ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไขคำตอบ "แพนด้า" หมีที่ไม่ทำตัวเป็นหมี

สิ่งแวดล้อม
19 เม.ย. 66
18:37
7,910
Logo Thai PBS
ไขคำตอบ "แพนด้า" หมีที่ไม่ทำตัวเป็นหมี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลายคนเข้าใจว่า "แพนด้า" ไม่ใช่หมี แต่อีกหลายคนก็พยายามบอกว่า "แพนด้าเป็นหมี" ไทยพีบีเอสออนไลน์รวบรวมรายละเอียดของเจ้าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ขนฟู สีขาวดำ ขวัญใจคนทั่วโลก ที่เห็นเมื่อไหร่ก็อดยิ้มไม่ได้ เพราะ "หมีแพนด้า เขาว่าน่ารัก"

รู้จักอย่างเป็นทางการ

"แพนด้า" เป็นชื่อที่นิยมเรียกกันของ "หมี" ที่แทบไม่มีพฤติกรรมความเป็นหมีหลงเหลืออยู่เลย เป็นสัตว์ที่กินเฉพาะ ไผ่ เพียงอย่างเดียว แต่อาจจะมีแมลง หรือไข่ของสัตว์บางชนิด ที่เป็นโปรตีนบ้าง ตามความจำเป็นต่อร่างกาย ส่วนใหญ่ แพนด้า ใช้เวลาในการกินไผ่ ถึง 16 ชม./วัน เท่ากับไผ่ 18 กิโลกรัมหรืออาจจะมากถึง 30 กิโลกรัมเลยก็ได้ แล้วแต่ขนาดตัวของเจ้าหมีที่ไม่เหมือนหมี 

แพนด้าไม่มีนิสัยจำศีลเหมือนหมีพันธุ์อื่นๆ กินแต่ไผ่ที่มีความจำเพาะเท่านั้นอีกด้วย ทำให้แพนด้ามีไขมันน้อยมากเมื่อเทียบกับมวลร่างกาย และด้วยเหตุผลนี้ ทำให้การติดสัดของแพนด้ามีเพียง 1-2 วันใน 1 ปีเท่านั้น และส่วนใหญ่จะตกลูกเพียงครั้งละ 1 ตัว แต่ก็มีโอกาสตกลูกแฝดได้บ้าง

หลาย 10 ปีที่ผ่านมา ยังมีการถกเถียงเรื่องการจัดจำแนกสายพันธุ์ที่แน่นอนของ แพนด้ายักษ์และแพนด้าแดง ซึ่งเป็นญาติสายพันธุ์ห่างๆ กัน และยังมีลักษณะพิเศษที่เหมือนทั้งหมีและแรคคูน ว่าสัตว์ทั้ง 2 จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันหรือไม่

แต่จากการทดลองทางพันธุกรรม บ่งบอกว่า "แพนด้ายักษ์" เป็นหนึ่งในชนิดของหมี (วงศ์ Ursidae) และหมีที่ชนิดใกล้เคียงที่สุดของ แพนด้า คือ "หมีแว่น" ที่พบในทวีปอเมริกาใต้ 

รู้จักทาง "การทูตแพนด้า"

"แพนด้า" ถือเป็น "สมบัติชาติของจีน" ในปัจจุบันนี้ แพนด้าที่อยู่ตามธรรมชาติจะพบเพียงในประเทศจีนเท่านั้น แต่สำหรับแพนด้าที่ถูกเลี้ยงในสวนสัตว์ จะถือเป็น "ทูตสันถวไมตรี" ที่ "จีนให้ยืม" ตามรายงานองค์กรแพนด้าของจีนระบุว่า 

จีนเป็นเจ้าของแพนด้ายักษ์ที่มีชีวิตทุกตัวทั่วโลกโดยตรง แม้ว่าพวกมันอาจจะเกิดในประเทศอื่นก็ตาม

จีนใช้แพนด้า โดยเฉพาะ แพนด้ายักษ์ เป็น Soft Power เชื่อมสายสัมพันธ์ขนฟู สีขาวดำ กับหลายประเทศทั่วโลกมาอย่างยาวนาน โดยเริ่มต้นจากสมัยราชวงศ์ถัง ที่พระนางบูเช็กเทียนส่งแพนด้า 1 คู่เป็นของกำนัลให้กับจักรพรรดิเท็มมุของญี่ปุ่นในปี ค.ศ.685 หรือ พ.ศ.1228 

ต่อมา จีนเริ่มใช้ "นักการทูตขนฟู" สานสัมพันธ์กับอีกหลายประเทศทั่วโลกเรื่อยมา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500-2525 แต่หลังจากนั้นจีนประสบปัญหาจำนวนแพนด้าลดลงอย่างรวดเร็ว จนแพนด้ายักษ์ขึ้นสถานะใกล้สูญพันธุ์ ส่วนหนึ่งมาจากความสามารถในการปรับตัวได้น้อย กับสภาพแวดล้อม สภาพอากาศที่ต่างจากประเทศต้นกำเนิดของแพนด้า รวมถึงการดูแลที่ไม่ละเอียดมากพอ 

จีนจึงเปลี่ยนเป็น "การเช่าแพนด้า" ด้วยสัญญาร่วมกับการวิจัยเพื่อขยายพันธุ์แพนด้ายักษ์ครั้งละ 10 ปี รวมกับเงินค่าเช่าปีละ 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยการให้เช่าแพนด้าครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือน ต.ค.2565 สี จิ้นผิง ปธน.จีนได้ให้เช่าแพนด้ายักษ์ 2 ตัวกับเมืองอัล คอร์ ประเทศกาตาร์ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 

ปัจจุบันมีสวนสัตว์ 28 แห่งใน 22 ประเทศที่ทำสัญญาเช่าแพนด้ากับรัฐบาลจีน จุดประสงค์หลักเพื่อช่วยเพิ่มจำนวนแพนด้า และนำกลับคืนสู่ถิ่นกำเนิด ภายใต้การปฏิบัติต่อแพนด้าอย่างดี

รัฐบาลจีนกล่าวว่า "แพนด้า" เป็น "อาวุธที่ทรงพลังที่สุด" ของ ปธน.สี จิ้นผิง ที่ทำให้จีนรู้สึกเป็นที่รัก น่ากอด นุ่มนวล เหมือนที่ผู้คนรู้สึกต่อแพนด้า จึงน่าจะสรุปได้ว่า แม้ตัวตนของแพนด้าคือ "หมี" แต่ทั้งพฤติกรรม และ บทบาท ก็ไม่ได้มีความเป็นหมีโดยสิ้นเชิง 

อ่านข่าวเพิ่ม : 

เปิดความทรงจำ "หมอบริพัตร" สัตวแพทย์ผู้ดูแล "หลินฮุ่ย"

แพนด้า "หลินฮุ่ย" ตายแล้ว สวนสัตว์เชียงใหม่แถลงสาเหตุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง