เป้าหมายเรื่องการตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ของมนุษยชาติก้าวเข้าใกล้ความจริงขึ้นไปอีกขั้น เมื่อบริษัทโนเกีย (Nokia) ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องการผลิตโทรศัพท์มาอย่างยาวนานได้ประกาศว่าระบบเครือข่าย 4G บนดวงจันทร์จะติดตั้งเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี ค.ศ. 2023 นี้ ภายใต้สัญญาว่าจ้างจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ องค์การนาซา
โดยทางบริษัทโนเกีย มีแผนส่งยานอวกาศไร้คนขับที่จะเป็นตัวรับส่งสัญญาณระหว่างโลกกับดวงจันทร์รุ่นทดสอบผ่านภารกิจที่มีชื่อว่า “IM-2” ซึ่งใช้เทคโนโลยี LTE-4G เหมือนกับการใช้อินเทอร์เน็ตด้วยโทรศัพท์มือถือที่เราคุ้นเคยกันบนโลก ซึ่งเทคโนโลยีที่จะใช้งานบนดวงจันทร์นี้ได้รับการพัฒนาให้ทนทานต่อสภาวะอันโหดร้ายของอวกาศที่เต็มไปด้วยรังสีมากมายได้
อีกทั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 4G บนดวงจันทร์นั้น จะมีสัญญาณที่แรงและเร็วกว่าการสื่อสารบนดวงจันทร์แบบในยุคสมัยก่อนที่ใช้คลื่นวิทยุและดาวเทียมถ่ายทอดสัญญาณมายังโลกอีกทีหนึ่ง ซึ่งเทคโนโลยี 4G ใหม่นี้จะสามารถรองรับการส่งข้อมูลจำนวนมากแบบเรียลไทม์ได้
เรียกได้ว่านักบินอวกาศและศูนย์ควบคุมจะสามารถสื่อสารระหว่างกันได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลทางด้านกายภาพของนักบินอวกาศเอง ว่ามีการเต้นของหัวใจ หรือ อุณหภูมิในร่างกาย อยู่ในระดับที่ปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งนอกจากนี้คลื่น 4G ก็ยังให้ผลพลอยได้อื่น ๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น การรับส่งวิดีโอที่จะมีความคมชัดสูง หรือหุ่นยนต์ต่าง ๆ จะสามารถรับคำสั่งทางไกลได้อย่างแม่นยำมากขึ้นตามไปด้วย
โดยภายในปี ค.ศ. 2025 องค์การนาซาวางแผนที่จะส่งนักบินอวกาศ 4 คนไปปฏิบัติภารกิจบนพื้นผิวดวงจันทร์ ณ บริเวณขั้วใต้ในภารกิจอาร์ทิมิส 3 (Artemis 3) หลังจากที่ไม่มีมนุษย์คนไหนได้ไปดวงจันทร์อีกเลยนับตั้งแต่ภารกิจอะพอลโล 17 เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งโครงการอาร์ทิมิสนั้นมีเป้าระยะยาวที่จะวางรากฐานให้มนุษย์สามารถไปตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ได้
จึงทำให้ทั้งโนเกียต้องส่งยานอวกาศกระจายสัญญาณ 4G ไปยังบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ตามไปด้วยเช่นกัน ซึ่งมีตำแหน่งใกล้กับแอ่งหลุมอุกกาบาต Shackleton ที่เต็มไปด้วยก้อนน้ำแข็ง โดยน้ำแข็งนี้สามารถนำมาสกัดเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานอวกาศเพื่อช่วยให้มนุษย์ตั้งถิ่นฐานใหม่บนดวงจันทร์ได้ ซึ่งมีความสำคัญพอ ๆ กับระบบสัญญาณ 4G ของโนเกีย
ที่มาข้อมูล: CNBC , NOKIA
ที่มาภาพ: AFP
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech