ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลือกตั้ง2566 : เจาะสนามเลือกตั้งชลบุรี นักวิชาการชี้สู้เดือด “บ้านใหญ่-บ้านใหม่-การเมืองใหม่”

การเมือง
29 เม.ย. 66
10:41
4,042
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2566 : เจาะสนามเลือกตั้งชลบุรี นักวิชาการชี้สู้เดือด “บ้านใหญ่-บ้านใหม่-การเมืองใหม่”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เจาะสนามเลือกตั้งชลบุรี สงครามการเมือง ศึกศักดิ์ศรี ที่ซับซ้อน และ ซ่อนลึกขั้วอำนาจ มากกว่าชิง 10 ที่นั่ง ส.ส.

 อีก 2 สัปดาห์ จะถึงวันเลือกตั้ง ส.ส. 14 พฤษภาคม 2566 “ชลบุรี” เป็นหนึ่งในจังหวัดที่การต่อสู้ร้อนแรง ไทยพีบีเอส พูดคุยกับ “รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา นักวิชาการที่คร่ำวอดกับการเมืองชลบุรีมากกว่า 20 ปี ถึงศึกเดือดสนามเลือกตั้งชลบุรีครั้งนี้

ไทยพีบีเอส : ถ้าให้นิยามการเลือกตั้งจ.ชลบุรี ครั้งนี้จะเป็นอย่างไร

รศ.โอฬาร : การเลือกตั้งครั้งนี้ มันไม่ใช่แค่การเลือกตั้งระดับชาติ แต่เป็น "สงครามการเมือง" สงครามการเมืองในเชิงศักดิ์ศรี เพราะการเมืองชลบุรีเกิดการเปลี่ยนแปลงหลังจากการเสียชีวิตของ "กำนันเป๊าะ" (นายสมชาย คุณปลื้ม) สถานะของบ้านใหญ่ ไม่มีทางมั่นคงแบบเดิมอีก เพราะมีกลุ่มการเมืองใหม่เกิดขึ้น

สงครามครั้งนี้เป็นสงครามศักดิ์ศรีเกียรติภูมิ และการคงอยู่ของขั้วการเมืองใดการเมืองหนึ่ง มันไม่ได้เป็นการต่อสู้ระหว่างขั้ว ไม่ได้เป็นการต่อสู้ระหว่างการเมืองระดับชาติเท่านั้น แต่ยังลากไปถึงหลังการเลือกตั้งระยะยาวด้วย

ถ้าเรามองว่า เป็นสถานการณ์การเมืองระดับชาติ ก็คือเป็นการสู้กันระหว่างเพื่อไทย, พลังประชารัฐ, รวมไทยสร้างชาติและพรรคก้าวไกล นั่นคือสิ่งที่รับรู้ ในการเมืองระดับชาติ

แต่การเมืองที่ซ่อนและซ้อนอยู่ด้วยกัน คือ “การเมืองของตัวบุคคล” ที่ผ่านขั้วการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นหลังการแตกตัวกัน ของบ้านใหญ่ 3 - 4 กลุ่ม เป็นรายบุคคล เป็นรายกลุ่มที่จะปะทะกันอย่างเข้มข้นหลังจากนี้

รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ไทยพีบีเอส : การเลือกตั้งชลบุรีครั้งนี้จะดุเดือดขนาดไหน

รศ.โอฬาร : เท่าที่ติดตามการเมือง การเลือกตั้งชลบุรีมาตั้งแต่ปี 2543 ผมคิดว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ปีนี้ (2566) น่าจะเป็นการต่อสู้ที่เข้มข้นที่สุดในรอบ 20 ปี เพราะว่าก่อนหน้านี้ การเลือกตั้งแต่ละครั้งบ้านใหญ่มีความได้เปรียบหมด ไม่ว่าจะกลไกอำนาจ กลไกตัวบุคคล มันประเมินได้ตั้งแต่ต้นว่า ผู้ที่จะชนะก็คือ “บ้านใหญ่” แต่สมรภูมิครั้งนี้มันไม่เหมือนเดิม

อย่างที่บอกว่ามันเกิดกลุ่มบ้านใหม่เกิดกลุ่มการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้น และที่สำคัญผมคิดว่านักการเมืองเอง ไม่ได้ประเมินว่า “ตลาดการเมือง” ก็ได้เปลี่ยนไปเช่นกัน ในชลบุรีมีผู้คนมากหน้าหลายตามากขึ้น และผู้คนจำนวนนี้ล้วนเป็นจำนวนมากด้วย ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

กลุ่มนี้เราอาจจะเรียกว่าคนรุ่นใหม่ หรือ คนชั้นกลาง ที่สามารถดูแลตัวเองได้ในทางเศรษฐกิจและการเมือง คนเหล่านี้เป็นคนชลบุรีเช่นเดียวกับคนที่เคยอยู่มาก่อนหน้านี้ แต่คนเหล่านี้อยากจะเห็นภาพการเมืองอีกแบบหนึ่ง แต่การเมืองเองต่างหากที่ยังไม่ค่อยเปลี่ยน

ไทยพีบีเอส : ที่สุดของการเลือกตั้งชลบุรีครั้งนี้เขตไหนจะคึกคักที่สุด

รศ.โอฬาร : ผมให้น้ำหนักที่ “เขต 1” ( อ.เมือง) เพราะเขต 1 เป็นเขตบ้านเกิด เป็นมาตุภูมิของบ้านใหญ่ ( นายสนธยา) และ บ้านใหม่ ( นายสุชาติ)

ถ้าเราดู 2 คนนี้ ก็จะเห็นวิวาทะกันมาก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่ใช่แค่วิวาทะในพื้นที่ปกติเท่านั้น แต่เป็นวิวาทะกันผ่านหน้าสื่อสาธารณะครั้งแล้วครั้งเล่า แต่หมายถึงความขัดแย้ง ที่ยากจะประนีประนอมรอมชอมกัน

แต่ถามว่าจะประนีประนอมกันได้ไหม สำหรับผมคนที่ติดตามการเมือง คิดว่ามีโอกาส แต่ต้องมีคนเชื่อมและคนๆ นั้น ต้องมีบารมีมากพอที่คนทั้งสองคนนี้ต้องมีอยู่ในใจ แต่ถึงวันนี้ยังไม่มี เมื่อยังไม่มี

ดังนั้นการแข่งขันใน เขต 1 นี้จึงสำคัญจึงสำคัญมากเพราะมันเป็นบ้านของทั้ง 2 ท่าน และแม้ว่าตอนนี้ คนที่ส่งลงมาแข่งในเขต 1 ไม่ใช่ตัวจริงทั้งคู่ แต่มันมีนัยยะมากเช่น

ผู้สมัครเขต 1 สุภีพันธุ์ เพื่อไทย – ณภัสนันท์ รทชส.

ผู้สมัครเขต 1 สุภีพันธุ์ เพื่อไทย – ณภัสนันท์ รทชส.

ผู้สมัครเขต 1 สุภีพันธุ์ เพื่อไทย – ณภัสนันท์ รทชส.

ซึ่งฝั่งบ้านใหญ่ ส่ง น.ส.สุภีพันธุ์ หอมหวล หรือ “สจ.แอ้” ซึ่งคนทั่วไปอาจสงสัยว่า ทำไมบ้านใหญ่จึงส่ง สจ.แอ้ แต่เพราะ สจ.แอ้ เป็นคนรุ่นใหม่ และยังเป็นลูกสาวของนายภาสกร หอมหวล หรือ “ส.ท.เหี่ยว” นายภาสกร หอมหวล มือขวาของ “กำนันเป๊าะ” (นายสมชาย คุณปลื้ม ผู้กว้างขวางของชลบุรี และภาคตะวันออก) ด้วย

สท.เหี่ยว มือขวากำนันเป๊าะ ช่วย สจ.แอ้  หาเสียง

สท.เหี่ยว มือขวากำนันเป๊าะ ช่วย สจ.แอ้ หาเสียง

สท.เหี่ยว มือขวากำนันเป๊าะ ช่วย สจ.แอ้ หาเสียง

ซึ่ง “ส.ท.เหี่ยว” คนนี้ สำคัญมาก เพราะเป็นคีย์แมนคนสำคัญของกลุ่มบ้านใหญ่ที่คอยดูแลงานการเมือง ดูแลเครือข่ายประชาชนของบ้านใหญ่มาตลอด ประสบการณ์ทางการเมืองของเขามีมาก และเติบโตมาพร้อมกับกำนันเป๊าะ ซึ่งการมีเครือข่ายเยอะมาก ผมคิดว่านี่จึงเป็นการตัดสินใจส่ง สจ.แอ้ ลง

บ้านใหญ่เขาอาจยังไม่มั่นใจในตัว สจ.แอ้ แต่บ้านใหญ่มั่นใจ สท.เหี่ยว ในฐานะมือขวาคนสำคัญที่จะทำให้มีโอกาสชนะ

และอีกด้านหนึ่งถ้าดูที่เขต 1 นี้ คู่แข่งก่อนหน้านี้ก็คือ รัฐมนตรีสุชาติ ซึ่งคุณสุชาติอาจมองว่า นี่ก็คือบ้านเกิด เขาแพ้ไม่ได้ แต่ถ้าเขาแพ้ภาพลักษณ์คือแพ้เด็ก (สจ.แอ้) เขาจึงก็ต้องเรียกร้องให้นายสนธยา ลงมาแข่งกับเขาที่เขตนี้ ซึ่งก็มองว่าเขาใจกล้า

และถ้านายสุชาติ เอาชนะนายสนธยาในเขตนี้ได้ จะทำให้ภาพลักษณ์ของบ้านใหญ่เสียอำนาจ แต่สุดท้ายแล้ว นายสนธยาจึงไม่ได้ออกมาลงสมัคร

มุมของนายสุชาติ คงมองว่า ถ้าเป็นแบบนี้แล้วสู้เครือข่ายการทำงานของ สท.เหี่ยวไม่ได้ ภาพออกมาคือแพ้เด็ก แต่จริงๆ แล้ว อาจจะไม่ใช่แพ้เด็ก แต่กลายเป็นแพ้ “พ่อของเด็ก” (สท.หี่ยว) เขาก็มองว่ามันสุ่มเสี่ยงเกินไป

ยังรวมถึงการทำงานระยะยาวทางการเมือง เขารู้ว่าถ้าแพ้หมายถึงพลพรรคของเขา จะอยู่อย่างไรรวมถึงสถานะทางการเมืองของพรรครวมไทยสร้างชาติด้วย เขาก็มีสิทธิ์ที่ไม่น่าจะเสี่ยงลงไปสู้ จึงเลือกหันไปทางปาร์ตี้ลิสต์แทน

อีกทั้ง 2 คน ยังมีเหตุผล ที่บอกว่าจำเป็นต้องดูแลพื้นที่ในภาพรวมทั้งภูมิภาคและทั้งประเทศ ของพรรค ซึ่งต่างมีเหตุผลที่รับฟังได้ทั้งคู่ ทางจึงต้องให้ลอง น ส.ณภัสนันท์ อรินทคุณวงษ์" (อดีตรองนายกเทศมนตรีตำบลเสม็ด) หรือ "แยม" น้องภรรยา นายสุชาติ ซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่นลงแทน และยังเป็นการเปิดตัวภายหลัง จากที่บ้านใหญ่ส่ง สจ.แอ้ ลง

นายสุชาติ ช่วย ณภัสนันท์ น้องภรรยา หาเสียง

นายสุชาติ ช่วย ณภัสนันท์ น้องภรรยา หาเสียง

นายสุชาติ ช่วย ณภัสนันท์ น้องภรรยา หาเสียง

ผมเชื่อว่า ตอนนี้นายสุชาติ ก็ต้องทำกันทุกทาง ใช้เครือข่ายและทรัพยากรที่มีทั้งหมด เพื่อให้น้องภรรยาแพ้ไม่ได้ เพราะว่าถ้าน้องภรรยาแพ้ การรับรู้ของคนติดตามการเมืองก็หมายถึง นายสุชาติ เขาแพ้ ไปด้วย

จึงเป็นการต่อสู้ระดับเขต ของสนามเลือกตั้งที่เข้มข้นมาก ซึ่งผลเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่ชนะข้างใดข้างหนึ่งแต่เป็นภาพลักษณ์ของกลุ่ม ของตระกูล ของมุ้งการเมือง

ไทยพีบีเอส : รอบนี้เห็นจุดเด่นว่า แต่ละฝ่ายส่ง “นักการเมืองท้องถิ่น” มาสู้เวทีใหญ่เยอะมาก

รศ.โอฬาร : นี่คือระยะเปลี่ยนผ่านสำคัญ อย่างที่บอกว่า เป็นการเมืองเชิงซ้อนไม่ใช่แค่การเลือกตั้งระดับชาติ แต่มันหมายถึงการรักษาสถานะทางการเมืองในท้องถิ่น เพราะว่าอย่างที่บอกต่างฝ่ายต่างมองไปไกลทั้งสิ้น โดยเฉพาะกลุ่มบ้านใหญ่ ต้องการปิดเกมนายสุชาติให้ได้ เพราะรู้ว่าถ้าให้นายสุชาติชนะเพียง 3-4 ที่นั่ง นายสุชาติจะได้โอกาสยึดกุมพื้นที่ระยะยาว

การจะทำแบบนั้นได้ ก็คือ ต้องเอาแนวร่วมที่แตกตัวออกจากบ้านใหญ่ เอาเข้ามาอยู่ในกลุ่มตัวเองให้มากขึ้น ซึ่งมันเกิดแล้วตอนนี้คือตัวของผู้สมัครของนายสุชาติจำนวนหนึ่ง ก็ล้วนเป็นอดีตนักการเมืองที่เคยหลุดจากบ้านใหญ่ เคยอยู่กับบ้านใหญ่มาแล้วทั้งสิ้น

ถ้านายสุชาติ ชนะ 3-4 ที่นั่ง ก็จะเกิดการดูดนักการเมืองในพื้นที่มาอยู่ใน “ซุ้มพลังใหม่” พอมาถึงจุดนั้น ก็คือการวางฐานเสียง ต้องขยายพื้นที่ทางการเมือง แปลว่าต่อไปถ้ามีการเลือกตั้งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน, การเลือกตั้ง อบต., การเลือกตั้งนายกเทศมนตรี ไปจนถึงการเลือกตั้งนายก อบจ. ถ้านายสุชาติ ส่งคนตัวเองลงหมด จะยิ่งทำให้กลุ่มบ้านใหญ่ลำบาก และถ้ากลุ่มซุ้มใหม่ชนะ กลุ่มบ้านใหญ่ยิ่งลำบากอีก

เพราะความสัมพันธ์จริงๆ ระหว่างการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติ มันมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ถ้ายึดกุมหัวหาดการเมืองท้องถิ่นได้ มันคือความลำบากเกิดขึ้นแล้ว

เขาก็เลยแพ้ไม่ได้ ต้องสู้จนถึงที่สุด แพ้ไม่ได้ ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีสุชาติก็รู้อยู่ว่าถ้าสู้ไม่ได้ ก็ปิดเกมส์ทันทีเหมือนกัน

ในทางกลับกัน ถ้ากลุ่มบ้านใหญ่ของคุณสนธยา ชนะเลือกตั้ง กลุ่มบ้านใหม่ของรัฐมนตรีสุชาติแพ้ ก็จะส่งผลให้กลุ่มบ้านใหญ่สามารถกลับมารักษาสถานะทางการเมือง และอาจจะรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่กลับให้เหมือนเดิม ถึงขั้นอาจต้องมีการถอดบทเรียนถอดโครงสร้างปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หรือวางเครือข่ายใหม่

การเลือกตั้งครั้งนี้ของ จ.ชลบุรี จึงเป็นความต่อเนื่อง เป็นมหากาพย์การเลือกตั้งของเมืองชลฯ อย่าลืมนะ อีก 2 ปี ก็จะมีการเลือกตั้ง นายก อบจ. มันไวมากนะ หลังจากนั้นก็จะตามมาด้วยการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี กับ นายก อบต. ซึ่ง Timeline แต่ละการเลือกตั้ง มันสั้นนิดเดียวเอง ฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ว่าจะฝ่ายใดมันแพ้ไม่ได้เลย

ไทยพีบีเอส : อาจารย์วิเคราะห์ว่า พรรคไหนจะได้กี่ที่นั่ง

รศ.โอฬาร : ถ้าใส่กันเต็มที่นะ ทุกคนทุกฝ่ายก็บอกว่าแลนด์สไลด์ทั้ง 10 เขต ต้องปิดเกมอีกฝ่ายให้ได้ ฝั่งบ้านใหญ่คุณสนธยา ก็บอกต้องปิดเกมรัฐมนตรีสุชาติให้ได้ ฝั่งรัฐมนตรีสุชาติ ก็บอกว่าต้อง 10 เขตเหมือนกันเพื่อปิดเกม “ตระกูลคุณปลื้ม”

ถึงบอกว่า นี่คือการเมืองแห่งศักดิ์ศรีแพ้ไม่ได้ แม้กระทั่งพรรคก้าวไกล ยังประเมินถึง 5-6 เขต ทุกคนประเมินจากฐานจากทฤษฎี ผมก็ประเมินจากข้อมูลที่มีคิดว่าน่าจะได้กันคนละ 3-4 เขต เพราะถ้าจะแลนด์สไลด์ทั้งหมดก็ไม่ง่าย

เพราะการเมืองในพื้นที่ ไม่ใช่แค่กระแสพรรคใดพรรคหนึ่ง มันมีองค์ประกอบมีตัวแปรค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะเรื่องเครือข่ายความนิยมชมชอบ หรือคะแนนจัดตั้ง ซึ่งล้วนเป็นตัวแปรทั้งสิ้น มันอาจจะไม่ง่ายที่ขั้วใดขั้วหนึ่งจะได้คะแนนแบบแลนด์สไลด์ทั้ง 10 เขต หรือจะได้ถึง 7-8 ที่นั่ง

ผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อไทย ทั้ง 10 เขต

ผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อไทย ทั้ง 10 เขต

ผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อไทย ทั้ง 10 เขต

ผมคิดว่า พรรคเพื่อไทย บ้านใหญ่ ได้เยอะที่สุดก็ 5-6 ที่นั่ง เพราะเพราะมองจากกระแสพรรคเพื่อไทย ที่ต้องยอมรับว่ากระแสเพื่อไทย มีความได้เปรียบ

ผู้สมัคร ส.ส. พรรครวมไทยสร้างชาติ ทั้ง 10 เขต

ผู้สมัคร ส.ส. พรรครวมไทยสร้างชาติ ทั้ง 10 เขต

ผู้สมัคร ส.ส. พรรครวมไทยสร้างชาติ ทั้ง 10 เขต

ลำดับต่อมาต้องปฏิเสธไม่ได้ว่า ตัวบุคคลที่ลงสมัคร ของทีมรัฐมนตรีสุชาติ มีความน่าสนใจ เป็นบุคคลที่มีคะแนนจัดตั้ง มีเครือข่าย มีต้นทุนในพื้นที่เยอะในหลายเขต 5-6 ที่นั่งเช่นเดียวกัน

ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล ทั้ง 10 เขต

ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล ทั้ง 10 เขต

ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล ทั้ง 10 เขต

ต่อมาดูในส่วนของพรรคก้าวไกล ซึ่งก้าวไกลเองประเมินว่าจะได้ 4-5 ที่นั่ง แต่จะได้หรือไม่ ก็ต้องรอดูในวันเลือกตั้ง แต่ถ้าดูก้าวไกล แล้วมองตลาดการเมืองชลบุรี ก็ถือว่าเขามีตลาดของเขาเพราะเมืองชล

แม้เป็นการเมืองที่ผูกขาดอยู่ในกลุ่มการเมือง แต่สนามตลาดก็เปลี่ยนไปแล้ว มีชนชั้นกลางเกิดขึ้นจำนวนมาก คนเหล่านี้มีการศึกษา มีฐานะทางเศรษฐกิจ และเป็นคนที่พึ่งพาตัวเองได้ มีฐานะเป็นพลเมือง

คนเมืองชลไม่ชอบภาพจำ การเมืองแบบเดิมที่ต้องอยู่กับขั้วใดขั้วหนึ่ง ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการเมืองที่เขาต้องการ ซึ่งคนกลุ่มนี้ผมคิดว่าเป็นฐานคะแนนของก้าวไกล ที่อยากเห็นการเมืองที่อยู่ในสามัญสำนึกอยู่ในความคิด อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง เพราะเขาเสียภาษีเยอะด้วย ถ้าดู มันไม่ได้เกิดจากการจินตนาการอย่างเลื่อนลอย

ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ทั้ง 10 เขต

ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ทั้ง 10 เขต

ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ทั้ง 10 เขต

ขณะเดียวกันพรรคพลังประชารัฐที่ดูเหมือนว่าตอนนี้จะไม่มีกระแส แต่ถ้าดูในเขต 2 นับว่าเขตนี้น่าสนใจ ก็น่าจับตาจะได้เก้าอี้ในเขตนี้

ไทยพีบีเอส : สรุปว่าการเลือกตั้งชลบุรี กลุ่มบ้านใหม่ แข่งกับบ้านใหญ่ หรือบ้านใหญ่แข่งกับคนรุ่นใหม่ หรือ ใครกำลังแข่งกับใคร

รศ.โอฬาร : สำหรับผมคนทั่วไปมองว่าบ้านใหญ่แข่งกับบ้านใหม่ เพราะมองจากกระแส แต่ผมมองว่ามันไม่ใช่ เพราะกำลังสู้กัน 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มอำนาจเดิม 2.กลุ่มอำนาจใหม่ และ 3.ขั้วอนาคตที่มันโตขึ้นมาอย่างมีนัยยะสำคัญ

ภัทราพร ตั๊นงาม รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง