กรณีแท่งบรรจุซีเซียม-137 หายจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนแห่งหนึ่งใน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งแม้จะมีการแถลงว่าอาจจะมีการนำแท่งเหล็กไปหลอมในโรงเหล็ก หลังตรวจวัดซีเซียม-137 ตกค้างในถุงบรรจุฝุ่นแดง 24 ตัน
วันนี้ (21 มี.ค.2566) นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า ขณะนี้ ปส.เป็นห่วงเรื่องความเชื่อมั่นของประชาชน จึงได้ประสานให้ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงไปสอบทานในการตรวจวัดค่ารังสีที่ตรวจพบในพื้นที่โรงหลอมเหล็กและพื้นที่รัศมี 5 กม.พร้อมทั้งประสานทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ในการให้คำแนะนำกับไทย
เลขาธิการปส.กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินคดีกับโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำที่เป็นผู้ครอบครองซีเซียม-137 ทางปส.ได้แจ้งดำเนินคดีตามพ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 มาตรา 100 หากผู้ครอบครองวัสดุกัมมันตภาพรังสี ไม่แจ้งโดยพลัน หลังทำสูญหาย จะมีโทษปรับ 100,000 บาท และโทษจำคุก 1 ปี ซึ่งจากไทม์ไลน์ที่แจ้งหายล่าช้าเกือบ 20 วันหลังรู้ว่าท่อบรรจุซีเซียม-137 สูญหาย
โดยเหตุที่กฎหมายเขียนให้แจ้งโดยพลัน เพราะไม่ต้องการให้สารกัมมันตรังสีนี้ไปตกกับคนอื่น ถ้าแจ้งไวและและล้อมพื้นที่ไว้ ภายในโรงงานที่มีการขึ้นทะเบียนในการดูแลก็จะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้
โรงไฟฟ้าแห่งนี้ขออนุญาตครอบครองวัสดุกัมมันตรัง ในแพลน 5 เอ ประมาณ 16 รายการ มีหลายแบบ หลายหน้าที่แต่เครื่องจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล ซึ่งยังเป็นคำถามว่าทำไมถึงหายแล้วไม่รู้และออกจากพื้นที่ไปได้อย่างไร
อ่านข่าวเพิ่ม ตรวจ 70 คนงานไม่พบ "ซีเซียม-137" ติดตามสุขภาพอีก 3 เดือน
ตรวจฝุ่นแดง 24 ตันเทียบดีเอ็นซีเซียมจากโรงงาน
เมื่อถามว่าปส.จะเอาผิดเพิ่มเติมได้หรือไม่ นายเพิ่มสุข กล่าวว่า สาเหตุที่ยังไม่ฟันธงว่าซีเซียม-137 ที่ตรวจวัดค่ารังสีจากถุงบิ๊กแบ๊กฝุ่นแดง 24 ตันในโรงงานหลอมเหล็ก เพราะต้องมีการสอบสวนและหาหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อประกอบสำนวนคดี เพราะเรื่องดังกล่าวจะนำไปสู่การฟ้องร้องเอาผิดทั้งจากธุรกิจโรงหลอมเหล็กที่เสียหาย หรือหากมีกรณีผลกระทบกับคน สิ่งแวดล้อมในอนาคต
ปส.เก็บตัวอย่างของฝุ่นแดงในบิ๊กแบ็ก มาสอบย้อนกลับได้ว่าฝุ่นแดงที่ผสมซีเซียม-137 ในบิ๊กแบ็คจะมีปริมาณ 40 มิลลิคูรี ซึ่งเป็นค่าที่เทียบเคียงกับซีเซียมที่โรงไฟฟ้าขออนุญาตไว้ 80 มิลลิคูรีเมื่อ 27 ปีก่อนหรือไม่คล้ายกับดีเอ็นเอก็จะเชื่อมโยงทางคดีได้
อ่านข่าวเพิ่ม ย้อนไทม์ไลน์ แจ้ง-ค้นหาวัตถุกัมมันตรังสี "ซีเซียม-137"
ยังไม่ชัดแนวทางกำจัดฝุ่นแดงปนเปื้อนซีเซียม
นายเพิ่มสุข กล่าวว่า สำหรับถุงฝุ่นแดงในบิ๊กแบ็ก 24 ตันที่อยู่ในโรงงานหลอมเหล็ก มีการปิดล้อมพื้นที่ และตั้งวอร์รูม ตรวจสอบปริมาณรังสีต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดค่าตรวจได้ประมาณ 2 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ส่วนแนวทางเนื่องจากฝุ่นแดงที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ทางปส.จะกำกับในการกำจัดกากดังกล่าวตามกฎหมาย
ด้านนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีอะไรน่ากังวล สารกัมมันตรังสี ยังไม่สูงเกินกว่าค่าที่กำหนดทั้งในดิน และน้ำ ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี แต่จะให้หน่วยงานที่มีความรู้ ด้านปรมาณู เข้าร่วมตรวจสอบด้วยเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่า ไม่มีสารอันตรายปนเปื้อนอยู่ในดินและน้ำ
ยังไม่รับรายงานว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสารอันตรายเหล่านี้ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าสารอันตรายไม่มีการปนเปื้อนอยู่ในอากาศและดินเกินกว่าค่ามาตรฐาน
ขณะเดียวกันเวลา 12.00 น.นี้จะเชิญคณบดี และผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์ทั้งหมดที่อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวง มาร่วมประชุมเพื่อกำหนดแนว การดูแลสุขภาพของประชาชน
สำหรับในพื้นที่ ที่ตรวจพบซีเซียม ยังคงต้องกำหนดเป็นพื้นที่ปิดควบคุมการเข้าออก ใช้ความรู้ วิทยาการต่างๆ จาก ผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาจัดการ หลังจากนี้จะให้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์เข้ามากำจัดกากซีเซียม-137 อย่างปลอดภัย
ขณะเดียวกันได้ส่งเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานลงพื้นที่ไปพูดคุย ทำความเข้าใจ ให้ความรู้ กับประชาชน โดยย้ำว่าตอนนี้มีผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ลงพื้นที่จ.ปราจีนบุรี
ได้รับคำยืนยันกลับมาว่าสถานการณ์ยังไม่เป็นอันตรายกับคนในพื้นที่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ให้เวลาเจ้าหน้าทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนสบายใจ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไขคำตอบ! ผู้รับสารซีเซียม-137 มียารักษาหรือไม่
ขีดเส้น 3 วัน ผู้ว่าฯ ระยอง สั่งขน "ฝุ่นแดง" ซีเซียม-137 กลับต้นทาง
ยืนยันถูกหลอมแล้ว แท่งเหล็กบรรจุ "ซีเซียม-137" ตรวจเลือดกลุ่มเสี่ยง