“คนเมือง” หรือชาวล้านนา เรียก “ตลาด” ว่า “กาด”
แต่ไหนแต่ไรมา ใครไป “เชียงใหม่” เป้าหมายหนึ่งเมื่อไปถึง หรือก่อนกลับต้องไปให้ถึง คือ “กาดหลวง”

“กาดหลวง” หรือ “ตลาดวโรรส” ตลาดเก่าดั้งเดิมคู่เมืองเชียงใหม่ แหล่งขายของกินของฝาก ไม่ว่าจะเป็นไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม แคบหมู ผลไม้สด ผลไม้แปรรูป ของกินเล่น รวมถึงเสื้อผ้าพื้นเมืองและเสื้อผ้าแฟชั่นหลากหลายแบบ
พ่อค้า-แม่ค้า ที่ขายของอยู่ในกาดเก่าแก่แห่งนี้ ส่งเสียงเรียกผู้มาเยือนด้วยความเป็นมิตร พร้อมใบหน้าเปื้อนยิ้ม
ยงยุทธ ศรีนวล เจ้าของร้าน “โชคประเสริฐ” ขายของฝากและผลไม้แปรรูปในกาดหลวงมานานกว่า 20 ปี

เขาเทียบตอนนี้กับ 20 ปีก่อน การค้าขายในกาดหลวงไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่มีการสับเปลี่ยนสินค้ามาวางขาย เมื่อก่อนเกือบทุกร้านขายแหนม หมูยอ แคบหมู ตอนนี้หลายร้านเลิกไป เปลี่ยนมาขายผลไม้อบแห้งแทน
แม้แต่ร้านเขาก็เปลี่ยนมาขายผลไม้อบแห้งเป็นหลัก เพราะเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีนที่จ่ายเงินครั้งละ 400-500 บาทขึ้นไป เพื่อซื้อทุเรียน มังคุดและมะม่วงอบแห้ง

ทุกวันนี้ “กาดหลวง” ในสายตาของเขายังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ถึงอย่างนั้นก็ต้องช่วยกันโปรโมตการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามา โดยหวังว่ากาดหลวงจะเป็นสถานที่หนึ่งที่นักท่องเที่ยวมาเยือน
ถ้าเป็นไปได้ มาเต๊อะ มาเจียงใหม่ ทุกคนยินดีต้อนรับ
สิ่งหนึ่งที่ทีมข่าวมองเห็น คือ นานาทัศนะที่มีต่อ “กาดหลวง” กาดเก่าในยุคใหม่ แม้จะขายของในที่เดียวกัน แต่พ่อค้าแม่ค้าก็มองต่างกัน

“แหนมบุญศรี” ร้านชื่อดังในกาดหลวง ที่ยังคงขายไส้อั่ว แหนม แคบหมูและน้ำพริกหนุ่ม มาอย่างยาวนาน
นันทพร สุนทร ทายาทรุ่นที่ 2 รับช่วงต่อจากแม่ ทุกวันนี้ไม่ได้ขายเอง เพราะอายุมากแล้ว แต่ยังต้องมากาดหลวงเพื่อให้คำปรึกษากับน้องๆ และลูกหลานที่มาช่วย

“กาดหลวงทุกวันนี้ซบเซามากๆ มากที่สุด” เจ้าของร้านผู้ปักหลักค้าขายที่นี่นานกว่า 60 ปี มองว่ากาดหลวงเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมารุ่งเรืองมากกว่านี้ แต่ตอนนี้คนน้อย
เหมือนกับ รัชนี แสงบุญ เจ้าของร้าน “ศรีพรรณ” ร้านขายของฝากขึ้นชื่อที่อยู่กับกาดหลวงมานานกว่า 30 ปี
รัชนี เล่าว่า มีความผูกพันกับกาดหลวงและได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เมื่อก่อนคนเยอะ ใครมาเที่ยวเชียงใหม่ก็ต้องแวะกาดหลวง ซื้อของฝากครั้งละ 10-20 แพ็ก แต่ตอนนี้คนน้อย ซื้อของแค่พอกิน

เมื่อก่อน ถ้าเป็นวันหยุดคนจะเยอะ เฮโลเข้ามาในตลาด ตี 4 ตี 5 มีคนมาแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ 8-9 โมงก็ยังไม่มีคน
คนเดินกาดหลวงน้อยลง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเรื่องที่จอดรถที่มีน้อยและหายาก มีการขายแบบออนไลน์ที่ทำให้คนหาซื้อสินค้าได้สะดวก พฤติกรรมของลูกค้าจึงเปลี่ยนไป
ในละแวกกาดหลวง ยังมีกาดเก่าดั้งเดิมอีกหลายแห่ง ทั้ง “กาดต้นลำไย” และ “กาดเมืองใหม่” ล้วนเป็นครัวใหญ่ของเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง แต่ละวันมีคนมาซื้อวัตถุดิบและอาหาร พ่อค้า-แม่ค้ามารับของไปขายต่อ แบบครบจบที่เดียว

“กาดเมืองใหม่” ตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ ไม่ได้ขายผลผลิตที่ปลูกเฉพาะภาคเหนือเท่านั้น แต่ยังมีร้านค้านำวัตถุดิบจากแดนใต้มาขายด้วย
กาลิมะฮ์ ลูกจ้างร้านพริกแกงใต้ อวดวัตถุดิบที่คนกินติดใจ ทั้งเครื่องแกงนครศรีฯ ไตปลา ที่ขายดีเพราะในตลาดแห่งนี้มีคู่แข่งน้อย รวมถึงมันขี้หนู มะม่วงเบา ที่ปีหนึ่งจะมีสักครั้ง ก็ได้รับความสนใจจากลูกค้าเช่นกัน

แม้เป็นตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ของเชียงใหม่ แต่ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ตลาดแห่งนี้ก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย วันนี้โควิดเริ่มจาง แต่ตลาดก็ยังเงียบ ลูกจ้างสาวคนนี้จึงคาดหวังให้เศรษฐกิจดีขึ้น ทำมาค้าขายดีและคนต้องอยู่รอด
ถ้าเงียบกว่านี้ก็แย่มากเลยนะ ทุกวันนี้เงียบอยู่แล้ว พอได้บ้าง เงียบบ้าง
ตลาดเก่าไม่หายไป ตลาดใหม่เพิ่มเข้ามา
เชียงใหม่ เมืองแห่งเรื่องราวที่ถูกเล่าต่อ เมืองหนึ่งที่มี “ตลาดเก่า” ขึ้นชื่อ แต่วันนี้ก็มี “ตลาดใหม่” ที่ได้รับความนิยม ไม่ใช่แค่ตลาดซื้อสินค้า แต่เน้นชุมชน บรรยากาศร่มรื่น “เดินช้อปชิลๆ นั่งกินเพลินๆ”

“จริงใจ Market” ตลาดที่ได้รับความนิยมจากคนเชียงใหม่และนักท่องเที่ยว หลายคนมาที่นี่เพราะชอบบรรยากาศ มีสินค้ามากมาย พืชผักออร์แกนิคจากเกษตรกร อาหาร-เบเกอรี่โฮมเมด ของใช้-งานฝีมือ มีโซนนั่งชิล ฟังเพลง กินอาหารและจิบกาแฟ

ที่นี่ อาจตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนในเมืองใหญ่ เป็นพื้นที่ที่ผู้ค้ารุ่นเก่าและรุ่นใหม่มาเจอกัน
ไมตรี คำแก้ว แกะลายแก้วน้ำดินเผา วางขายให้คนเดินตลาด การเข้ามาค้าขายในตลาดนัดยุคใหม่แห่งนี้ ทำให้ได้พบคนมากมาย ได้เห็นศิลปะ เห็นงานฝีมือของคนอื่น เหมือนเป็นการเปิดโลกใหม่

พ่อค้าของแฮนด์เมดคนนี้ คาดหวังให้ จ.เชียงใหม่ เดินหน้าและพัฒนาไปให้ไกล เป็นเมืองที่ใช้ชีวิตได้สะดวกสบาย มีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก เพราะนั่นหมายถึงรายรับที่จะได้จากการขายของ
“กาดบะป๊าว” อีกหนึ่งตลาดเกิดใหม่ที่อยู่ไม่ไกลตัวเมืองเชียงใหม่ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บรรยากาศท้องร่องสวนมะพร้าว ตั้งแคร่ให้นั่งบนคันดิน เปิดขายอาหาร ขนม กาแฟและของที่ระลึก
ที่นี่ จึงเหมือนที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในครอบครัว เพื่อนพ้องและนักท่องเที่ยว

หญิงชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่มา 4 ปี เดินทางมาตลาดแห่งนี้พร้อมเพื่อนอีก 2 คน เธอบอกว่าชอบที่นี่ เพราะบรรยากาศดี
ในฐานะ “สะใภ้คนเมือง” มีสามีเป็นชาวเชียงใหม่ ได้สะท้อนว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่น่ารัก เงียบสงบและไม่อยากเห็นเชียงใหม่เป็นเหมือนกรุงเทพฯ หรือลอนดอนที่ดูวุ่นวาย

ไม่ว่าผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย “เชียงใหม่” ยังมีกลิ่นอายเมืองเหนือ มีมนต์เสน่ห์ล้านนา และ “ตลาด” ก็ยังเป็นศูนย์กลางของสังคม เป็นครัวของชุมชน แม้ในวันที่เชียงใหม่เปลี่ยนไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง