ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตุรกีประกาศ "สถานการณ์ฉุกเฉิน" เปิดทางช่วยเหตุแผ่นดินไหว

ต่างประเทศ
8 ก.พ. 66
07:42
577
Logo Thai PBS
ตุรกีประกาศ "สถานการณ์ฉุกเฉิน" เปิดทางช่วยเหตุแผ่นดินไหว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้นำตุรกีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีผลบังคับใช้นาน 3 เดือน เปิดทางให้ช่วยเหลือและฟื้นฟูจากเหตุแผ่นดินไหว ขณะที่มีรายงานผู้เสียชีวิตทั้งในตุรกี-ซีเรียแล้วมากกว่า 7,200 คน

เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2566 เรเซป ไทยิป เออร์ดวน ประธานาธิบดีตุรกี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นระยะเวลานาน 3 เดือน ครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัดทางตอนใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดยประกาศให้บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อเปิดทางให้การช่วยเหลือทำได้สะดวกขึ้น

สถานการณ์ฉุกเฉินจะเปิดทางให้ประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรีผ่านกฎหมายได้ โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภา และยังมีผลให้สามารถจำกัดเสรีภาพในเรื่องต่างๆ ได้หากเห็นสมควร

อำนาจของรัฐภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินจะครอบคลุมถึงการขอให้ประชาชนหรือภาคเอกชนมอบที่ดิน อาคาร ยานพาหนะ ยาและสิ่งจำเป็นอื่นๆ เพื่อรับมือภัยพิบัติ รวมทั้งการสั่งทุบทำลายอาคารที่เล็งเห็นว่ามีความเสี่ยง และยังสามารถเข้าควบคุมธุรกิจต่างๆ ที่ผลิตหรือกักตุนสิ่งจำเป็น เช่น ยา เชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค

นอกจากนี้ ผู้ว่าการท้องถิ่นต่างๆ ยังสามารถขอความช่วยเหลือจากกองทัพให้ส่งหน่วยทหารเข้าพื้นที่ได้ หากมีเหตุจำเป็น โดยสถานการณ์ฉุกเฉินจะสิ้นสุดลงก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. เพียงเล็กน้อย และรัฐบาลอาจขยายระยะเวลาบังคับใช้เพิ่มเติมได้ด้วย

ครั้งสุดท้ายที่ตุรกีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน คือปี 2016 หลังจากมีความพยายามก่อรัฐประหาร แต่ล้มเหลว ครั้งนั้นสถานการณ์ฉุกเฉินบังคับใช้นาน 2 ปี

เร่งค้นหาผู้รอดชีวิต-ยอดตายเกิน 7,200 คน

สำหรับการช่วยเหลือ ขณะนี้มีกว่า 70 ประเทศที่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือในปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย ซึ่งผู้นำตุรกีระบุว่า มีแผนจะเปิดโรงแรมและที่พักตามสถานที่ต่างๆ ภายในเมืองท่องเที่ยวอันตาเลีย ทางตะวันตกของประเทศ เพื่อรองรับผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว

ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยในพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหว ขณะนี้คือภารกิจที่ต้องทำแข่งกับเวลา เจ้าหน้าที่เดินหน้าปฏิบัติงานตลอดทั้งวันทั้งคืน เนื่องจากใกล้จะครบ 48 ชั่วโมงหลังแผ่นดินไหวครั้งแรก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าโอกาสพบผู้รอดชีวิตหลัง 48 ชั่วโมงแรกจะริบหรี่ลงเรื่อยๆ

จนถึงขณะนี้ เหตุแผ่นดินไหวรุนแรง 2 ครั้ง คือขนาด 7.8 ที่เกิดช่วงเช้ามืดวันที่ 6 ก.พ. ตามเวลาท้องถิ่นในตุรกี และแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วรวมไม่ต่ำกว่า 7,200 คน นอกจากนี้ยังมีอาฟเตอร์ช็อกที่ความรุนแรงมากกว่า 4.0 เกิดตามมาอีกนับร้อยครั้ง

สถานการณ์ขณะนี้ทำให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยบางส่วน ระบุว่า ต้องให้ความสำคัญกับการค้นหาเฉพาะผู้รอดชีวิตก่อน ด้วยเงื่อนไขเวลา ส่วนการเก็บกู้ร่างผู้เสียชีวิตอาจต้องทำในภายหลัง เพราะช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในภารกิจค้นหาและกู้ภัยคือภายใน 12 ชั่วโมงแรกหลังเกิดเหตุ แต่ขณะนี้ล่วงเลยมาใกล้จะครบ 48 ชั่วโมงแล้ว ซึ่งอีกด้านหนึ่งผู้ประสบภัยบางส่วนวิจารณ์ว่าในบางพื้นที่ภารกิจกู้ภัยล่าช้ามาก

ทางการตุรกี ระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้มีผู้ได้รับผลกระทบถึง 13.5 ล้านคน และยังมีอากาศหนาวเย็นกับเส้นทางสัญจรที่พังเสียหายเป็นอุปสรรคในการช่วยเหลือ รวมถึงประเมินผลกระทบ ซึ่งปัญหาหนึ่งที่ผู้ประสบภัยต้องเผชิญคือสภาพอากาศหนาวเย็น โดยในเมืองมาลาเทีย ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งแรก อุณหภูมิต่ำสุดวันนี้ (8 ก.พ.) อาจลดลงถึง -11 องศาเซลเซียส ขณะที่สูงสุดอยู่ที่ -2 องศาเซลเซียส

ผู้ประสบภัยบางส่วนอธิบายสถานการณ์นี้ว่า พวกเขาต้องเลือกว่าจะอยู่ในอาคารที่เสี่ยงไม่รู้จะถล่มลงมาหรือไม่ กับอยู่ข้างนอกปลอดภัยแต่หนาวยะเยือกทรมาน ซึ่งผู้ประสบภัยจำนวนหนึ่งรวมกลุ่มกันผิงไฟท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บในเวลากลางคืน หลังจากไม่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าไปในตัวอาคาร โดยมีหน่วยงานจัดการภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉินของตุรกีจัดหาเต็นท์รองรับ

นาทีชีวิต! กู้ภัยช่วยเด็ก-ผู้หญิงใต้ซากปรักหักพัง

เจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยเด็กชายออกมาจากซากปรักหักพังของอาคารที่พังถล่ม เขาเอ่ยปากถามเจ้าหน้าที่เป็นคำแรกว่า เกิดอะไรขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้กล่าวอรุณสวัสดิ์ตอบกลับไป หลังจากพบเด็กคนนี้หลับอยู่ในกองซากปรักหักพังและเจ้าหน้าที่ช่วยเขาออกมาจนทำให้เด็กตื่น รายงานข่าวระบุว่า เด็กอาจหลับอยู่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจากเกิดแผ่นดินไหว

ส่วนที่ซีเรีย เจ้าหน้าที่กู้ภัยอุ้มตัวเด็กหญิงออกจากซากอาคารในเมือง Jandaris หลังพยายามใช้เครื่องตัดเหล็กและเครื่องมือต่างๆ เพื่อเข้าถึงตัวเด็ก ซึ่งภาพการช่วยเหลือลักษณะนี้เกิดขึ้นในอีกหลายจุดในเมืองเดียวกัน และมีรายงานการช่วยเหลือเด็กทารกแรกคลอดออกจากใต้ซากอาคารในเมืองนี้ได้สำเร็จ

นอกจากนี้ กู้ภัยตุรกีและเยอรมนีช่วยกันนำตัวผู้ได้รับบาดเจ็บ เป็นหญิงวัย 66 ปีออกจากซากตึกใน Kirikhan โดยเจ้าหน้าที่ซึ่งเดินทางมาจากเยอรมนี ระบุว่า ใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมงเพื่อช่วยผู้รอดชีวิตคนนี้ เนื่องจากซากปรักหักพังไม่มั่นคงอย่างยิ่งและอันตรายมาก โดยผู้บาดเจ็บถูกตู้เย็นขวางอยู่จึงยากจะเข้าถึงตัว และไม่สามารถใช้เครื่องจักรหนักได้เพราะอาจทำให้ซากอาคารพังถล่ม

เหตุแผ่นดินไหวยังทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้อย่างรุนแรงที่ท่าเรือในเมือง Iskenderun โดยมีรายงานว่า สาเหตุเกิดจากตู้คอนเทนเนอร์ที่ตกลงมาจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ไฟไหม้ตู้สินค้ารวมหลายร้อยตู้

บริษัทเดินเรือยักษ์ใหญ่ของโลกจากเดนมาร์ก A.P. Moeller-Maersk เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวสร้างความเสียหายอย่างหนักแก่ท่าเรือที่อิสกันเดอรุน ขณะที่กองทัพตุรกีส่งเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์เข้าช่วยดับไฟ และรายงานว่าสามารถดับไฟได้สำเร็จแล้ว แต่รายงานจากภาคเอกชนยังระบุว่าเพลิงยังลุกไหม้

ด้านกระทรวงการต่างประเทศของไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 7 ก.พ. ว่า ได้รับรายงานจากเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอังการา ว่า ในเบื้องต้นยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเป็นคนไทย โดยสถานเอกอัครราชทูตได้ติดต่อคนไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประสบภัยแล้ว พบว่าส่วนใหญ่ปลอดภัย แต่บางส่วนทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือต้องอพยพไปอยู่ในสถานที่ซึ่งทางการตุรกีจัดหาไว้รองรับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส.วอลเลย์บอลไทย ยืนยัน "เพียว-บุ๋มบิ๋ม" ปลอดภัยจากเหตุแผ่นดินไหวตุรกี

วิเคราะห์ : เบื้องหลัง "ตุรกี-ซีเรีย" เสียหายหนักจากแผ่นดินไหว

10 แผ่นดินไหวร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง