ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รฟท.ปฏิเสธเลือกปฏิบัติ กรณี "เขากระโดง" ยืนยันทำตามขั้นตอน

การเมือง
10 มี.ค. 66
14:04
3,285
Logo Thai PBS
รฟท.ปฏิเสธเลือกปฏิบัติ กรณี "เขากระโดง" ยืนยันทำตามขั้นตอน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การรถไฟแห่งประเทศไทย ยืนยัน กรณีที่ดิน "เขากระโดง" จ.บุรีรัมย์ ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.และตามขั้นตอนกฎหมาย อย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ

วันนี้ (10 มี.ค.2566) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ออกหนังสือ ชี้แจง โดยระบุว่า ตามที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้ออกมาระบุว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่า "การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 เป็นการออกโฉนดในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน จึงเป็นการออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้แจ้งกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว”

การรถไฟแห่งประเทศไทยในฐานะเจ้าของที่ดินบริเวณเขากระโดงไม่ดำเนินการเพิกถอนโฉนดกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ และเครือญาติ ที่ละเมิดเข้าไปทำประโยชน์ที่ดินบริเวณเขากระโดง รวมถึงไม่ฟ้องศาลยุติธรรมเพื่อเพิกถอนโฉนดเฉกเช่นประชาชนทั่วไป ถือเป็นการละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ นั้น

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย ขอเรียนชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนครบถ้วนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

ตลอดเวลาที่ผ่านมา การรถไฟฯได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.และตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องครบถ้วน โดยไม่ได้เพิกเฉยหรือเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด

การรถไฟฯ ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ไม่ได้เพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่ สืบเนื่องจากหนังสือของนายชูวิทย์ เรื่องขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง ลงวันที่ 6 มีนาคม 2566 โดยอ้างถึงหนังสือของ ป.ป.ช. ลงวันที่ 14 กันยายน 2554 ถึงการรถไฟฯ เรื่องขอให้ดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ นั้น

หนังสือของ ป.ป.ช.ดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก กรณีที่ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวหาอดีตรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยกับพวก (ในขณะนั้น) ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยไม่ดำเนินการกับผู้รุกของการรถไฟฯ ในพื้นที่บริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์

ซึ่ง ป.ป.ช.ในขณะนั้น ได้มีคำวินิจฉัยที่เกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับการบุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ ในสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องกล่าวหาเลขดำที่ 51910034 เลขแดงที่ 14959054 ในเอกสารหน้าที่ 50 ว่า “ในช่วงเวลาระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งผู้รักษาในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย นั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการเกี่ยวกับการบุกรุกที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณเขากระโดงต่อเนื่องมาโดยตลอด กับกรมที่ดิน และจังหวัดบุรีรัมย์ จนกระทั่งผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ

ทั้งนี้เนื่องจากกรมที่ดินยังไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าว ก็ย่อมเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ถูกกล่าวหากับพวกยังไม่อาจดำเนินคดีกับผู้บุกรุกได้ในทันที จึงยังไม่เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด

ส่วนผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ การรถไฟแห่งประเทศไทยเห็นว่าไม่สามารถฟ้องร้องได้เนื่องจากบุคคลดังกล่าวมีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งออกโดยกรมที่ดิน จนกว่าจะมีการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวเสียก่อน จึงสามารถดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวในข้อหาบุกรุกได้ ผู้ถูกกล่าวหามิได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด”

ซึ่งหมายความว่าการรถไฟฯ จะสามารถดำเนินการกับผู้บุกรุกในที่ดินของการรถไฟฯ ได้ภายหลังจากกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวแล้ว การรถไฟฯ ได้ยึดถือคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ดังข้างต้น เป็นแนวทาง และถือปฏิบัติตลอดมา

โดยการรถไฟฯ ได้มีหนังสือแจ้งให้กรมที่ดินให้ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ตั้งแต่ปี 2555 – 2564 จำนวนอย่างน้อย 5 ฉบับ แต่กรมที่ดินก็ยังไม่ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ทั้งหมดในพื้นที่ ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ตามที่ร้องขอแต่อย่างใด การรถไฟฯ จึงมีความจำเป็นต้องนำคดีฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 โดยเป็นการฟ้องเพื่อให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์จำนวนมากกว่า 900 แปลง ซึ่งไม่ใช่เป็นการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์เฉพาะแปลงใดแปลงหนึ่งหรือของบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด

ในช่วงปี 2555 เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ ป.ป.ช.ได้แจ้งให้การรถไฟฯ ดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดิน การรถไฟฯ มีราษฎรจำนวนหลายรายนำหลักฐาน ส.ค.1 ยื่นคำขอต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์เพื่อออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณทางแยกเขากระโดง ซึ่งผู้แทนการรถไฟฯ ได้คัดค้านการออกเอกสารสิทธิ์ ทำให้ราษฎร์กลุ่มหนึ่งเป็นโจทก์ฟ้องการรถไฟฯ เป็นจำเลยต่อศาล การรถไฟฯ จึงได้นำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ และแผนที่ทางแยกเขากระโดงที่ใช้ส่งให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินเลขที่ 3466 และเลขที่ 5864 ยื่นต่อศาลเพื่อพิสูจน์สิทธิ์ว่าที่ดินตามที่ราษฎร์ฟ้องปรากฏอยู่ในแผนที่ทางแยกเขากระโดงเป็นที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งต่อมาศาลฎีกาได้มีวินิจฉัยว่า “แผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375-650 เป็นที่ดินของการรถไฟฯ” โดยคำพิพากษาดังกล่าวจะผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้น ไม่สามารถนำไปบังคับคดีเพื่อขับไล่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คู่ความในคดีนั้นๆ ได้

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่ค้างคามาตั้งแต่ในอดีตให้เสร็จสิ้น เกิดความชัดเจน การรถไฟฯ จึงได้นำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ และแผนที่ทางแยกเขากระโดงที่ใช้ในกระบวนการพิจารณาของศาลฎีกายื่นฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ทับที่ดินของการรถไฟฯ ในพื้นที่ ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ พื้นที่ทั้งหมด 5,083 ไร่ จำนวนประมาณ 900 แปลง ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย ที่เป็นธรรม เท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่อย่างใด

ประกอบกับเป็นแนวทางที่การรถไฟฯ ได้เคยดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับที่ดินอื่น ๆ ของการรถไฟฯ เช่น การฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ทับที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณพังงา - ท่านุ่น จ.พังงา ซึ่งปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

การรถไฟฯ ยื่นฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครองกลาง เป็นการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของการรถไฟฯ และใช้ระยะเวลาไม่นานการรถไฟฯ ได้ยื่นฟ้องกรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดินต่อศาลปกครองกลาง กรณีไม่ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับที่ดินการรถไฟฯ ในพื้นที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ในคราวเดียวกัน ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 5,083 ไร่ จำนวนประมาณ 900 แปลง เพื่อให้ขอเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ทับที่ดินของการรถไฟฯ และถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินของการรถไฟฯ ในพื้นที่ ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ออกไปทั้งหมด พร้อมขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินค่าเสียหาย 707 ล้านบาท

คดีดังกล่าว ฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นเมื่อ 23 ก.ย.2564 ศาลปกครองสั่งรับฟ้องเมื่อเดือน มี.ค.2565 และเมื่อวันที่ 27 ม.ค.2566 ศาลปกครองกลางได้มีหมายแจ้งกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง คดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 ได้กำหนดให้วันที่ 7 มี.ค.2566 เป็นวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงซึ่งขั้นตอนต่อไปจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ ศาลปกครองกลางต่อไป

ทั้งนี้ หากศาลปกครองมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดว่า พื้นที่พิพาทดังกล่าวเป็นที่ดินของ การรถไฟฯ แล้ว การรถไฟฯ ก็จะได้ดำเนินการกับผู้ที่ถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ และจะสามารถนำพื้นที่ดังกล่าวออกจัดประโยชน์เพื่อสร้างรายได้ให้แก่การรถไฟฯ ต่อไป

การรถไฟฯ ขอยืนยันอีกครั้งว่า การดำเนินการในการแก้ไขปัญหาบริเวณที่ดินเขากระโดงที่ผ่านมา ได้ปฏิบัติตามกระบวนการขั้นตอนกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่อย่างใด

การรถไฟฯ ได้เคยตอบชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงไปแล้วหลายครั้ง ผ่านทางสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 ตามลิงก์แนบ

สรุปข่าวการรถไฟฯชี้แจง "ที่ดินเขากระโดง" ช่วงปี พ.ศ.2565   

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ศักดิ์​สยาม" ​​ชี้แจงปมที่ดินเขากระโดง​ อยู่ระหว่างพิสูจน์​สิทธิ 

 "ชูวิทย์" ตัดเค้กเปิดขบวนการทุจริตเขากระโดง-ทุบรถไฟสีส้ม 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง