วันนี้ (18 เม.ย.2566) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขอให้ใช้อำนาจตาม มาตรา 244 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบ มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 53 มาตรา 54 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561
ตรวจสอบว่า นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่จะแจกเงินดิจิทัลให้กับคนไทยประมาณ 5.5 แสนล้านบาทนั้น เสี่ยงต่อการทำลายระบบวินัยการเงินการคลังของรัฐตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
ทั้งนี้สืบเนื่องจากกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อไทย ได้หาเสียงโดยการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปจำนวน 55 ล้านคนๆ ละ 10,000 บาท เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับพรรคเพื่อไทยและผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งอาจเป็นการดำเนินการที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับ
และอาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประโยชน์ของประชาชนในวงกว้างทั้งทางบวกและทางลบได้ และมีเสียวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากว่าจะมีผลกระทบต่อวินัยทางการเงินการคลังของรัฐอย่างมาก ซึ่งอาจขัดต่อพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 และพรบ.วิธีการงบประมาณ 2561
อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าว ประชาชนไม่อาจพึงพาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ เพราะมัวแต่เดินทางไปตรวจการเลือกตั้งยังต่างประเทศ จะเห็นมีก็แต่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่จะหาคำตอบให้กับคนไทยได้
เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 244 กำหนดให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจและหน้าที่ในการตรวจสอบนโยบายการใช้จ่ายเงิน ที่อาจทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริต หรือเที่ยงธรรมได้
โดยการทำความเห็นส่งหรือแจ้งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งก็จะทำให้องค์กรอิสระอย่าง กกต. และ ป.ป.ช. ทำงานง่ายขึ้นในการวินิจฉัยนโยบายการหาเสียงดังกล่าวว่าว่าจะผลกระทบต่อวินัยทางการเงินการคลังของรัฐ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเพียงใด
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงมาร้องเรียนต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2561 ในการตรวจสอบนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทยว่า
มีความเสี่ยงที่จะเป็นการขัดต่อกฎหมาย ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐหรือไม่ หากมีความเสี่ยงก็ควรที่จะแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการระงับหรือยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงิน การคลังของรัฐดังกล่าวเสีย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"จุรินทร์" ตั้ง "ลูกหมี" นั่งรองโฆษก ปชป. - ออนทัวร์วันเดียว 3 จังหวัด 19 เม.ย.