วันนี้ (17 มี.ค.2566) ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เผยภายหลังการประชุมร่วมกับธนาคารแห่งประ เทศไทย สมาคมธนาคารไทย ตำรวจไซเบอร์ ปปง.และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อเตรียมความพร้อม หลังกฎหมายปราบปรามภัยไซเบอร์ มีผลบังคับใช้ และปลดล็อกข้อจำกัดที่เคยเป็นอุปสรรค ในการช่วยเหลือเหยื่อถูกมิจฉาชีพหลอกลวง
ผู้เสียหายสามารถขอให้ธนาคารอายัดบัญชีปลายทางได้ทันทีนาน 72 ชั่วโมง หลังจากนั้นต้องแจ้งความเพื่อให้ตำรวจตรวจสอบได้ทุกท้องที่ตลอด 24 ชั่วโมง
ตำรวจประสานผู้เกี่ยวข้อง ตรวจสอบว่า เป็นความเสียหายจริง หรือ การกลั่นแกล้ง หรือ หวังผลในทางทุจริตภายใน 72 ชั่วโมง ก่อนดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปพร้อมเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการ และ อนุกรรมการ ทีมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ปลัดดีอีเอส กล่าวอีกว่า ในสัปดาห์หน้าประสานการทำงานตรวจสอบธุรกรรมต้องสงสัยก่อนเกิดเหตุ เพื่อสกัดกั้นและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น พร้อมเตือนผู้ รับจ้าง เปิดบัญชีม้า ขายซิมผี ให้เร่งแจ้งปิดบัญชีม้า ก่อนถูกดำเนินคดี ซึ่งมีโทษจำคุก 2-5 ปี ปรับ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ
"ซิมผี"ลวงเหยื่ออายัดได้ทันที
ด้าน พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท.กล่าวว่า ขณะนี้ตำรวจมีบัญชีต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นบัญชีม้า หรือเกี่ยวข้องกับขบวนการหลอกโอนเงิน ไม่น้อยกว่า 30,000 บัญชี
รวมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ที่อาจเป็นซิมผี ที่ใช้หลอกลวงเหยื่อ ซึ่งตำรวจสามารถใช้อำนาจ ตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้ อายัดได้ทันที โดยไม่ต้องรอการตรวจสอบเหมือนอดีต และเตือนผู้ที่จะใช้กฎหมายนี้กลั่นแกล้งผู้อื่น ระวางโทษทางอาญาเช่นเดียวกัน
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทย อยู่ระหว่างพัฒนาระบบกลาง เพื่อ อายัด และตรวจสอบ ธุรกรรมต้องสงสัยแบบอัตโนมัติ ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จทำให้เมื่อมีผู้เสียหายร้องขอให้อายัดบัญชีม้า จะต้องโทรศัพท์แจ้ง เจ้าหน้าที่ ธนาคาร ดำเนินการ โดยธนาคารทุกแห่งได้ปรับระบบทำงาน ให้มีหมายเลขโทรศัพท์รับเรื่องดังกล่าวโดยตรงแล้ว
ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกชุดมาตรการสนับสนุนป้องกันภัยไซเบอร์ทางการเงินแล้ว โดยสถาบันการเงินทุกแห่ง ต้องปรับระบบเพิ่มความเข้มข้นในการยืนยันตันตน เพื่อเปิดบัญชี และกำหนดให้อุปกรณ์สำหรับทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ บัญชีละ 1 อุปกรณ์เท่านั้น
คาดว่า มาตรการทั้งหมดนี้ จะช่วยลดความเสียหายจากมิจฉาชีพได้ แต่กรณีการชดเชยเยียวยาความเสียหายมากน้อยอย่างไร ต้องพิจารณารายละเอียดเป็นรายกรณี
ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานสถิติความเสียหายธุรกรรมการเงินออนไลน์ ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียหาย มากกว่า 201,000 คนคิดเป็นเงิน สูงถึง 31,000,000 ล้านบาท
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง