ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

4 พรรคเปิดนโยบายแก้ปัญหารถไฟฟ้า "สายสีส้ม-สีเขียว"

เศรษฐกิจ
21 มี.ค. 66
17:35
1,454
Logo Thai PBS
4 พรรคเปิดนโยบายแก้ปัญหารถไฟฟ้า "สายสีส้ม-สีเขียว"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เวทีสภาผู้บริโภคเปิดนโยบายแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีส้ม-สีเขียว เชิญพรรคการเมืองพูดคุยหากเป็นรัฐบาลจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

วันนี้ (21 มี.ค.2566) ตัวแทนพรรคการเมือง ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในเวทีสภาผู้บริโภค "เปิดนโยบายแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีส้มและเขียว : หากท่านเป็นรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ?"

นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ข้อเสนอของพรรคก้าวไกล สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะหมดสัมปทานในปี 2572 ไม่ควรขยายสัญญาตามร่างปัจจุบันต่อไปอีก 30 ปี แต่ควรนำเข้าสู่ พ.ร.บ.ร่วมทุนให้ถูกต้องก่อนปี 2572 และควรประมูลใหม่

ส่วนสายสีส้ม หากเป็นรัฐบาลจะให้ประมูลใหม่ เพราะส่วนตัวกลัวว่าจะมีการฟอกขาว ถูกต้องโดยทุจริต ซึ่งข้อเท็จจริงมี 2 เจ้ารายใหญ่เท่านั้นที่เข้าร่วมการประมูล หากมีรายใดรายหนึ่งไม่ได้เข้าร่วมจะเกิดปัญหา สามารถใช้สัญญาเดิมได้ แต่ควรประมูลอย่างโปร่งใส

สายสีเขียวไม่ควรขยายสัญญาตามร่างปัจจุบัน เอาให้ชัดเพราะถ้าแก้ปัญหาไม่ชัดจะมีปัญหา ถ้าทุกพรรคเห็นตรงกันจะง่าย ก้าวไกลชัดเจนยึดที่ปี 72 หลังจากนั้นต้องเข้าพีพีพี จะเป็นบีทีเอสหรือเจ้าใหม่ต้องเอาตัวเลขมากาง ถ้าเป็นไปได้ควรประมูลใหม่

ขณะที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เสนออัตราค่าโดยสาร 50 บาทตลอดวันแบบไม่อั้น มั่นใจว่าทำได้แน่นอน ไม่กระทบสัมปทาน ส่วนการประมูลสายสีส้ม ต้องแก้ปัญหาคดีพิพาทก่อน

ซึ่งเห็นต่างจากสภาผู้บริโภคที่ให้แยกเรื่องโฆษณาและอสังหาริมทรัพย์ อาจจะทำให้ค่าโดยสารแพง และหากจะไม่ต่อสัญญาสายสีเขียว ก็จะต้องแก้สัญญาสายสีน้ำเงินที่ต่อไปถึงปี 2592 ถึงจะแก้ทุกระบบจริง

เสนอนโยบายรถไฟฟ้า 50 บาท ตลอดวันทุกสายไม่อั้น ทำได้จริง ไม่กระทบสัมปทาน ทำได้แน่นอน เวลานี้ค่าโดยสารแพง แม้จะเป็นเส้นที่รัฐลงทุนเอง เช่น สายสีม่วง ราคา 17-42 บาท คิดเป็น 1.83 บาทต่อกิโลเมตรแพงที่สุด

ด้านชาติชาย พยุหนาวีชัย ว่าที่รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และกรรมการและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ระบบตั๋วร่วม ซึ่ง 10 ปีผ่านไปยังทำไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาระบบเชื่อมต่อไม่ได้เพราะรัฐไม่ได้เป็นเจ้าของ ส่วนสายสีเขียว หากไม่ต่อสัญญาขึ้นอยู่กับข้อตกลงรัฐบาลและรัฐบาลมีงบประมาณจ่ายหรือไม่ หากไม่ต่อสัญญาควรคืนเงินให้เอกชนจะได้ไม่เกิดข้อพิพาทเอกชน

สีเขียว ถ้าไม่ต่อสัญญาขึ้นกับข้อตกลงเดิมของรัฐบาล รัฐต้องดูว่ามีงบประมาณจ่ายหรือไม่ หากจ่ายได้ควรคืนเงินให้เอกชนเพื่อไม่ให้เกิดข้อพิพาทและประมูลใหม่ แต่ยังมีปัญหารถไฟฟ้าสีอื่นที่เป็นสัมปทานต่อขยาย

ด้านนายสิริพงษ์ อังสกุลเกียรติ พรรคภูมิใจไทย เสนอค่าโดยสาร 15-40 บาท ต่อวันสูงสุดไม่เกิน 40 บาทต่อวัน เพื่อไม่เป็นภาระรัฐเอกชนอยู่ได้ ไม่เป็นภาระประชาชน แต่การปรับค่าโดยสารยังติดปัญหาเรื่องของสัญญา พร้อมขอให้พรรคการเมืองไม่ประกาศราคาค่าโดยสารแบบขายฝัน แต่ในความเป็นจริงติดปัญหาสัมปทาน

การยกเลิกสัญญาสายสีส้ม เรื่องอยู่ในศาล แต่ถ้าถามส่วนตัวไม่เสียหาย คำถามคือทำได้ไหม เพราะเปลี่ยนเกณฑ์ แต่ยังไม่เปิดซองก็มีปัญหา แต่วันนี้เปิดซองไปแล้วมายกเลิกจะทำได้ไหม

ส่วนนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า โครงสร้างสายสีส้มควรเป็นของรัฐ เพื่อให้สามารถกำหนดราคาไม่มีค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน และขอให้ยกเลิกการประมูลสายสีส้ม โดยใช้เทคนิค 3 จ. ได้แก่ จ้างจัดการเรื่องโครงสร้าง จ้างเอกชนเดินรถ จัดการหารายได้โฆษณาและอสังหาริมทรัพทย์เพื่อนำมาลดค่าโดยสาร

รวมถึงขอให้ทุกพรรคไม่ต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว เพื่อให้ระบบรถไฟฟ้าเป็นของประชาชน และต้องการให้เป็นข้อเสนอทุกพรรคทำให้สายสีเขียว ลดคดีความ และมีการเจรจาช่วยเหลือเอกชนและมีการจัดการประมูลใหม่ เพื่อลดความซับซ้อนและยึดประชาชนเป็นหลัก ทุกคนต้องได้ขึ้นรถไฟฟ้าไม่ใช่แท็กซี่ของคนรวย

อ่านข่าวอื่นๆ

"เศรษฐา" ขอพิจารณาจะสานต่อนโยบาย "ประยุทธ์" หรือไม่

"เสธ.หิ" ลั่น "รทสช." พร้อมสู้ศึกเลือกตั้งภาคเหนือ ไม่หวั่นกระแส "แลนด์สไลด์"

"อนุทิน" สวมกอดนายกฯ ชื่นมื่น นายกฯบอกอย่าถามไกลจับมือ "ภท." ตั้ง รบ.ครั้งหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง