ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ภัยใกล้ตัว! "ไซยาไนด์" แค่ปลายเล็บก็ตายได้

Logo Thai PBS
ภัยใกล้ตัว! "ไซยาไนด์" แค่ปลายเล็บก็ตายได้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รู้จัก "ไซยาไนด์" ยาพิษร้ายแรงแค่ปลายเล็บก็ตายได้ หลังตำรวจไขปริศนาคดีหญิงสาวเสียชีวิตในระหว่างไปทำบุญปล่อยปลาในจ.ราชบุรี ตำรวจพบสารพิษไซนาไนด์ในร่างกาย และแกะรอยหญิงปริศนาจนพบของกลางครอบครองสารพิษนี้

กรณีหญิงสาวอายุ 32 ปีเสียชีวิตปริศนา ในระหว่างไปทำบุญปล่อยปลาที่ จ.ราชบุรี โดยมีหลักฐานกล้องวงจรปิด พบว่าไปกับผู้หญิงคนหนึ่งที่มีสามีเป็นตำรวจใน จ.ราชบุรี และไม่ให้การช่วยเหลือ และนำทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตไป

วันนี้ (25 เม.ย.2566) ตำรวจสามารถจับกุมตัวได้พร้อมของกลาง "ขวดไซยาไนด์" สารเคมีอันตราย ซึ่งสันนิษฐานว่าจะผสมใส่อาหารให้ผู้ตายกิน เพื่อหวังลักทรัพย์สินมีค่าต่างๆ ของผู้ตาย สอดคล้องกับผลการชันสูตรศพที่พบสารพิษไซยาไนด์

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบจาก ฐานความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี ของ รศ.สุชาตา ชินะจิตร ที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับไซยาไนด์ ระบุว่า

ไซยาไนด์ แค่ปลายเล็บก็ตายได้

ข้อมูลระบุว่า ไซยาไนด์ ชื่อนี้คงจะคุ้นหูว่าเป็น “ยาพิษ“ ที่มักใช้กินเพื่อฆ่าตัวตาย ขณะเดียวกันคนส่วนใหญ่ ก็ยังไม่เคยเห็นหน้าตาของไซยาไนด์ด้วยซ้ำไป

จากข่าวที่มีนักโทษพยายาม จะระเบิดเรือนจำกลางจังหวัดขอนแก่น แต่ไม่ประ สบความสำเร็จ จึงพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกลืนยาพิษ ซึ่งตอนแรก คาดกันว่าเป็นไซยาไนด์ที่มีการซุกซ่อนไว้ หลังจากที่แพทย์ช่วยชีวิตได้ทัน จึงมีการพิสูจน์ปรากฎว่าเป็นเพียงว่านชนิดหนึ่งเท่านั้น เพราะถ้าเป็นไซยาไนด์ จริงแม้เพียงเล็กน้อยก็ถึงแก่ชีวิตได้

สารกลุ่มไซยาไนด์ ที่ควรรู้จักมี 2 ตัว คือตัวหนึ่งเป็นของแข็ง เกลือไซยาไนด์ ซึ่งเป็นโซเดียมไซยาไนด์ หรือโปรแตสเซียมไซยาไนด์

ส่วนอีกตัวหนึ่งมีสถานะเป็นก๊าซคือ ไฮโดรเจน ไซยาไนด์ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยา เมื่อเอากรด เช่นกรดเกลือ หรือกรดกำมะถัน ผสมกับเกลือไซยาไนด์

อ่านข่าวเพิ่ม ย้าย “รองผกก.(สอบสวน)บ้านโป่ง” โยงผู้ถูกดำเนินคดีหญิงเสียชีวิตปริศนา

ประการสำคัญคือพิษต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเกลือไซยาไนด์ หรือก๊าซเป็นอันตรายถึงตายได้เหมือนกัน ก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ จึงถูกใช้ในการประหารนักโทษระหว่างสงคราม หลายคนอาจจะเคยเห็นในหนังสงคราม มีการใช้ก๊าซตัวนี้พ่นรมศัตรูล้มตายเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดถึงประโยชน์ก็มี เช่น ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตไนล่อน โดยเฉพาะยาฆ่าแมลง ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และมักจะมีการใช้อย่างขาดความระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัย

นอกจากนั้นยังใช้เพื่อสังเคราะห์สารเคมีอื่น ๆ ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ขณะที่ในเหมืองทองมีการใช้ไซยาไนด์ในกระบวนการสกัดทอง เป็นต้น

เกลือไซยาไนด์ละลายน้ำได้ดี ส่วนก๊าซ ก็ละลายในน้ำได้ดีเช่นกันไวต่อปฏิกิริยากับตัวออกซิไดซ์อาจระเบิดได้ เมื่อถูกความร้อนหรือเปลวไฟ

สำหรับชื่ออื่น ของก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ ที่ใช้เรียกกันก็มีกรดไฮโดรไซยาไนด์ และกรดปรัสซิก เป็นต้น

ส่วนอาการของพิษเฉียบพลันของไซยาไนด์คือ หายใจติดขัด ชักและหมดสติ อวัยวะที่ถูกกระทบคือระบบประสาทส่วนกลาง ตับ ไต และระบบหัวใจ

อ่านข่าวเพิ่ม ร้อง "บิ๊กโจ๊ก" สอบกรณี แม่เสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำในปั๊ม จ.ราชบุรี

รู้จักพิษไซยาไนด์ 

นอกจากนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ siamchemi.com ไซยาไนด์ (cyanide) และพิษไซยาไนด์ ระบุถึง ความเป็นพิษของสารประกอบไซยาไนด์ในรูปต่างๆ ดังนี้ 

  • ไฮโดรเจนไซยาไนด์ HCN สถานะ: ก๊าซ TLV : 5 มก.ต่อลบ.ม.
     LD50 : 1 มก.ต่อ กก. (มนุษย์)
  • โพแทสเซียมไซยาไนด์ KCN สถานะ : ของแข็ง TLV : 5 มก.ต่อลบ.ม. LD50 : 10 มก.ต่อกก.(หนู) 2.85 มก.ต่อกก (มนุษย์)
  • โซเดียมไซยาไนด์ NaCN สถานะ : ของแข็ง TLV : 5 มก.ต่อลบ.ม.LD50 : 6.44 มก.ต่อกก. (หนู) 2.85 มก.ต่อกก. (มนุษย์)
  • ไซยาโนเจนคลอไรด์ CNCl สถานะ : ก๊าซ TLV : 0.3 ppm
  • โซเดียมไซยาเนต NaCNO สถานะ : ของแข็ง LD50 : 260 มก.ต่อกก. (หนู) 
  • โพแทสเซียมไซยาเนต KCNO สถานะ : ของแข็ง LD50 :320 มก.ต่อกก. (หนู)
  • โพแทสเซียมเฟอริไซยาไนด์ K3[Fe(CN) สถานะ : ของแข็ง LD50 : 1,600 มก.ต่อกก. (หนู)

ทั้งนี้ TLV (Threshold Limit Value) หมายถึง ความเข้มข้นสูงสุดที่มนุษย์สามารถรองรับได้ มักใช้เป็นมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วน LD50 หมายถึงความเข้มข้นในหน่วยมิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนัก ร่างกาย ที่ทำให้สัตว์ทดลองตายร้อยละ 50

อ่านข่าวเพิ่ม อาการ-วิธีการรักษาเมื่อโดนวางยา ไซยาไนด์?

รัฐบาลคุมเข้มโซเดียมไซยาไนด์ สกัดยาเสพติด

ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2565 รับทราบแนวทางการควบคุมสารโซเดียมไซยาไนด์ สารเบนซิลคลอไรด์ และสารเบนซิลไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารที่นำไปใช้ในกระบวนการผลิตยาเสพติด มุ่งแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ประกอบด้วย

  • ระงับการส่งออก และชะลอการนำเข้าสารโซเดียมไซยาไนด์ และสารเบนซิลไซยาไนด์ไว้ก่อน เพื่อปรับปรุงวิธีการพิจารณาการอนุญาตการนำเข้าและส่งออก โดยจะอนุญาตให้นำเข้า และส่งออกตามปริมาณการใช้จริง โดยกระทรวงอุตสาหกรรม จะตรวจสอบและพิจารณาอนุญาตเป็นรายๆ 
  • ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และผู้ซื้อ ต้องยืนยันตัวตนโดยการลงทะเบียน เพื่อควบคุมปริมาณ และการติดตามการใช้สารดังกล่าว

ปัจจุบันประเทศไทย มีผู้ใช้สารโซเดียมไซยาไนด์ ภายในประเทศ 141 คน มีปริมาณการใช้ประมาณ 300 ตันเศษ (ไม่รวมการใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่) สำหรับสารเบนซิลไซยาไนด์ ภายหลังปี พ.ศ.2560 ยังไม่มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง