วันนี้ (7 ก.พ.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีเฟซบุ๊ก Wirasinee Ratanalert ซึ่งเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จ.นครพนม ซึ่งปฏิบัติภารกิจเข้าเวรที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล
เจ้าของเฟซบุ๊ก ระบุว่าวันที่ผ่านมา มีเด็กผู้หญิงอายุ 8 ปี แม่ให้ประวัติว่าได้ยินเสียงลูกอาเจียน จึงเดินไปดูเห็นยืนอาเจียนอยู่แล้วสักพักก็ซึม สะลึมสะลือ ลักษณะเหมือนหลับ ปลุกไม่ค่อยตื่น พาไปหาคลินิกใกล้บ้านแจ้งว่าให้รีบพามาโรงพยาบาล
ที่น่าแปลกใจคือเด็กซึมมาก ไม่เคยเห็นเด็กซึมขนาดนี้ ยกเว้นกรณีบาดเจ็บต้อง deep pain ถึงจะตื่น ตื่นมาก็อาเจียนต่อ แขนขาก็ทำตามคำสั่งบ้างไม่ทำบ้าง
ภาพ: Wirasinee Ratanalert
เจ้าของโพสต์ ระบุอีกว่า พยายามถามประวัติบาดเจ็บหรือไม่ แม่แจ้งว่าไม่มี พยายามลูบคลำตัว ศีรษะหาแผลก็ไม่มี จึงถามประวัติอาหาร แม่แจ้งว่ามีแค่กิน เจลลี่ที่ญาติซื้อมาฝาก 1 กระปุก
ในระหว่างกำลังตรวจเด็กมีอาเจียนพุ่ง 2 ครั้ง กลัวจะมีปัญหาความดันในกะโหลกศีรษะสูง จึงปรึกษาทีมเวรเด็ก พี่เค้าแจ้งว่าให้ตรวจความผิดปกติในช่องท้องทั้งหมดเลยถ้า CT Brain Normal admit ให้ IV hydration observe N/S
สรุปคือผลดีหมด มาตรวจเจอ Urine Marijuana Positive
สุดท้ายขอฝากพี่ๆ น้องๆ ให้เฝ้าระวังอาหาร ขนมต่างๆ ที่มีส่วนประกอบของกัญชาในเด็กด้วย เคสนี้โชคดี เช้ามาเด็กตื่นดี ไม่มีปัญหาอะไร กลับบ้านได้อย่างปลอดภัย
แต่ถ้าไม่ใช่แบบเคสนี้ กรณีแย่สุดๆ ก็คือเด็กจะได้ใส่ ETT แล้วประสานส่งต่อซึ่งก็น่าสงสารน้องมากๆ ที่จะต้องมาทรมานกับการใส่ ETT โดยไม่จำเป็น
ทั้งนี้ผู้ใช้เฟซบุ๊ก เข้ามาแสดงความเห็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มองเรื่องปัญหาการแจ้งรายละเอียดในผลิตภัณฑ์ ปัญหาการควบคุมกัญชาทางการแพทย์ กัญชากับอาหาร ก่อนหน้านี้เคยมีเคสการแพ้กัญชาเกิดขึ้น เนื่องจากร้านอาหารไม่มีการแจ้งใส่กัญชา
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2565 กรมอนามัย ออกประกาศกรมอนามัย เรื่องการนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ.2565 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 2 ฉบับ ให้ยกเลิกความในข้อ 3 เปลี่ยนเป็นกำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร มีการจัดเก็บ ใบกัญชาที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ จัดเก็บเป็นสัดส่วน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดเชื้อรา หรือเน่าเสียแทน
สำหรับข้อกำหนดอื่นๆ ในประกาศยังคงเหมือนเดิม คือสถานประกอบการกิจการอาหาร ต้องควบคุม กำกับ และต้องจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพและต้องตระหนักด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบของอาหาร
จัดทำข้อความที่แสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา
แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหาร ตามประเภทการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู
สำหรับอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัย ในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผู้บริโภคกังวล! ขอร้านค้าแจ้งด้วย มี "กัญชา" ผสมในอาหาร-เครื่องดื่ม
"ชัชชาติ" เผย กทม.พบเสพกัญชาเกินขนาด เสียชีวิต 1 ป่วย 3 คน
เช็กเงื่อนไขคุม "ใบกัญชา" ปรุงอาหาร?