วันนี้ (10 เม.ย.2566) เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ ทั้งนักวิชาการ แพทย์ สภาลมหายใจ และประชาชน รวมตัวกันที่ศาลปกครองเชียงใหม่ เพื่อยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน
จากเหตุไม่ใช้อำนาจทางกฎหมายแก้ไขวิกฤตฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่
นายสุมิตรชัย หัตถสาร ผอ.ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิมนุษยชนท้องถิ่น ระบุว่า แผนฝุ่นแห่งชาติที่มีมาตั้งแต่ปี 2562 ไม่ได้ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปเลย ส่วนมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีแก้ไขปัญหานี้อย่างเต็มที่ แต่กลับไม่ได้ใช้อำนาจนี้
ปัญหาสำคัญคือกฎหมาย และแผนที่มีอยู่ไม่ได้ถูกปฏิบัติอย่างเต็มที่ จึงอยากเห็นการนำกฎหมายและแผนมาใช้ปฏิบัติการจริง เพราะหากใช้ไม่ได้จะได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้จริง ๆ
คนเมืองเจอฝุ่นพิษ เสี่ยงมะเร็งปอด
ด้าน นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ประชาชนในเมืองต้องเจอฝุ่นพิษ PM2.5 ระดับเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ต้องเผชิญกับความเสี่ยงมะเร็งปอดชนิด EGFR mutation ที่มักพบในคนไม่สูบบุหรี่ เพิ่มขึ้น 7 เท่า รวมถึงเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และมีอายุเฉลี่ยสั้นลง 4-5 ปี เราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายจากภาครัฐด้วยเจตจำนงค์ทางการเมืองที่แน่วแน่ ไม่เกรงใจกลุ่มทุน ซึ่งจะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยและรักษาชีวิตคนได้นับล้านคน
ขณะที่นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจ ระบุว่า ทุกคนต้องทนอยู่กับวิกฤตฝุ่นพิษที่เลวร้ายขึ้นทุกปี รัฐต้องมีมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อลดมลพิษฝุ่นควันในป่าและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณต่อพรรคการเมืองและรัฐบาลชุดใหม่ว่า
ต้องให้ความสำคัญและมีนโยบายเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม กลยุทธ์ในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษไม่ควรจะทำเป็นอีเว้นท์แล้วจบเป็นปี ๆ ไป สภาลมหายใจในฐานะตัวแทนประชาชนต้องการเป็นอีกพลังส่งเสียงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในยุคของเรา เพื่อลูกหลานจะไม่ทุกข์ทรมาน มีลมหายใจที่สะอาดในอนาคต
ป่วยมลพิษทางอากาศสะสมแล้ว 2 ล้านคน
ก่อนแยกย้ายกลับ กลุ่มเครือข่ายประชาชนภาคเหนือได้อ่านแถลงการณ์ ระบุว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.2566 จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 มีความเข้มข้นสูงปกคลุมเหนือภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นวิกฤตระดับสูง และมีผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศสะสมแล้วกว่า 2 ล้านคน โดยเฉพาะในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ต้องประสบกับผลกระทบทางสุขภาพจากการรับสัมผัสฝุ่นพิษในระดับที่เป็นอันตราย โดยมีฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไปต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน เป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ส่งผลร้ายแรง และถูกเพิกเฉยจากรัฐบาล
ฟ้องนายกฯ - คกก.สิ่งแวดล้อม - ก.ล.ต.
สำหรับการยื่นฟ้องคดีครั้งนี้ เป็นการยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม โดยผู้ฟ้องคดีประกอบด้วย สมชาย ปรีชาศิลปกุล, นัทมน คงเจริญ, ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล ,นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือหมอหม่อง อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ, กลุ่มสมดุลเชียงใหม่, สภาลมหายใจ, พร้อมรายชื่อประชาชนและเยาวชน ที่ลงชื่อสนับสนุนการฟ้อง ซึ่งการฟ้องร้องครั้งนี้มีข้อเรียกร้องสำคัญทางคดี ประกอบด้วย ฟ้องนายกรัฐมนตรีให้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติอย่างร้ายแรงให้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานทำหน้าที่อย่างเข้มงวด เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่ได้ใช้อำนาจนี้จนการแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 มีความล่าช้า ไม่ทันต่อความร้ายแรงของเหตุการณ์
ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง รัฐบาลประกาศแผนนี้มาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากในระยะเวลา 4 ปีในการใช้แผนนี้ แทบจะไม่เห็นความคืบหน้าและปัญหายังคงความรุนแรงอยู่ ซึ่งเป็นความผิดปกติที่ประชาชนไม่อาจยอมรับ
ฟ้องคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมถึงพันธกรณีนอกอาณาเขต (Extraterritorial Obligations) ให้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้าน เพิ่มในแบบรายงาน 56-1 One Report หรือแบบอื่นๆ ในฐานะเอกสารสำคัญสำหรับการตรวจสอบข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานอันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย