ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ราชวงศ์อังกฤษ : ย้อนรอยกษัตริย์ผู้ปกครองอังกฤษ

ต่างประเทศ
1 พ.ค. 66
13:22
21,014
Logo Thai PBS
ราชวงศ์อังกฤษ : ย้อนรอยกษัตริย์ผู้ปกครองอังกฤษ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สิ่งที่กษัตริย์พระองค์ใหม่ต้องทรงตัดสินพระทัยเป็นอย่างแรกหลังครองราชย์ คือ "พระนามที่ใช้ประจำรัชกาล" ซึ่งพระนามเต็มของสมเด็จพระเจ้าชาร์ชส์ที่ 3 คือ "ชาร์ลส์ ฟิลิป อาเธอร์ จอร์จ" ล้วนมาจากกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของอังกฤษในอดีตทั้งสิ้น

House Of Normandy - ราชวงศ์นอร์มังดี (1066 - 1154)

นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 11 เกาะอังกฤษถูกเปลี่ยนแปลงการปกครองเรื่อยมา กระทั่งราชวงศ์ของอังกฤษได้เริ่มต้นจากชัยชนะของ "ราชวงศ์นอร์มัง" และกษัตริย์องค์แรกของอังกฤษก็คือ "พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งราชวงศ์นอร์มังดี" หรือ " William the Conqueror - วิลเลียมผู้พิชิต" ที่ถูกสถาปนาขึ้นในปี ค.ศ.1066 และการนำของกษัตริย์ในยุคนั้นเป็นต้นมา เน้นการปราบปรามและการรักษาความสงบตามชายแดนจนสิ้นราชวงศ์ในสมัยของ พระเจ้าสตีเฟน

House of Platagenet - ราชวงศ์แพลนแทเจเนต (1154 - 1399)

ปี 1154 พระเจ้าเฮนรีที่ 2 ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์แพลนแทเจเนต และในปี 1284 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 สามารถพิชิตและเข้าปกครอง "เวลส์" ได้สำเร็จ พระองค์พระราชทานพระโอรสซึ่งประสูติ ณ ขณะนั้น ให้เป็นเจ้าชายองค์ใหม่ของชาวเวลส์ (The First Prince of Wales) จากนั้นเป็นต้นมา พระอิสริยยศ "Prince Of Wales" จะเป็นของมกุฎราชกุมารของอังกฤษเรื่อยมา 

House Of Lancaster - ราชวงศ์แลงแคสเตอร์ (1399 - 1461, 1470 - 1471)

ในปี 1399 ผู้สนับสนุนราชวงศ์แลงแคสเตอร์ ล้มราชบัลลังก์ของ พระเจ้าริชาร์ดที่ 2 และได้อัญเชิญดยุคแห่งแลงแคสเตอร์สถาปนาเป็น พระเจ้าเฮนรีที่ 4 ในรัชสมัยนี้ มีการแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาอังกฤษ มีการจับพวกนอกรีตเผาทั้งเป็น ปฏิเสธอำนาจของพระสันตะปาปา ในช่วงการปกครองของ พระเจ้าเฮนรีที่ 4 บ้านเมืองเต็มไปด้วยความไม่สงบ มีการทำสงครามกับต่างชาติและภายในประเทศก็ต้องทำศึกกับกบฏที่พยายามจะปลดแอกเวลส์

ต่อมา หลังจาก พระเจ้าเฮนรีที่ 5 เสด็จสวรรคตด้วยโรคบิด ทำให้พระโอรสของพระองค์ในขณะนั้นต้องครองราชบัลลังก์ขึ้นเป็น พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ด้วยพระชนมพรรษาเพียง 9 เดือน นับเป็นกษัตริย์ที่ครองราชบัลลังก์ด้วยพระชนมายุที่น้อยที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ

แต่ พระเจ้าเฮนรีที่ 6 กลายเป็นคนวิกลจริต การบริหารราชการแผ่นดินตกอยู่ในมือผู้สำเร็จราชการแทน ในปี 1455 เกิดสงครามชิงราชบัลลังก์ขึ้น เป็นสงครามระหว่างราชสกุลยอร์กที่มีสัญลักษณ์เป็นดอกกุหลาบสีขาวและราชสกุลแลงแคสเตอร์ที่มีสัญลักษณ์เป็นดอกกุหลาบสีแดง เรียกว่า "สงครามดอกกุหลาบ" และนำมาซึ่งราชวงศ์ใหม่ในปี 1461 นั่น คือราชวงศ์ยอร์ก (House of york)

House of York - ราชวงศ์ยอร์ก (1461 -1470, 1471 -1485)

ขณะที่ทำสงครามดอกกุหลาบ ระหว่าง 2 ราชวงศ์นั้น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 เอาชนะได้ในปี 1461 และครองราชสมบัตินานร่วม 10 ปี จนกระทั่ง พระเจ้าเฮนรีที่ 6 แห่งราชวงศ์แลงแคสเตอร์ ชิงราชบัลลังก์คืนได้ในปี 1470 แต่เพียง 1 ปี พระองค์ก็ถูกปลงพระชนม์ด้วย พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 และถือเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์แลงแคสเตอร์อย่างถาวร

แต่ "สงครามดอกกุหลาบ" ก็ยังคงดำเนินอยู่ตลอดรัชสมัยของราชวงศ์ยอร์ก และปิดฉากราชวงศ์นี้การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 กลางสนามรบด้วยฝีมือของราชวงศ์ทิวดอร์ 

House of Tudor - ราชวงศ์ทิวดอร์ (1485 -1603)

สงครามดอกกุหลาบจบลงด้วยการอภิเษกสมรสของ พระเจ้าเฮนรีที่ 7 กับ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ แห่งยอร์ก พระธิดาในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 และเริ่มต้นราชวงศ์ทิวดอร์ในปี 1485 นำพาความร่ำรวยและรุ่งเรืองกลับสู่อังกฤษอีกครั้ง

ต่อมาในยุค พระเจ้าเฮนรีที่ 8 พระโอรส กลับใช้เงินทำสงครามอย่างสุรุ่ยสุร่าย สกอตแลนด์จึงถือโอกาสเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส และทำการบุกอังกฤษ แต่ พระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสกอตแลนด์ นำทัพมาพ่ายแพ้และถูกฆ่าตายในสนามรบ

พระเจ้าเฮนรีที่ 8 โด่งดังเป็นที่รู้จักในฐานะกษัตริย์ผู้ไร้ซึ่งศีลธรรม ทรงสถาปนาพระองค์เองให้มีอำนาจเหนือพระสันตปาปา และศาสนาจักรของอังกฤษ

ในปี 1553 มีกษัตริย์หญิงที่โด่งดังไปทั่วโลก คือ พระนางแมรีที่ 1 พระองค์ทรงฟื้นฟูศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ภายใต้รัชสมัยของพระองค์ ผู้ที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์หลายคนต้องหลบหนีออกนอกประเทศ หลายร้อยคนถูกเผาทั้งเป็น โทษฐานเป็นผู้นอกรีต การสั่งฆ่าคนหลายร้อยคนเพื่อฟื้นฟูศาสนา ทำให้พระนางถูกขานพระนามว่า "พระนางแมรี ผู้กระหายเลือด (Bloody Marry)" พะรนางแมรีที่ 1 เสด็จสวรรคตด้วยพระชนมพรรษา 42 ปี

ผู้สืบราชบัลลังก์ต่อมาก็คือ น้องสาวต่างมารดาของพระองค์ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ซึ่งราชาภิเษกเป็น พระนางเอลิซาเบธที่ 1 

ภายหลังการเสด็จขึ้นครองราชย์ พระนางเอลิซาเบธที่ 1 ทำการฟื้นฟูศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์อย่างจริงจัง จนทำให้พระนางถูกวางแผนลอบปลงพระชนม์หลายครั้งจากฝ่ายคาทอลิก 

House of Stuart - ราชวงศ์สจ๊วต (1603 - 1649, 1660 - 1714)

หลังจากที่ พระนางเอลิซาเบธที่ 1 เสด็จสวรรคต โดยไร้รัชทายาท แต่ทรงให้แต่งตั้งให้ เจ้าชายเจมส์ แห่ง สกอตแลนด์ เป็นผู้สืบราชบัลลังก์ ราชวงศ์สจ๊วตถือกำเนิดขึ้นโดยมีกษัตริย์องค์แรกคือ พระเจ้าเจมส์ที่ 1

ในยุคนี้เกิดความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์และรัฐสภาอย่างหนัก นำไปสู่จุดแตกหักในสมัย พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 พระโอรสในพระเจ้าเจมส์ที่ 1 สงครามกลางเมืองอุบัติขึ้นและ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ถูกตัดสินประหารชีวิต

ในปี 1660 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ทำให้อังกฤษกลับมารุ่งเรืองได้อีกครั้ง มีการจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นครั้งแรกในอังกฤษเพื่อป้องกันไม่ให้อำนาจของกษัตริย์มีมากจนเกินไป

พรรคการเมืองวิก (A Whig Toast) มีความคิดล้มล้างระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และสนับสนุนเสรีภาพของพวกนอกนิกาย ขณะที่พรรค tory (A Tory Sentement) มีแนวคิดยึดมั่นในศาสนาจักรและระบบกษัตริย์ของอังกฤษ

พรรควิกพัฒนาเป็นพรรคเสรีนิยม และ พรรคทอรีเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมในปัจจุบันของอังกฤษ

ในปี 1685 พระเจ้าเจมส์ที่ 2 พยายามนำพาประเทศกลับไปสู่การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และส่งเสริมนิกายคาทอลิก พวกนอกรีตถูกแขวนคอ ประชาชนที่เห็นต่างกลับถูกทำร้ายอีก และยังทรงจัดเก็บภาษีโดยพลการ

ทำให้พรรควิกและพรรคทอรียอมจับมือกันเพื่อโค่นล้มราชบัลลังก์และถวายมงกุฎให้กับ เจ้าหญิงแมรี พระธิดาในพระเจ้าเจมส์ที่ 2 และพระเจ้าวิลเลียม พระสวามี เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐสภามีอำนาจเหนือกษัตริย์ตามที่ระบุไว้ในกฎหมายสิทธิและเสรีภาพนับเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ปราศจากอำนาจของเทวราชาอีกต่อไป

House of Hanover - ราชวงศ์แฮนโอเวอร์ (1714 -1901)

ภายหลังการสวรรคตของ พระนางแอนน์ อังกฤษจำต้องหากษัตริย์โปรเตสแตนต์ที่ไว้วางใจได้ ราชวงศ์แฮนโอเวอร์ จึงเริ่มต้นในปี 1714 ด้วยการขึ้นครองราชย์ของ พระเจ้าจอร์จที่ 1 ทรงมีพระราชชนกเป็นชาวแฮนโอเวอร์ และเป็นพระราชปนัดดา (เหลน) ของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งราชวงศ์สจ๊วต พระเจ้าจอร์จที่ 1 เป็นชาวเยอรมัน ซึ่งชาวอังกฤษจึงไม่นิยมชมชอบ เพราะ พระองค์พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ และทรงใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในเยอรมัน

การครองราชสมบัติของราชวงศ์แฮนโอเวอร์ทำให้มี พระเจ้าจอร์จ ตั้งแต่ พระเจ้าจอร์จที่ 1, พระเจ้าจอร์จที่ 2, พระเจ้าจอร์จที่ 3, และพระเจ้าจอร์จที่ 4 และมีการทำสงครามกับฝรั่งเศสและสเปน

ปี 1858 เกิดพระราชบัญญัติรัฐบาลอินเดียขึ้น หลังจากที่อังกฤษได้เข้ายึดครองทวีปอินเดียมาตั้งแต่ปี 1757 สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย สถาปนาพระองค์เอง เป็นจักรพรรดินีนาถแห่งอินเดีย และส่งขุนนางไปปกครองอินเดียในฐานะอุปราช

ชาวอินเดียจึงได้มีกษัตริย์เป็นอังกฤษนับตั้งแต่นั้นมา ต่อมาในปี 1861 เจ้าชายอัลเบิร์ต แห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา (Saxe-Coburg and Gotha) พระสวามีของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย สิ้นพระชนม์ด้วยโรคไทฟอยด์ สร้างความโทมนัสให้แก่สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียเป็นอย่างมาก ทรงตกอยู่ในสภาพการไว้ทุกข์กึ่งถาวรด้วยฉลองพระองค์สีดำตลอดพระชนม์ชีพที่เหลือ และหลีกเลี่ยงการปรากฏตัวต่อสาธารณะ

ในยุคของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย อิทธิพลและการขยายจักรวรรดิอังกฤษถือว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองและกว้างไกลที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ

House of Saxe-Coburg and Gotha - ราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา (1901 - 1910)

หลังการเสด็จสวรรคตในปี 1901 ของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย เจ้าชายแห่งเวลส์ พระราชโอรสองค์โต สืบราชสมบัติเป็น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งราชวงศ์ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา กองทัพเรืออังกฤษ และการแพทย์ในกองทัพอังกฤษ เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างอังกฤษกับนานาประเทศทั่วยุโรป

ทำให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้รักษาสันติภาพ จนกระทั่ง พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 เสด็จสวรรคตในปี 1910 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ขึ้นครองบัลลังก์ และทรงเปลี่ยนชื่อเป็นราชวงศ์วินเซอร์ (House of Windsor)

อ่านข่าวเพิ่ม : ราชวงศ์อังกฤษ : ย้อนรอยราชวงศ์วินด์เซอร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง