ก้อนหินที่มีบางส่วนเป็นสีเขียวสด คือ หินที่มีพลาสติกละลายปะปนเป็นส่วนหนึ่งของก้อนหินไปด้วย ถูกพบที่เกาะตรินดาจี ที่เป็นเกาะภูเขาไฟในบราซิล
นักวิจัยเรียกสิ่งนี้ว่า plastiglomerates คำนิยามคือ เป็นหินชนิดใหม่ที่สมาคมธรณีวิทยาอเมริกาค้นพบตั้งแต่ปี 2013 ก่อตัวจากพลาสติกเมื่อถูกความร้อนและละลายรวมตัวกับทราย หิน เปลือกหอย และปะการัง ซึ่งพลาสติกจะยึดเอาเศษวัสดุต่าง ๆ เชื่อมติดไว้ด้วยกัน
เกาะแห่งนี้ที่พบตั้งอยู่ห่างจากรัฐ Espirito Santo ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิลไปกว่า 1,140 กิโลเมตร ทำให้การค้นพบครั้งนี้สะท้อนถึงระดับความรุนแรงจากมลภาวะที่มนุษย์ก่อขึ้นบนส่งและกำลังแผ่กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ จนกลายเป็นเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรทางธรณีวิทยา
จากการตรวจสอบพบว่า พลาสติกที่พบหลัก ๆ มาจากแห ซึ่งเป็นขยะที่พบได้ปกติตามหาดบนเกาะนี้ เพราะกระแสน้ำมักพัดพาเอาเศษแหอวนมาสะสมบนหาด และเมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น พลาสติกจึงละลาย จนหลอมกลายเป็นเนื้อเดียวกับวัสดุในธรรมชาติบนชายหาดของเกาะนี้
ขณะที่เกาะแห่งนี้เป็นสถานที่สำหรับการอนุรักษ์เต่าตนุที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะแต่ละปีจะมีเต่าตนุหลายพันตัวว่ายมาวางไข่ที่เกาะ และบนเกาะยังปลอดภัยเพราะไม่มีประชาชนอาศัยอยู่ มีเพียงทหารจากกองทัพเรือบราซิลจำนวนหนึ่งเท่านั้น ที่ตั้งฐานอยู่บนเกาะเพื่อดูแลเต่าเหล่านี้ และตัวอย่างพลาสติกต่าง ๆ ที่นักวิจัยพบก็อยู่ในบริเวณเดียวกันกับที่เต่าวางไข่