หลายคนน่าจะเคยประสบกับการสร้างบ้านแล้วมีปัญหาตามมามากมาย เช่น งบประมาณที่ตั้งไว้บานปลาย บ้านไม่เสร็จตามกำหนด ทีมช่างมีคนไม่พอ ผู้รับเหมาะทิ้งงาน กว่าจะได้เข้าไปอยู่จริงใช้เวลาเป็นปี แต่ที่รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ยกระดับการก่อสร้างบ้านครั้งใหญ่ เพราะสามารถสร้างบ้าน 2 ชั้น ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ภายในเวลาแค่ 2 อาทิตย์ หรือ 330 ชั่วโมงเท่านั้น และใช้คนงานเพียงแค่ 4-5 คน เรียกได้ว่าตอบโจทย์ทุกปัญหาการก่อสร้างบ้านได้อย่างลงตัว
โครงการก่อสร้างบ้าน 2 ชั้น ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิตินี้ เกิดขึ้นที่เมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเครื่องพิมพ์ที่ใช้ในการผลิตมีน้ำหนักมากกว่า 12 ตัน เทส่วนผสมคอนกรีตจากหัวฉีดทีละชั้น เพื่อสร้างบ้าน 2 ชั้น ทั้งหมด 3 ห้องนอน ขนาด 4,000 ตารางฟุต โดยใช้เวลาเพียง 330 ชั่วโมง หรือ 13 วันครึ่งในการสร้างบ้าน 1 หลัง
การสร้างบ้านลักษณะนี้ เป็นการก่อสร้างที่ผสมผสานระหว่างการพิมพ์ 3 มิติเข้ากับการสร้างบ้านแบบกรอบไม้ วิธีการนี้เป็นกลยุทธ์การใช้งานทั้ง 2 วัสดุได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความสามารถในการใช้งานการพิมพ์คอนกรีต 3 มิติในสหรัฐอเมริกา ซึ่งการทำบ้านกรอบไม้เป็นเทคนิคที่นิยมใช้ในการก่อสร้างมากที่สุด รวมถึงการผสมผสานของทั้ง 2 เทคนิคยังทำให้เกิดความสวยงามในด้านสถาปัตยกรรมอีกด้วย
การสร้างบ้านด้วยการพิมพ์ 3 มิติ จะมีการเลือกใช้วัสดุหลักเป็นคอนกรีต เนื่องจากทนต่อสภาพแวดล้อม และภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ดี เช่น พายุเฮอริเคน พายุหนัก ฝนฟ้าคะนอง และสภาพอากาศที่เลวร้าย อีกทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่สามารถจัดการกับความท้าทายอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี
เช่น ปัญหาการขาดแรงงานคน เนื่องจากเครื่องจักรสามารถยกน้ำหนักได้จำนวนมาก จึงลดการใช้แรงงานคนจำนวนมากไปได้ และใช้เวลาในการก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว เพราะเครื่องจักรสามารถทำงานได้ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน โดยใช้เวลาในการสร้างบ้าน 2 ชั้น จำนวน 1 หลัง เพียงแค่ 2 อาทิตย์เท่านั้น
ความท้าทายของการสร้างบ้านด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ คือ การพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ให้สามารถสร้างบ้านได้หลากหลายแบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางทีมต้องพัฒนาต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ จะเป็นกำลังสำคัญในวงการก่อสร้างในอนาคต เนื่องจากสามารถแก้ไขปัญหาทั้งการขาดแคลนคนงานและย่นระยะเวลาการก่อสร้างได้เป็นอย่างดี
ที่มาข้อมูล: hannah-office, goodnewsnetwork, reuters, npr
ที่มาภาพ: hannah-office
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech