“พรรคเพื่อไทย” นำมาตั้งแต่ผลสำรวจปี 2564 และยังนำต่อเนื่องกระทั่งถึงปัจจุบัน เฉพาะ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ จะได้ประมาณครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 50 คนจาก 100 คน บวกลบเพียง 2-3 คน
แต่ที่ขยับขึ้นอย่างน่าสนใจ คือพรรคก้าวไกล ขึ้นมาราว 4 เปอร์เซ็นต์ จาก 17 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไปเกือบ 22 เปอร์เซ็นต์ ผลจากความนิยมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ และกลุ่มต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองรวดเร็ว ถือเป็นพรรคในกลุ่มเสรีนิยมแบบแนวคิดก้าวหน้า
ขณะที่พรรคเพื่อไทย แม้จะยังสลัดภาพพรรคในกลุ่มพรรคอนุรักษ์นิยมไม่ได้ แต่ก็มีบางส่วนค่อนไปทางเสรีนิยม ทั้งในแง่จุดยืนฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายรัฐบาล
และกลุ่มพรรคอนุรักษ์นิยม ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะแคนดิเดทนายกฯ ในบัญชีพรรครวมไทยสร้างชาติ พยายามทำตัวเป็นผู้นำในขั้วนี้ปัจจุบัน
และในด้านนโยบายที่เข้ากับยุคสมัยและล้ำไปข้างหน้า อย่างกรณีเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ซึ่งโดนใจทั้งคนรุ่นใหม่สมัยโลกดิจิทัล และยังถูกใจประชาชนกลุ่มฐานรากทั่วไป
คะแนนของ 2 พรรคนี้ รวมกันได้ร่วม 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว แม้จะมีลักษณะแข่งขันกันอยู่ในที แต่ได้แสดงท่าทีแล้วว่า สามารถร่วมมือจัดตั้งรัฐบาลได้ ยังไม่นับรวมพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม ทั้งพรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ หรือแม้แต่พรรคใหม่อย่างพรรคไทยสร้างไทย 3 พรรคนี้รวมกันไม่น่าจะไม่ต่ำกว่าหลักสิบ
หากเป็นไปตามนี้ โอกาสที่ขั้วอนุรักษ์นิยม หรือฝ่ายรัฐบาลเดิมจะได้จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศต่อ จะมีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย แม้จะมีเสียง ส.ว.อยู่ในมือ 250 เสียงก็ตาม หากยังหวังอาศัยเฉพาะเสียง ส.ว.เป็นสำคัญ แม้อาจจะแย่งชิงจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยทันที และจะโดนยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ต้องกระเด็นพ้นจากการเป็นรัฐบาลอย่างเลี่ยงไม่พ้น
หากไปดูที่แคนดิเดทนายกฯ ไม่ว่าจะดูจากนิด้าโพล หรือผลสำรวจของ 2 สื่อยักษ์ใหญ่ด้านสื่อสารมวลชน คือมติชนกับเดลินิวส์ แคนดิเดทนายกฯจากขั้วฝ่ายค้าน ก็ยังนำห่าง ไม่ว่าจะเป็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่นำอันดับ 1 รวม 29.4 เปอร์เซ็นต์ ตามด้วย “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่ได้ 23.2 เปอร์เซ็นต์ และนายเศรษฐา ทวีสิน เบียดแซงพล.อ.ประยุทธ์ ที่ 16.6 เปอร์เซ็นต์ต่อ 13.7 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่นิด้าโพล เลือกตั้งปี 2566 ครั้งที่ 2 “อุ๊งอิ๊ง” ยังนำโด่ง 35.7 เปอร์เซ็นต์ แม้จะลดลงจากครั้งที่ 1 ขณะที่นายพิธา ได้ 20.2 เปอร์เซ็นต์ พล.อ.ประยุทธ์ อันดับ 3 ที่ 13.6 เปอร์เซ็นต์ และนายเศรษฐา เพิ่มขึ้นเป็น 6 เปอร์เซ็นต์ ยังสะท้อนคะแนนนิยมในขั้วฝ่ายค้านเดิมมากกว่าขั้วรัฐบาล และยังห่างกันมากกว่า 22 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเทียบระหว่าง “อุ๊งอิ๊ง” กับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์
ข้อน่าสังเกตประการหนึ่ง คือคะแนนนิยมของ “บิ๊กตู่” กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ขาดแรงส่ง ขยับไม่ขึ้น อาจเป็นจากคะแนนนิยมและบริบททางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปชัดเจน ระหว่างปี 2562 กับปี 2566 และในนิด้าโพลคะแนนนิยม ”บิ๊กตู่”ลดลง 2 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่นายพิธาเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ผลสำรวจของมติชนและเดลินิวส์ คะแนนนิยม พล.อ.ประยุทธ์ ยังแพ้ให้กับนายเศรษฐา ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ ระหว่าง 16.6 กับ 13.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มหันหน้าเข้าวัด เดินสายมูมากขึ้น แทนการตระเวนปราศรัยหาเสียงวันละ 2-3 จังหวัด อย่างที่นายเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยทำอยู่ขณะนี้
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่มีส่วนต่อคะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง ของแคนดิเดทจาก 3 พรรค 2 ขั้ว คือบุคลิกทั้งบนเวทีปราศรัยหรือลงจากเวทีเมื่อให้สัมภาษณ์กับสื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงลักษณะเดิม ๆ มีกระกระทบชิ่ง เหน็บ ไปจนถึงโต้กลับฝ่ายตรงข้ามไม่เปลี่ยน แม้แต่เรื่องเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท โพล่งถามทันทีว่า จะเอาเงินจากไหน
แต่สำหรับนายเศรษฐา กลับตรงกันข้าม แทบไม่เคยแสดงท่าทีก้าวร้าวตอบโต้คืน นอกจากแสดงท่าทีถ่อมตน ยิ่งกับ พล.อ.ประยุทธ์ มักจะย้ำอายุน้อยกว่า ท่านเป็นผู้ใหญ่ และยินดีน้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์เพื่อปรับปรุง ซึ่งเป็นคาแรคเตอร์นักการเมืองในฝันของคนไทยมาแต่ไหนแต่ไร
แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องราวและผลโพลของวันที่ผ่านมา ยังเหลืออีก 26-27 วัน สำหรับการพลิกแพลงเปลี่ยนแปลง หรือปัจจัยแทรกซ้อนทางการเมือง ถึงเวลานั้น อะไรๆ ก็ยังโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ศรีสุวรรณ” ร้อง สตง.สอบ “เพื่อไทย” แจกเงินดิจิทัล
"จุรินทร์" ตั้ง "ลูกหมี" นั่งรองโฆษก ปชป. - ออนทัวร์วันเดียว 3 จังหวัด 19 เม.ย.