ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วนเวียน“อุ้มบุญทุนจีน”สมประโยชน์ทั้งขบวนการ

อาชญากรรม
7 เม.ย. 66
15:41
2,004
Logo Thai PBS
วนเวียน“อุ้มบุญทุนจีน”สมประโยชน์ทั้งขบวนการ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้ว่างเว้นไม่มีคดีนานเกือบ 2 ปี แต่การจ้างวานหญิงไทยรับจ้างอุ้มบุญยังไม่หมดไป ความย้อนแย้งที่สะท้อนถึงความสมประโยชน์ของขบวนการอุ้มบุญที่มีทุกฝ่ายเกี่ยวข้องไม่เว้นแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์

ผ่านมาเกือบ 2 ปี หลังปฏิบัติการกวาดล้างเครือข่ายอุ้มบุญทุนจีนครั้งใหญ่เมื่อปี 2564 ประเทศไทยยังไม่พบคดีลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีกเลย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า การอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ หรือ การจ้างวานให้หญิงไทยตั้งครรภ์แทนซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายจะหายไป

โพสต์ข้อความเชิญชวนยังคงมีให้เห็นทางเฟซบุ๊กอย่างเปิดเผย จากการตรวจสอบแต่ละโพสต์มีราคาค่าจ้างอุ้มบุญราว 4 – 5 แสนบาท บางโพสต์ที่ระบุถึงขั้นตอนการรับจ้างอุ้มบุญว่าทั้งหมดทำที่ประเทศไทย ทั้งใส่ตัวอ่อนและคลอด อีกทั้งไม่ต้องใช้ชื่อตัวเองเป็นแม่ของเด็กในใบเกิดซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ห้ามไม่ให้ดำเนินการให้มีการตั้งท้องแทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า

 

ขบวนการของกลุ่มทุนจีน มีทั้งการตั้งสถานพยาบาลในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับชายแดนของประเทศไทย ทั้งลาวและกัมพูชา ซึ่งประเทศเหล่านี้หญิงที่รับจ้างอุ้มบุญจะโดยสารเครื่องบินไปฝังตัวอ่อน เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมเรื่องของการรับจ้างอุ้มบุญ

พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 4 บช.สอท. ให้ข้อมูลกับไทยพีบีเอสว่า กลุ่มเครือข่ายชาวจีนจะแฝงตัวมาในรูปแบบของนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์ โดยนักลงทุนที่เข้ามาจะนำเงินลงทุนมาติดต่อซื้อกิจการกับสถานพยาบาล ว่าจ้างแพทย์ พยาบาล หรือแม้กระทั่งเปิดสถานพยาบาลเป็นของตัวเอง และนำแพทย์ พยาบาล จากประเทศจีน เดินทางมาร่วมประกอบดำเนินการทางการแพทย์ จากนั้นมีการนำเอาไปโฆษณาชักชวนให้กับชาวจีน ที่ต้องการมีบุตร โดยการรับจ้างอุ้มบุญตั้งครรภ์ ให้เดินทางมาเก็บเชื้ออสุจิในประเทศไทย

การรับจ้างอุ้มบุญในประเทศจีนมีค่าใช้จ่ายสูงประมาณ 5-10 ล้านบาท และไม่สามารถเลือกเพศของทารกได้ ขณะที่ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1-3 ล้านบาทต่อเด็ก 1 คน ทำให้ขบวนการรับจ้างอุ้มบุญเข้ามาดำเนินการที่ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านของไทย

พอโควิดเริ่มจาง มันก็มีขบวนการนี้กลับมา ต้องหาทางป้องกันและดำเนินการ ต้องคุยกันหลายภาคส่วนทั้ง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ตำรวจ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 

ปี 2564 คดีกลุ่มนายทุนจีนว่าจ้างหญิงไทยอุ้มบุญ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลในข้อหาร่วมกันดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558

คดีนี้มีจำเลยทั้งหมด 13 คน ยังหลบหนี 2 คน ทั้งคู่เป็นชาวจีนระดับสั่งการ พบเด็กที่เกิดจากการรับจ้างอุ้มบุญ 10 คน ในจำนวนนี้ 7 คน อยู่ในความดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่วนอีก 3 คน ไม่ได้อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่

ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ให้ข้อมูลกับไทยพีบีเอสว่า การรับจ้างอุ้มบุญจะทำเป็นขบวนการและมีความซับซ้อน อีกทั้งยังมีบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้องจำนวนมากทั้งผู้ว่าจ้าง ผู้รับจ้างอุ้มบุญ บุคลากรทางการแพทย์

การลงทุนทำธุรกิจอุ้มบุญผิดกฎหมายในประเทศไทยของชาวต่างชาติ มักดำเนินการผ่านนอมินีหรือตัวแทน มีการทำเป็นขั้นตอนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แม้มีข้อมูลแต่การตรวจสอบทำได้ยาก ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่

กฎหมายยังไม่มีคำว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ ถ้าจะไปตรวจต้องขอหมายเชิญตำรวจไปร่วม เป็นประเด็นที่ต้องแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ให้ทันสมัย ให้มีคำว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้เข้าไปยึดอายัดได้ทันท่วงที

รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา อุปสรรคสำคัญคือ เมื่อไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ สถานประกอบการจะไม่ให้เข้าไปตรวจสอบโดยทันที ดังนั้น การเข้าไปตรวจสอบในวันถัดไป หลักฐานจึงหายไปหมด เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จึงต้องมาเร่งแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ

ขณะเดียวกัน คดีอุ้มบุญส่วนใหญ่คนที่ทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เอเจนซี่ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน หรือคนที่จ้างวาน ล้วนมีผลประโยชน์ด้วยกันทั้งหมด จึงไม่มีการแจ้งความ ไม่มีการร้องเรียน ทำให้ไม่มีข้อมูลหรือมีคดีเกิดขึ้น

คนที่ทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ เอเจนซี่ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน คนที่จ้างวาน ล้วนแต่มีผลประโยชน์ทั้งหมดเลย เขาก็จะไม่มาแจ้งความ ไม่มาร้องเรียนที่เรา

 

ปัจจุบันมีสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ 108 แห่ง โดยเป็นของรัฐ 16 แห่ง เอกชน 92 แห่ง ที่ผ่านมามีการอนุญาตให้ดำเนินการตั้งครรภ์แทน 636 คน ไม่อนุญาต 22 คน

การให้บริการทางการแพทย์ด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ของไทยพบว่ามีอัตราความสำเร็จร้อยละ 46 สร้างรายได้ปีและกว่า 4,500 ล้านบาท

 

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง