ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อันตราย? "ซีเซียม-137" ถูกหลอมเป็นฝุ่นแดง คน-ระบบนิเวศเสี่ยง

ภัยพิบัติ
20 มี.ค. 66
13:07
19,394
Logo Thai PBS
อันตราย? "ซีเซียม-137" ถูกหลอมเป็นฝุ่นแดง คน-ระบบนิเวศเสี่ยง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เราไม่มั่นใจว่าอุปกรณ์นั้นหลอมหรือยัง แต่เข้าไปแล้วเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว แต่ความร้อนระดับ 600-1,000 องศาเซลเซียส กลายเป็นฝุ่นเหล็กแดง เป็นการเผาในระบบปิด ตอนนี้วัดรอบโรงงานหลอมเหล็ก ไม่พบรังสีรั่วไหลออกมา

คำยืนยันจาก นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) บอกในระหว่างการแถลงข่าวหลังข่าวค้นพบท่อเหล็กบรรจุ ซีเซียม-137 ที่หายจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งหนึ่งใน จ.ปราจีนบุรี หายปริศนา กระทั่งเมื่อวานนี้ (19 มี.ค.) ตรวจพบค่ารังสีจากโรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง

คำถามที่เกิดขึ้นคือ มีการรั่วไหลของกัมมันตรังสีสารซีเซียม-137 ที่ถูกหลอมออกไปมากน้อยแค่ไหน แต่นายเพิ่มสุข บอกว่า มีรายงานพบว่ามีการนำขี้เถ้า 1 กระสอบจาก 24 กระสอบ 24 ตันไปฝังในพื้นที่ใกล้โรงงาน และตอนนี้ได้สั่งเก็บดิน และขี้เถ้าทั้งหมดเข้าสู่ระบบ เพราะฝุ่นเหล็กมีราคา

แม้จะมีการยืนยันว่าไม่พบการปนเปื้อนในดิน อากาศ และการฟุ้งกระจายในรัศมี 5 กม.จากโรงงานหลอมเหล็ก 

ประเด็นต่อมาต้องตรวจสุขภาพคนงานที่ทำงาน และตรวจสอบว่าฝุ่นแดงถูกส่งออกไปในจุดไหนบ้าง ใครที่นำแท่งเหล็กมาส่ง เพื่อหาคนรับผิดชอบกับเหตุการณ์นี้ แต่ไม่พบการเปรอะเปื้อนบนร่างกายของพนักงาน

พบการเปรอะเปื้อนเฉพาะในฝุ่นแดงที่ถูกหลอมออกมาเท่านั้น และล็อตการผลิตก่อนหน้าที่ฝุ่นแดงออกไป ตรวจสอบไม่มีการเปรอะเปื้อนของซีเซียม-137 

อ่านข่าวเพิ่ม ย้อนไทม์ไลน์ แจ้ง-ค้นหาวัตถุกัมมันตรังสี "ซีเซียม-137"

ภาพ: เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat

ภาพ: เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat

ภาพ: เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat

ฝุ่นแดงปนเปื้อน น่ากลัวแค่ไหน? 

แต่กลับไม่ตรงกับข้อมูลของ นายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ระบุในเฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat ระบุว่า ถ้าแท่งโลหะที่บรรจุซีเซียม-137 ถูกหลอมรวมกับเศษเหล็กในโรงงานหลอมเหล็กแล้ว ผลกระทบที่ตามมาคือ

ฝุ่นขนาดเล็กของ ซีเซียม-137 ที่ปล่อยออกมาจากปลายปล่องจะกระจายสู่บรรยากาศ และตกลงสู่แหล่งน้ำ ดินที่อยู่รอบๆ โรงงาน และเกิดการปนเปื้อนเข้าสู่วงจรอาหารได้แก่ ผัก ผลไม้ อาหารจากแหล่งน้ำใกล้เคียง และอาหารแปรรูปจากวัตถุดิบทางการเกษตร รวมทั้งอาจมีบางส่วนที่ประชาชนหายใจเข้าไปด้วย

สารนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายบางส่วนจะถูกขับออกจากร่างกายทางเหงื่อและปัสสาวะและบางส่วนจะตกค้างและสะสมในกล้ามเนื้อ ตับ ไขกระดูก หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะทำให้เกิดความผิดปกติในระดับโครโมโซมคือเป็นมะเร็งนั่นเอง

อ่านข่าวเพิ่ม ย้อนรอยโลกเผชิญ "ฝุ่นกัมมันตรังสี" จากซีเซียม-137

ภาพ: เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat

ภาพ: เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat

ภาพ: เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat

หากโรงงานหลอมเหล็กมีอุปกรณ์ควบคุมมลพิษทางอากาศ เช่น Baghouse Filter โดยจะทำการกรองฝุ่นเหล็กขนาดเล็กที่ปนเปื้อนสาร ซีเซียม-137 หรือที่เรียกว่า "ฝุ่นแดง" ไว้ในถุงกรองในปริมาณมาก ซึ่งโรงงานหลอมเหล็กจะขายฝุ่นแดงดังกล่าวให้กับโรงงานประเภท 106 นำไปรีไซเคิล เพื่อสกัดเอาธาตุสังกะสีไปใช้ ซึ่งจะทำให้สาร ซีเซียม-137 แพร่กระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้นและเกิดอันตรายต่อประชาชนและระบบนิเวศ

เมื่อเข้าเตาหลอมแล้วส่วนหนึ่งจะกลายเป็น "ขี้เถ้าหนัก" (Bottom ash)โดยจะมีอนุภาคของสารซีเซียม-137 ปนเปื้อนในเถ้าหนักด้วย หากโรงงานนำไปฝังกลบใต้ดินก็อาจปนเปื้อนน้ำใต้ดิน และน้ำผิวดิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารและน้ำต่อไป

เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องสวมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย (PPE) เพื่อป้องกันการได้รับรังสีและทำการตรวจการปนเปื้อนของสารซีเซียม-137ภายในโรงงานทุกบริเวณ เช่น เถ้าหนัก ฝุ่นแดง กองเหล็ก เตาหลอม ดินและแหล่งน้ำและฝุ่นละอองในโรงงาน เป็นต้น รวมทั้งต้องตรวจหารังสีปนเปื้อนที่ตัวพนักงานทุกคน

อ่านข่าวเพิ่ม พบท่อเหล็กต้องสงสัย "ซีเซียม-137" ที่คาร์แคร์-หาตัวเจ้าของรถ

ชี้ไอจากการเผาไหม้ลอยไกลรัศมี 1,000 กม.

สอดคล้องกับข้อมูลของ นพ.สมรส พงศ์ละไม แพทย์ประจำศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา โพสต์เฟซบุ๊ก Somros MD Phonglamai ว่า ถ้าซีเซียม-137 ถูกหลอมเผาไหม้ และกลายเป็นไอ สามารถออกไปได้เป็นหลักร้อยถึงพันกิโลเมตรขึ้นกับลม (เหตุการณ์ที่ Chernobyl พบว่า ซีเซียม-137 ปลิวไปถึงสวีเดน 1,000 กิโลเมตร) และทำร้ายสิ่งมีชีวิตได้ทั้งการสัมผัสโดยตรง การกิน และการหายใจ

ซีเซียม-137 จะสะสมในดิน น้ำ อาหาร ทำให้เกิดผลเสียต่อสัตว์และมนุษย์ ปลา นก ไก่ หมู หมา แมว วัว ฯลฯ อนุภาคบีต้าและรังสีแกมมา จะทำลาย DNA, ทำให้เกิด mutation ถ้าไม่ตายก็เกิดมะเร็งต่อ โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไธรอยด์

ซีเซียม-137  มีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี ดังนั้นจะใช้เวลาในธรรมาชาติไม่ต่ำกว่า 100 ปีจึงจะสลายหมด คนที่จะได้รับผลกระทบน่าจะหลายแสนและเป็น 100 ปี จะมีคนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไธรอยด์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในพื้นที่เสี่ยง
คนที่คิดว่าเสี่ยงต่อการสัมผัส ซีเซียม-137 ควรเฝ้าระวังเร่งด่วน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผิวหนังไหม้โดยไม่ทราบสาเหตุ

รัฐควรเก็บบันทึกข้อมูลอย่างโปร่งใส มีโอกาสที่คนจะสัมผัสปริมาณมาก ยิ่งคนที่อยู่ใกล้ในระยะ 5-10 เมตร น่าจะอันตรายมาก (ไม่รู้ว่าระยะจริงที่ปลอดภัยเท่าไหร่ เพราะขึ้นกับความเข้มข้นที่เหลืออยู่และ shield ที่ป้องกัน)

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปส.เตือน "ซีเซียม-137" สุดอันตราย อย่าผ่าท่อ ปูพรมร้านของเก่า

ระดมค้นโรงไฟฟ้าหา "ซีเซียม-137" เพิ่มเงินชี้เบาะแสเป็น 1 แสนบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง