาล เนื่องจากมีโอกาสจะอยู่ยาวได้ครบเทอม
แต่กระนั้น แนวทางนี้ใช่ว่าจะทำได้ง่าย เพราะจะขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ได้แสดงออกถึงประชามติมอบหมายให้พรรคการเมืองใด เป็นผู้ดำเนินการ และพรรคการเมืองนั้น ๆ ก็คงไม่ยอมสูญเสียโอกาสของตนมีโอกาสเช่นนี้
พรรคก้าวไกลก็เช่นเดียวกัน
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
รู้จัก (ว่าที่) นายกฯ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์"
เลือกตั้ง2566 : "อิ๊งค์" คุยก้าวไกลแล้วพร้อมจับมือตั้งรัฐบาล - ไม่รู้ดึง ภท. ร่วม
เลือกตั้ง2566 : สื่อต่างชาติเกาะติดเลือกตั้งไทย ชี้สะท้อนความต้องการเปลี่ยนแปลง