วันนี้ (1 มี.ค.2566) นายเผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์กรณีการขยายผลแก๊งลอบค้าสัตว์ป่าในพื้นที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งพบของกลางตัวเงินตัวทอง หรือเหี้ยที่ยังไม่ตายกว่า 30 ตัว และซากเหี้ย 59 ตัว
ล่าสุดยังอยู่ระหว่างการขยายผลร่วมกับตำรวจ บก.ปทส.เนื่องจากมีการให้ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์อ้างว่ามีการส่งเนื้อแปรรูปไปทำอาหารป่า และระบุว่านำไปทำลูกชิ้นขาย ซึ่งตอนนี้ยังต้องตรวจสอบข้อมูลว่าเป็นไปได้หรือไม่
นายเผด็จ กล่าวว่า สำหรับเหี้ย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และยังไม่มีการอนุญาตให้มีการเพาะเลี้ยง ดังนั้นการจับตัวเหี้ยจึงนำมาจากแหล่งธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งต้องขยายผลต่อว่าไปจับมาจากแหล่งไหนบ้าง
สำหรับการขยายผลเจ้าของบ้านที่ชำแหละเนื้อเหี้ย รับสารภาพว่าเดิมเขาเป็นแค่คนจับส่ง รวบรวมทีละ 2-5 ตัว และพลิกผันในการชำแหละส่งขายเนื้อให้กับร้านอาหารป่าใน จ.ตราด ราคาพุ่งเป็นกก.ละ 110 บาท
ยันไม่ปลดล็อกเพาะเชิงการค้า
ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวว่าจะปลดล็อกให้เลี้ยงตัวเหี้ยเชิงการค้า แต่กรมอุทยานฯ ยังยืนยันว่าไม่เคยมีแนวคิดที่จะอนุญาตให้เลี้ยงเหี้ยเชิงการค้าได้ เหตุผลเพราะยังไม่ได้อยู่ในสถานะที่เพาะพันธุ์ตามกฎหมาย
การที่เราจะกำหนดสัตว์ชนิดใด ต้องตรวจสอบว่ามีศักยภาพในการเพาะเลี้ยงได้จริง ไม่ใช่มีตามธรรมชาติไปจับมา และต้องมีข้อมูลทางวิชาการรองรับ ตอนนี้ยังไม่มีจำนวนประชากรว่ามีมากน้อยแค่ไหน
นายเผด็จ กล่าวว่า แม้ว่าในกทม.-ปริมณฑล จะพบเห็นได้ทั่วไปในชุมชน และมีน้ำท่วมขัง และมีอาหารชุกชุม และบางส่วนก็ได้รับความเดือดร้อนจากสัตว์เหล่านี้ เพราะเหี้ยเพียง 5-6 ตัวก็ส่งผลกระทบ เพราะเป็นสัตว์ที่กินทั้งซากและของสด และมีการปรับตัวขึ้นต้นไม้ ซุกอยู่บนดินและในน้ำได้
ที่ผ่านมากรมอุทยานฯ ได้รับร้องเรียนให้ไปช่วยจับตัวเหี้ยในชุมชน ที่สร้างความเดือดร้อน กินเป็ด ไก่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าใครจะทำร้ายหรือฆ่าได้ มันมีกฎหมายคุ้มครอง
อ้างเหี้ยเป็นเนื้อแลน เพิ่มมูลค่า
ด้านนายอนันต์ ศรีผุดผ่อง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก กรมอุทยานฯ กล่าวว่า คดีดังกล่าวทาง ปทส.ได้ขยายผลแกะรอยมาจากร้านอาหารป่าในพื้นที่จ.ตราด ที่เป็นปลายทางในการสั่งซื้อตัวเหี้ย ชำแหละจากพื้นที่ สุพรรณบุรี เนื่องจากแอบอ้างว่าเป็น "ตัวแลน" อาหารป่าที่คนยังบริโภค
มีการแกะรอยตามมาปลายทาง เจ้าของบ้านที่ถูกจับรับสารภาพว่ารับซื้อตัวเหี้ยมีชีวิตในราคา กก.ละ 25 บาท มีหลายขนาด ตั้งแต่ 10-20 กก.และจะชำแหละตามออร์เดอร์ที่สั่งมาจาก จ.ตราด ส่วนใหญ่นำไปทำอาหารป่า และอ้างเป็นเนื้อแลน เป็นสันบ้องส่วนลูกชิ้นยังไม่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม เจ้าของบ้านระบุว่าทำมา 1 ปีแล้วตั้งแต่โควิด และจะส่งไปร้านอาหารป่าใน จ.ตราด ส่วนหนังที่ชำแหละจะเผา และนำไปแอบทิ้งตามข้างทาง
สำหรับความผิดในการลักลอบค้าสัตว์ป่า ตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 17 ประกอบมาตรา 92 ข้อหา “ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซี่งสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 29 ประกอบมาตรา 89 ข้อหา “ร่วมกันค้าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ