การสู้รบแย่งชิงอำนาจในซูดานเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 และยังไม่มีทีท่าว่าคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายจะยอมหยุดยิงและหันหน้าเข้าสู่โต๊ะเจรจา แต่ยอมเปิดทางให้อพยพชาวต่างชาติออกนอกประเทศ
อดีตพันธมิตรที่ร่วมกันก่อรัฐประหารในซูดาน หันมาสู้รบแย่งชิงอำนาจกันเอง ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า ความขัดแย้งนี้อาจเป็นผลพวงมาจากการที่ประเทศต่างๆ เลือกใช้นโยบายเอาใจซูดาน เพื่อเห็นแก่เสถียรภาพและไม่ต้องการให้ซูดานเลือกข้างบนเวทีการเมืองโลก
แต่การสู้รบที่เกิดขึ้นกลับทำให้หลายประเทศตกที่นั่งลำบาก และอาจจุดชนวนความไร้เสถียรภาพให้ลุกลามในระดับภูมิภาค ดังนั้นตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงเห็นรัฐบาลหลายชาติ รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ เสนอตัวเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นตุรกี เคนยาและเซาท์ซูดาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอียิปต์ ซึ่งถือเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคประเทศหนึ่งที่อาจต้องการให้ความขัดแย้งครั้งนี้ยุติลงโดยเร็ว
ส่วนอียิปต์จะมีความพร้อมในการไกล่เกลี่ยมากแค่ไหนนั้น คำว่า "ภาวะกลืนไม่เข้า คายไม่ออก" กับจุดยืนของอียิปต์ต่อความขัดแย้งในซูดานอาจไม่ผิดนัก เพราะด้านหนึ่ง อียิปต์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพซูดาน โดยการซ้อมรบร่วมของ 2 ชาติ ปิดฉากลงไปก่อนหน้าการสู้รบจะปะทุขึ้นในซูดานไม่ถึง 2 สัปดาห์
แต่อีกด้านหนึ่ง อียิปต์ต้องพึ่งพิงการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งเชื่อว่าสนับสนุนกองกำลังสนับสนุนการเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งเป็นกองกำลังกึ่งทหารที่เป็นฝ่ายต่อต้านกองทัพซูดาน โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กองกำลังดังกล่าวจับกุมตัวทหารอียิปต์มากกว่า 200 นาย ก่อนที่จะยอมส่งตัวกลับประเทศหลังยูเออีเข้าไกล่เกลี่ย
ประเด็นนี้ จุดกระแสความกังวลว่าอียิปต์จะเลือกข้างหรือไม่ ก่อนที่ในเวลาต่อมาอียิปต์จะประกาศเสนอตัวเป็นคนกลางในการเจรจา
อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้อียิปต์ต้องตกที่นั่งลำบาก เพราะความขัดแย้งภายในซูดานไม่เป็นผลดีกับดุลอำนาจในการกดดันเอธิโอเปีย ในประเด็นข้อพิพาทเรื่องเขื่อนกั้นแม่น้ำบลูไนล์ ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำไนล์
อียิปต์ มองว่า โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำโครงการนี้เป็นภัยคุกคามใหญ่ เพราะจะส่งผลกระทบต่อการควบคุมการไหลของน้ำในแม่น้ำไนล์ ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวอียิปต์ ดังนั้นซูดานจึงผูกโยงกับผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของอียิปต์ไม่น้อย
แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีข่าวว่า ยูเออีเสนอตัวเป็นคนกลาง แต่นักวิเคราะห์หลายคนจับตามองความเคลื่อนไหวของประเทศนี้อย่างใกล้ชิด เพราะมีอิทธิพลในซูดานไม่น้อย โดยเฉพาะกับกลุ่มกองกำลังต่อต้านกองทัพซูดาน ซึ่งข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนคือ คำพูดของยูเออีมีน้ำหนักมากพอในการช่วยทหารอียิปต์ได้ก่อนหน้านี้
แต่บทบาทของยูเออีในซูดานนับตั้งแต่อดีต บั่นทอนความน่าเชื่อถือในฐานะตัวกลางที่มีความเป็นกลางอย่างแท้จริง เพราะนอกจากยูเออีจะสนับสนุนผู้นำทหารซูดานทั้ง 2 คนก่อรัฐประหารในปี 2019 และปี 2021 แล้ว ยังมีรายงานว่า ยูเออีขายอาวุธให้กับคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายมาตั้งแต่ปี 2014 รวมทั้งฝึกการใช้อาวุธให้กับสมาชิกกองกำลังฝ่ายต่อต้านและรับซื้อทองจากกองกำลังดังกล่าวด้วย
ภาพของเรือซาอุดีอาระเบียที่ลำเลียงพลเรือนมากกว่า 150 คนจาก 13 ประเทศทั่วโลก เดินทางถึงท่าเรือในเจดดาห์ ซึ่งเป็นเมืองท่าในทะเลแดงที่อยู่ตรงข้ามกับ Port Sudan เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา อาจเป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของซาอุดีอาระเบียได้เป็นอย่างดี
มหาอำนาจในตะวันออกกลางชาตินี้กลายเป็นประเทศแรกที่พาชาวต่างชาติหนีการสู้รบออกมาจากซูดานได้เป็นชุดแรก นับตั้งแต่เกิดสงคราม ก่อนที่ประเทศอื่นๆ จะทยอยอพยพพลเรือนตลอดช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ดังนั้น ซาอุดีอาระเบียอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในการเข้ามาเป็นข้อกลางในความขัดแย้งครั้งนี้ แต่ซาอุดิอาระเบียก็เผชิญกับข้อกังขาถึงความเป็นกลางไม่ต่างไปจากยูเออี เนื่องจากมีสายสัมพันธ์ที่เอียงไปทางฝ่ายต่อต้านกองทัพซูดาน หลังจากกองกำลังดังกล่าวเคยช่วยซาอุดีอาระเบียทำสงครามในเยเมน
ผลประโยชน์ทับซ้อนได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การหย่าศึกในซูดาน ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยความช่วยเหลือของประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้นขณะนี้หลายประเทศจึงหันไปฝากความหวังไว้กับองค์กรความร่วมมือต่างๆ ในภูมิภาค
วิเคราะห์โดย : ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
บทวิเคราะห์ : จับตาชาติมหาอำนาจชิงผลประโยชน์ในซูดาน