ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ภารกิจท้าทาย "คืนวัวแดง" กลับป่าสลักพระหลังสูญพันธุ์ 30 ปี

สิ่งแวดล้อม
6 เม.ย. 66
11:57
2,721
Logo Thai PBS
ภารกิจท้าทาย "คืนวัวแดง" กลับป่าสลักพระหลังสูญพันธุ์ 30 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดใจ "เสรี นาคบุญ" พ่อของน้องวัวแดงคืนป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี หลังสูญพันธุ์นาน 30 ปี ต่อยอดจากวัวแดงในกรงเลี้ยง 4 ตัวผ่านมา 9 ปีส่งวัวแดงคืนป่าเกิดใหม่อีก 27 ตัว ปลุกชุมชนร่วมปกป้องป่า หวังเชื่อมพันธุกรรมป้องกันเลือดชิด
"น้องก่อการดี ๆๆ ฮิ้ว"

เสียงเรียกของเสรี นาคบุญ หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ จ.กาญจนบุรี กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บ่งชี้ถึงความใกล้ชิด และเอาใจใส่ลูกวัวแดง ที่พวกเขาฟูมฟักมาหลายปี

รอยยิ้มปรากฎที่มุมปาก พร้อมกับภาพของแม่ลูกวัวแดงคู่แรกของปีนี้เพิ่งเกิดเมื่อ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา เขาตั้งใจชื่อว่า "น้องก่อการดี" เป็นวัวแดงตัวผู้ พวกมันเกิด และเติบโตในคอกเลี้ยงของศูนย์ฯ เขาน้ำพุ 

ที่เรียกเขาได้จะจำกลิ่นถ้าเค้าคุ้นถึงจะยอมให้เข้าใกล้ ตัวนี้เป็นลูกวัวแดงตัวแรกของปีนี้ ต้องรออีก 3 ปีถึงจะพร้อมปล่อยคืนป่า เพื่อให้เขาดูแลตัวเองได้ก่อน เพราะตอนน้ันก่อการดี จะเริ่มเป็นหนุ่มเป็นสาว

เสรี บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ พร้อมเล่าถึงโครงการฟื้นฟูประชากรวัวแดงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ หลังจากวัวแดงสูญพันธุ์ไปนานถึง 30 ปี ตั้งแต่ปี 2537 จากปัญหาลักอบล่าสัตว์ป่า ทำให้สัตว์ถูกล่าออกไป

วัวแดง เคยถูกล่าจนสูญพันธุ์จากพื้นที่นาน 30 ปี ทำให้เสือโคร่ง สัตว์กินเนื้อในห่วงโซ่ บนสุดก็หายไปจากป่าแห่งนี้ เหมือนโดมิโน เป็นผลกระทบที่เกิดจากการล่าในอดีตทำให้สัตว์หลายชนิดหายไป

จาก "เบริ์ด" วัวแดง 1 ตัวสู่ผืนป่า 43 ตัว

หัวหน้าเสรี บอกว่า ก่อนหน้านี้เขาถูกย้ายจากภาคใต้ มาช่วยดูแลลูกวัวแดงเพียง 1 ตัวชื่อ "เบิร์ด" ที่ได้รับจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ จ.อุทัยธานี และมาอยู่ที่เขาน้ำพุเมื่อปี 2530 โดยกรมอุทยานฯ ต้องการให้ฟื้นฟูให้มันแข็งแรง โดยเขาย้ายมาดูแลที่นี่ตั้งแต่ปี 2537 

เดิมตั้งใจมาแก้ปัญหาระบบรูปแบบการเพาะเลี้ยงวัวแดงในกรงเลี้ยง เคยคิดว่า 1 ปีน่าจะทำสำเร็จวัวแดงน่าจะกลับสมบูรณ์ แต่ชีวิตพลิกผันเมื่อมีโอกาสสำรวจป่าที่เคยเป็นถิ่นอาศัยของวัวแดง ได้รับข้อมูลที่น่าตกใจว่า วัวแดงหมดไปสูญพันธุ์จากพื้นที่ 30 ปี

เสรี บอกว่า เขากับเจ้าหน้าที่จึงคิดต่อยอดว่าจะต้องส่งวัวแดงที่เพาะเลี้ยงกลับคืนป่า กลับบ้านให้ได้ จึงพยายามขับเคลื่อนให้สำเร็จให้ได้ และคิดไปไกลว่าทั้งปล่อยไปแล้ววัวแดงจะต้องอยู่ในป่า ไม่ถูกคนล่าเหมือนกับบทเรียนในอดีตที่แสนแพง เป็นจุดเริ่มต้นที่คิด และอยากทำให้วัวแดงกลับมาโลดแล่นในป่าได้อีกครั้ง

อ่านข่าวเพิ่ม อวดโฉม "น้องก่อการดี" ลูกวัวแดงตัวแรกของปี'66

หัวหน้าโครงการฟื้นฟูวัวแดง เล่าว่า  นับจากโครงการฟื้นฟูวัวแดงในป่าสลักพระปล่อย 5 ครั้ง รวม 16 ตัว สามารถปรับตัวเป็นวัวแดงป่า ดำรงชีวิตและผสมพันธุ์ค่อยๆ ให้กำเนิดลูกในป่า 27 ตัว รวมมีวัวแดงในป่าธรรมชาติเบื้องต้น 43 ตัว เพราะกล้องที่ติดตั้งมีไม่ทั่วทุกจุด  

ภาพแรกที่เห็นจากกล้องดักถ่ายภาพเป็นลูกวัวแดงตัวแรก เราตั้งชื่อว่าน้องฟ้าใหม่ นาทีที่เปิดกล้องและเปิดในโน้ตบุกเห็นภาพลูกวัวแดง ร้องเฮเสียงดัง หัวใจพองโต และมีความสุขว่าน้องอยู่ในป่า ผสมพันธุ์ให้ลูกในป่า อิมเอิบหัวใจ 

วางแนวเชื่อม 2 ผืนป่าป้องกันเลือดชิด 

เสรี บอกว่า หลังจากปล่อยวัวแดงคืนป่า 5 ครั้ง สิ่งที่กังวลและต้องคิดต่อคือ ความกังวลเรื่องปัญหาเลือดชิดในวัวแดง สาเหตุมาจากต้นทางแม่พันธุ์มีแค่ 4 สายเลือดที่ผสมกัน น่าเป็นห่วงระยะยาวอีก 10 ปี อาจเกิดปัญหาเลือดชิดได้

แต่กระบวนการเติมพันธุกรรมวัวแดงจากป่าอื่นๆ มาเติมในศูนย์เขาน้ำพุ โดยใช้วิธีการถ้าจับจากป่าธรรมชาติมาแต่เป็นเรื่องยาก ความเป็นไปได้ต่ำมาก แต่จะใช้พื้นป่าที่ใกล้กันให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สลักพระใกล้กับป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี มีวัวแดงมากทำอย่างไรให้วัวแดงทั้ง 2 ป่ามาเจอ ผสมพันธุ์ในธรรมชาติ เพื่อแก้เลือดชิด   

โดยวิธีการที่ทำได้คือคอริดอมนุษย์ โดยทำความเข้าใจชุมชน ในป่ากันชนของป่าตะวันตก ถ้าวัวแดงปลอดภัย 2 การเคลื่อนตัวไปมาระหว่างผืนป่ามีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ 

ขณะที่อีกข้อกังวลคือเรื่องเรามีรายงานผลกระทบจากไฟป่ากับวัวแดง เนื่องจาก แหล่งพืชอาหารถูกไฟป่าเผาไหม้ จะทันกับวงรอบหรือไม่ เพราะจากการศึกษาพบว่า วัวแดง 1 ตัวที่เคยศึกษาปล่อยในป่าว่าใช้พื้น 43,000 ไร่ ช่วงเวลา 1 ปีนั้นหมายความว่าปรับตัว และดำรงชีวิตในป่าได้

การศึกษาทำให้พบว่าแต่ละจุดที่วัวแดงไปในแต่ละเดือน มีโป่ง มีแหล่งน้ำ ที่เป็นวงรอบการหากินครอบคุลมพื้นที่ทุ่งสลักพระ โดยวัวแดงหากิน 43,000 ไร่ ในช่วงเวลา 1 ปี

สำหรับภารกิจที่ท้าทายการคืนวัวแดงที่สูญพันธุ์จากป่าสลักเมื่อ 30 ปีก่อน อาจเป็นเพียงก้าวแรกที่สำเร็จ แต่ก้าวที่สองของโครงการฟื้นฟูวัวแดงคือ อยากให้มีวัวแดงไปเติมในป่าอื่นๆ ทั้งแก่งกระจาน กุยบุรี ไม่ว่าทุกคนที่นี่อาจจะเกษียณไปแต่ต้องช่วยกันปกป้องให้ลบคำว่าสูญพันธุ์ออกจากประเทศ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชมความน่ารัก "น้องเกื้อการ" ลูกวัวแดงตัวที่ 2 ของปี 66 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง