ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตำแหน่ง-หน้าที่-สถานที่ และ นาย ปมเครียดสะสม "ตำรวจ"

สังคม
16 มี.ค. 66
14:11
1,423
Logo Thai PBS
ตำแหน่ง-หน้าที่-สถานที่ และ นาย ปมเครียดสะสม "ตำรวจ"
ประเด็นเครียดสะสมของ "สารวัตรกานต์" เป็นที่พูดถึงอย่างมาก ซึ่งตำรวจนายอื่นก็สะท้อนอีกหลายปมปัญหาที่ทำให้อาชีพนี้เจอความเครียดสะสม และทำให้ความอดทนนั้นหมดไป บางคนมองเรื่องวิ่งเต้น บางคนเป็นเรื่องครอบครัว แต่ทางบำบัดจิตช่วยเหลือตำรวจนั้น "ยังไม่มากพอ"

"ความเครียด" เรียกได้ว่าเหมือนเงาตามตัวทุกคน ไม่เว้นว่าจะตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ ไปจนถึงคนชรา คนสุขภาพดีหรือเจ็บป่วย แต่ความเครียดก็จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่ "หน้าที่" ประจำตัวของแต่ละคน คนขายของก็อาจจะมีความเครียดว่าวันนี้จะขายของหมดไหม ลูกค้าจะเยอะไหม จะมีเงินไปหมุนซื้อของมาขายต่อในวันต่อๆ ไปหรือไม่ พนักงานออฟฟิสก็เครียดว่าจะส่งงานทันหรือไม่ งานเก่ายังไม่ทันสะสาง งานใหม่ก็มาจ่อคิวแล้ว ไหนจะเพื่อนร่วมงาน บรรยากาศการทำงานอีกสารพัด

ตำรวจก็เช่นกัน

ไทยพีบีเอสออนไลน์พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงสาเหตุต่างๆ ที่คาดว่าจะเป็นชนวนความเครียดในการปฏิบัติงานของตำรวจ

ไม่ได้มีแค่เรื่องงานที่ทำอย่างเดียวหรอก แต่เรื่องส่วนตัวก็คงมีเอี่ยวด้วย

มุมมองของนายตำรวจใหญ่คนหนึ่งที่เกริ่นถึงข่าวสารวัตรคลั่ง ก่อนจะเล่าให้ทีมข่าวฟังว่างานตำรวจยิ่งโดยเฉพาะฝ่ายสอบสวน จะมี "ความเครียดสะสม" สูงมากถ้าเทียบกับฝ่ายอื่นๆ การปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละวันที่ต้องเจอกับคนหมู่มาก ต้องคอยรับฟังปัญหา ไกล่เกลี่ยเรื่องราวของประชาชน ถือว่ารับความเครียดเข้าตัวมาแบบรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง

วิ่งไม่ดี ไม่มีตั๋ว

ภารกิจที่ต้องช่วยเหลือประชาชนก็ส่วนหนึ่ง อีกส่วนก็ปากท้องตัวเองและครอบครัว "นาย" หรือผู้บังคับบัญชาระดับสูงกว่า ก็เป็นอีกส่วนใหญ่ๆ ที่เป็นเหมือนดาบ 2 คมของผู้ใต้บังคับบัญชา

เข้าใจกับทำใจ มันคนละเรื่องนะ เวลาที่คำสั่งโยกย้ายใกล้จะออก มันลุ้นหนักยิ่งกว่าลุ้นเลขสลากแต่ละรอบอีก

เสียงจาก "หลังบ้าน" ของตำรวจจราจรนายหนึ่งที่บอกกับทีมข่าว เธอยอมรับว่าการโยกย้ายแต่ละครั้งที่สามีต้องถูกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่อื่นก็นับเป็น "ความเครียด" อย่างหนึ่งต่อตัวตำรวจเช่นกัน การทำงานที่เจอเรื่องเหนื่อยๆ เครียดๆ มาทั้งวัน กลับบ้านมาก็อยากเจอคนรัก ครอบครัว ลูกหลาน มันก็เป็นกำลังใจ พลังใจให้เริ่มต้นทำภารกิจวันต่อๆ ไปได้

ฉันใดฉันนั้นกับผู้เป็นภรรยา ที่ก็เครียดสะสมตามงานที่สามีไปทำ

เป็นตำรวจจราจร ถึงจะไม่ต้องไปวิ่งจับใครที่ไหน แต่ก็กลัวรถยางแตกขับมาชนนะ

หากจะเรียกว่าการพยายามทำผลงานให้ดีเพื่อให้เข้าตาผู้บังคับบัญชาคือ "การวิ่งเต้น" ก็คงขึ้นอยู่กับทัศนคติแต่ละบุคคล แต่ต้องไม่ลืมว่า ตำรวจก็ไม่สามารถลุยเดี่ยวได้ในทุกสถานการณ์ การได้ทำงานร่วมกับทีมงานที่เข้าใจกันก็เป็นสิ่งที่ตำรวจอยากให้เกิดขึ้น

วิ่งเต้นก็เหมือนเรื่องผี ที่ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณส่วนบุคคล

เป็นทุกอย่าง เหลือแต่ตำรวจที่ไม่ได้เป็น

ตำรวจจราจรนายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันงานของตำรวจแทบจะเป็นงานที่ไม่ใช่งานของตำรวจที่แท้จริง หลายโครงการ หลายนโยบายที่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาชั้นสูงมานั้น เมื่อมาดูในรายละเอียดกลับพบว่า ส่วนงานที่ต้องรับผิดชอบ หรือมีความชำนาญ ควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงอื่นมากกว่า

เช่น โครงการ “1 ตำรวจ 1 ผู้ป่วยจิตเวช” ถ้าอ่านในรายละเอียดทั้งหมดจะเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจทั้ง 100% เลย แต่ด้วยความที่ตำรวจเราเองไม่มีกระทรวงเป็นของตัวเอง เราทำได้แค่รับคำสั่งและปฏิบัติตามจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงเท่านั้น

แม้การปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาถือเป็น 1 ในหน้าที่ของตำรวจชั้นผู้น้อยก็จริง แต่หากสิ่งที่ถูกสั่งให้ทำไม่ได้เป็นหน้าที่โดยแท้ ก็ถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่ตำรวจที่แท้จริงเหมือนกัน

ถ้าตำรวจต้องมาทำงานที่ไม่ใช่งานตำรวจ แล้วจะมีกระทรวงอื่นๆ ไว้ทำไม?

ตำรวจควรต้องตรวจจิต

ขั้นตอนการสอบนายร้อยตำรวจจะมีข้อสอบสุขภาพจิต 100 ข้อ และวิเคราะห์คะแนนโดยผู้เชี่ยวชาญทั้ง จิตแพทย์ นักสุขภาพจิต ก่อนที่จะบรรจุเข้ารับราชการตำรวจ แต่นั่นจะเป็นขั้นตอนการตรวจสุขภาพจิตครั้งเดียวในชีวิตตำรวจ หลังจากนั้นไม่มีการเรียกให้ตำรวจเข้ารับการตรวจสอบความเครียด หรือประเมินความเครียดอีกเลย

แต่หลังจากที่มีข่าวตำรวจเครียดและก่อเหตุเพิ่มมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เปิดสายด่วน 081-932-0000 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นช่องทางให้ตำรวจและครอบครัวได้เข้าถึงการดูแลและบำบัดจิต เพื่อคลายความวิตกกังวลจากการทำงานได้

และผู้บังคับบัญชาระดับสูงต้องพร้อมให้ความช่วยเหลือ หากมีคำสั่งจากแพทย์ให้พักราชการ ต้องพร้อมอนุญาต และเข้าพูดคุยเพื่อบรรเทาทุกข์

แต่ในมุมมองของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือตำรวจผู้น้อย การมีประวัติเรื่องเจ็บป่วย อาจจะไม่ใช่ใบผ่านทางที่จะได้ตั๋วดีๆ เพื่ออนาคตก็ได้ หลายคนถึงเลือกจะไม่เข้ารับการรักษา ซึ่งประเด็นนี้ก็ยิ่งตอกย้ำให้ความเครียดที่ควรถูกระบายออกกลับถูกสะสมไปเรื่อยๆ

ในฐานะผู้บังคับบัญชาระดับต้น การพูดคุยกับลูกน้องบ่อยๆ เรื่อยๆ เป็นที่ปรึกษา เข้าอกเข้าใจ คือสิ่งสำคัญที่สุด และอาจช่วยตัดตอนไม่ให้เขามีความเครียดสะสมได้ ผมพาเขาไปทำงาน ก็เหมือนเอาลูก เอาสามีเขาไปทำงาน ถ้าพวกเขาได้รับอันตราย คนข้างหลังพวกเขาจะอยู่ยังไง เราต้องคิดถึงคนเหล่านี้ให้มาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง