การเลือกตั้งเป็นหัวใจสำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยใช้สิทธิในการปกครองตนเอง โดยเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่แทนตน
สำหรับการเลือกตั้งนั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การเลือกตั้งทางตรงและการเลือกตั้งทางอ้อม
การเลือกตั้งทางอ้อม
ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์รัฐสภา ระบุว่า การเลือกตั้งทั้ง 26 ครั้งของไทยนั้น มีเพียงการเลือกตั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2576 ที่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ในการเลือกตั้งครั้งนั้นกำหนดไว้ว่า ส.ส.มีด้วยกัน 2 ประเภท คือประเภทที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน และอีกประเภทคือมาจากการแต่งตั้ง
การเลือกตั้ง ส.ส.โดยที่ประชาชนเป็นผู้เลือก จะให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิเลือกผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นผู้แทนตำบลจะไปเลือกตั้ง ส.ส.แทนประชาชนอีกขั้นหนึ่ง
การเลือกตั้งทางตรง
ต่อมาการเลือกตั้ง ครั้งที่ 2-26 นั้นเป็นการเลือกตั้งทางตรงทั้งหมด นั่นคือให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเลือก ส.ส. ด้วยตัวเอง
การเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์
ส่วนการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ คือการเลือกตั้ง ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2500 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตโปร่งใส มีการใช้อำนาจแทรกแซงบังคับให้ชาวบ้านเลือกผู้สมัครจากพรรครัฐบาล ทำร้ายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองโดยแจกใบปลิวโจมตี ใช้คนเวียนเทียนกันลงคะแนนที่เรียกว่า “พลร่ม” เมื่อปิดหีบแล้วมีการเอาบัตรลงคะแนนที่เตรียมไว้ใส่เข้าไปเรียกว่า “ไพ่ไฟ” รวมถึงแอบเปลี่ยนหีบเลือกตั้งในที่ลับตาผู้คน อีกทั้งใช้เวลานับคะแนนเลือกตั้งนานถึง 7 วัน 7 คืน
จนทำให้ประชาชนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง เกิดขบวนประท้วงขึ้น จนกระทั่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้ยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นไม่บริสุทธิ์ และจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ผู้ชุมนุมจึงสลายตัวไป
แต่การเลือกตั้งครั้งใหม่ก็ไม่ได้จัดขึ้น เพราะเกิดการรัฐประหารโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2500
การเลือกตั้งที่มีระยะห่างระหว่างกันนานที่สุด
การเลือกตั้ง ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2500 จนถึง ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2512 มีระยะห่างกันนาน 12 ปี เนื่องจากรัฐบาลขณะนั้นมาจากการรัฐประหาร มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา ซึ่งใช้เวลาร่างนานถึง 9 ปี แล้วเสร็จในปี 2511 จึงประกาศให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ขึ้น ก็คือการเลือกตั้ง ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2512
การเลือกตั้งที่มีระยะห่างระหว่างกันน้อยที่สุด
การเลือกตั้ง ครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2535 และ ครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2535 มีระยะห่างกัน 6 เดือน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2534 ก่อนการเลือกตั้งครั้งที่ 17 พล.อ.สุจินดา คราประยูร รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ทำการรัฐประหาร ต่อมาเมื่อจัดการเลือกตั้ง มีการเสนอชื่อ พล.อ.สุจินดา เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกครั้ง ทำให้ถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ จนนำไปสู่การชุมนุมทางการเมืองในเดือน พ.ค.2535 หรือ "พฤษภาทมิฬ" เกิดความสูญเสียเป็นวงกว้าง จน พล.อ.สุจินดา ต้องประกาศลาออก
และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมว่า "นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส." เมื่อภารกิจลุล่วง นายอานันท์ จึงประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และให้มีการเลือกตั้งครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2535
ที่มา : พิพิธภัณฑ์รัฐสภา