ไม่เพียงแต่เป็นผลลัพธ์ที่มาจากกระแสแรงหนุนพลพรรคคนรักส้มทั่วประเทศเท่านั้น แต่พรรคก้าวไกลยังสร้างปรากฎการณ์ใหม่ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักบนเวทีการเมืองไทย นั่นคือการหักด่านบ้านใหญ่และแชมป์เดิม คว้าชัยในบั้นปลายได้หลายเขต
เฉพาะพื้นที่ กทม. ผลคะแนนล่าสุด ณ เช้าวันที่ 15 พฤษภาคม คว้าไป 32 เขต จากทั้งหมด 33 เขต มีเพียง ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ แชมป์เก่าจากพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ที่เอาชนะ ชุมพล หลักคำ จากพรรคก้าวไกลไปด้วยด้วยช่องว่างคะแนนเพียง 4 คะแนน (นับแล้ว 95%)
หากสุดท้ายพรรคก้าวไกลขอใช้สิทธิร้องให้ กกต.นับคะแนนใหม่ ยังไม่แน่ว่าผลลัพธ์จะพลิกผันอย่างไรอีกหรือไม่
นอกจากนั้นในจุดที่น่าสนใจอย่างพื้นที่บางบอนของบ้านใหญ่ "อยู่บำรุง" และ "ม่วงศิริ" รอบนี้พ่ายแพ้ให้กับนักเมืองคนรุ่นใหม่ รักชนก ศรีนอก จากพรรคก้าวไกล มีคะแนนทิ้งห่าง วัน อยู่บำรุง ถึง 21,000 คะแนน นับเป็นชัยชนะที่ไม่ธรรมดา เช่นเดียวกับการปักธงย้ำชัยชนะของ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ หนุ่มหน้ามนคนภาคใต้ ที่ลงหลักงานการเมืองในเขตบางขุนเทียน เอาชนะตัวแทนบ้านม่วงศิริไปได้อีกครั้ง ทิ้งห่างแบบหลับฝันดีถึง 27,000 คะแนน
ชัยชนะของพรรกก้าวไกลในสนามเลือกตั้งเมืองหลวง ยังหมายถึงความพ่ายแพ้ของบรรดานักการเมืองท้องที่เดิมจำนวนมาก ที่กูรูการเมืองหลายคนคาดไม่ถึงว่าจะพลาดท่าล็อกถล่ม เช่น กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ย้ายจากพลังประชารัฐมาสังกัดพรรคเพื่อไทย ได้เพียงอันดับ 3 ในการเลือกตั้ง ขณะที่ เจิมมาศ จึงเลิศศิริ เข้าป้ายที่อันดับ 4 ทั้งที่ทั้งคู่ถูกคาดหมายว่าจะเป็นคู่แข่งแย่งชิงเข็มขัดแชมป์ในพื้นที่เขต 1 กทม.ทั้งสิ้น
ถล่มบ้านใหญ่ภาคตะวันออก
29 เขตเลือกตั้งภาคตะวันออกคือชุมนุมเสือสิงห์ทางการเมือง ที่นี่คือเวทีของบ้านใหญ่และนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพล ทั้งตระกูลคุณปลื้ม, ชมกลิ่น, ฉายแสง
ลำพัง จ.ชลบุรี ที่คอการเมืองคาดหมายกันว่า จะได้เห็นการขับเคี่ยวกันอย่างถึงลูกถึงคนระหว่าง บ้านใหม่ชมกลิ่น และบ้านใหญ่คุณปลื้ม กลับกลายเป็นพรรคก้าวไกลที่คว้าชัยไปถึง 7 จาก 10 เขต
จ.ระยอง สะท้อนภาพบ้านใหญ่ที่พังทลายลงได้อย่างชัดเจน ตระกูลปิตุเตชะ ส่งผู้สมัครลงทั้ง 5 เขต แต่พ่ายแพ้แก่พรรคก้าวไกลทุกเขต ถูกถอนรากยกจังหวัดในสมัยนี้ ไม่เว้นแม้แต่ประมุขบ้านใหญ่อย่าง สาธิต ปิตุเตชะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังถูกผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลทำคะแนนทิ้งห่างถึง 15,000 คะแนน
ปะทะเพื่อไทยด้วยผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิด
พรรคก้าวไกลอยากจะปักธงในภาคเหนือโดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่เขต 1 พื้นที่ที่เคยทำคะแนนเบียด ส.ส.เพื่อไทยเมื่อปี 2562 ไม่แปลกที่พรรคเพื่อไทยจัดทัพเชียงใหม่ หวังปักธงเจ้าของพื้นที่ไม่ให้ใครเจาะได้
เขต 1 เดิมเป็นของ ทัศนีย์ รุ่นใหญ่จากตระกูล บูรณุปกรณ์ ที่ยอมรับตรงไปตรงมาว่า ทัดทานสายลมคนรุ่นใหม่ไม่ไหว ตัดสินใจข้ามเขตไปลงเขต 3 สลับเอา จักรพล ตั้งสุทธิธรรม คนรุ่นใหม่พรรคเพื่อไทยมาทำงานการเมืองในเขต 1 แทน
ผลปรากฎว่าพ่ายแพ้แก่ผู้สมัครพรรคก้าวไกลทั้งคู่ ที่กลายเป็นสถานการณ์เลวร้ายของพรรคเพื่อไทยยิ่งไปกว่านั้น คือผลการเลือกตั้ง 10 เขตในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นของก้าวไกลถึง 7 เขต ซ้ำร้ายในเขต 9 ที่นำโดย สุรพล เกียรติไชยากร อดีต ส.ส.หลายสมัยพรรคเพื่อไทย เคราะห์ซ้ำกรรมซัดถูก กกต.แจกใบส้มในการเลือกตั้งปี 2562 รอบนี้ยังพ่ายแพ้แก่พลังประชารัฐ เป็นความพ่ายแพ้ครั้งที่ 3 ในชีวิตการเมืองของ สุรพล
เชียงใหม่นับเป็นปราการด่านหินที่พรรคเพื่อไทยยึดครองพื้นที่มายาวนาน แทบไม่เห็นทางที่พรรคคู่แข่งจะเจาะแย่งชิงไปได้ กลับถูกตีแตกในการเลือกตั้ง 2566 ที่มีเดิมพันสูงที่สุดครั้งหนึ่งของผู้ทรงอิทธิพลเบื้องหลังพรรคการเมือง
วิเคราะห์โดย อุรชัย ศรแก้ว
อ่านข่าวเพิ่ม :
ผลการเลือกตั้ง2566 : วิเคราะห์ : มติมหาชนวันเลือกตั้งที่ “พรรคก้าวไกล” ได้รับ
เลือกตั้ง2566 : "พิธา" เปิดรายชื่อ 5 พรรค พลิกขั้วร่วมตั้งรัฐบาล