ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“หายมิดจี่หลี่” รถไทยไปไม่กลับ สงสัยส่งขายลาว

อาชญากรรม
1 ก.พ. 66
17:42
1,389
Logo Thai PBS
“หายมิดจี่หลี่” รถไทยไปไม่กลับ สงสัยส่งขายลาว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้ศุลกากรยังไม่มีคำตอบถึงสาเหตุที่ชัดเจนของการไปไม่กลับของรถยนต์กว่า 300 คัน ในช่วงเวลา 8 เดือน แต่ไทยพีบีเอสพบบุคคลที่ชี้ชัดว่า การหายมิดจี่หลี่ หรือ หายเงียบไปของรถหลายคัน เป็นฝีมือของขบวนการจัดหาและจ้างคนขับรถไปส่งให้ผู้รับซื้อที่ฝั่งลาว

 

 

เนื้อหาในจดหมายจากด่านศุลกากรนครพนมที่ชาวบ้าน 3 คน ใน บ.ดงยอ ต.นาถ่อน อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ได้รับเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ระบุว่า ทั้งหมดนำรถยนต์ออกนอกราชอาณาจักรและไม่นำกลับเข้ามาภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ 30 วัน

นอกจาก ระบุให้พวกเขานำรถยนต์กลับเข้าราชอาณาจักรแล้ว  ในจดหมายยังระบุตัวเลขค่าประกันตนเองเป็นเงินมูลค่า 3 เท่าของราคาประเมินรถยนต์  นี่เป็นสาเหตุให้ชาวบ้านที่ได้รับจดหมายกังวล เพราะเกรงว่า พวกเขาจะต้องเสียค่าปรับตามจำนวนเงินที่ปรากฎในจดหมาย

ข้อเท็จจริงจาก “นักบิน” บ้านดงยอ 

เดือนพฤศจิกายน 2565 นายธนันต์ โทคำมา ชาวบ้านดงยอ ต.นาถ่อน อ.ธาตุพนม จ.นครพนม หนึ่งในผู้ที่ได้รับจดหมายจากด่านศุลกากรนครพนม ได้รับการติดต่อจากคนในหมู่บ้านให้ขับรถจากประเทศไทยไปส่งให้กับคนในประเทศลาว แลกกับเงินค่าจ้าง 5,000 บาท เงื่อนไขคือ นายธนันต์ต้องส่งสำเนาบัตรประชาชนไปให้ผู้ประสานงานอีกคนหนึ่งที่กรุงเทพฯ

 

ประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจาก นายธนันต์ตัดสินใจรับงาน นายหน้าติดต่อมาที่เขาอีกครั้งเพื่อนัดหมายวันส่งรถยนต์

เมื่อถึงวันนัดหมาย มีรถยนต์โตโยตา รุ่นวีโก้ ขับเคลื่อน 4 ล้อ ยกสูง จอดอยู่ใกล้กับบ้านของเขา พร้อมเอกสารคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ที่ถูกโอนเป็นชื่อของนายธนันต์เป็นเจ้าของแล้ว นอกจากนี้ ยังมีหนังสืออนุญาตรถระหว่างประเทศ ซึ่งใช้สำหรับนำรถยนต์คันดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักรรวมอยู่ด้วย

ก่อนหน้านี้รถเป็นชื่อใครไม่รู้ แต่พอมาถึง มันเป็นชื่อของผมแล้ว แค่ส่งรูปบัตรประชาชนไปให้เท่านั้น

นายธนันต์ขับรถยนต์ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 จังหวัดนครพนม ไปยังเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว เมื่ออกจากด่านประมาณ 200 เมตร พบคนลาว 2 คน รอรับรถอยู่ที่นั่น

พอไปถึงที่นัดหมายก็มีคนมารอรับอยู่แล้ว เขาเห็นรถก็รู้เลยว่าเป็นคันนี้เพราะคนฝั่งไทยส่งรูปถ่ายรถยนต์ให้เขาไปก่อนหน้านี้แล้ว

เมื่อส่งรถยนต์เสร็จแล้ว นายธนันต์นั่งรถโดยสารจากเมืองท่าแขกกลับมาที่ จ.นครพนม รวมแล้วเขาเสียค่าใช้จ่ายในการนำรถออกนอกประเทศรวม 1,000 บาท เท่ากับว่าเหลือค่าจ้าง 4,000 บาท

“นายหน้า” ข้อต่อสำคัญนำรถยนต์ออกนอกประเทศ

อีกหนึ่งตัวละครที่มีความสำคัญกับการนำรถยนต์ออกนอกประเทศ คือ นายหน้าในหมู่บ้านดงยอ ซึ่งยอมรับว่า เคยจัดหาคนรับจ้างขับรถ หรือที่เขาเรียกว่า “นักบิน” มาแล้ว 7 คน ในจำนวนนี้เป็นคนในหมู่บ้าน 3 คน ที่เหลืออีก 4 คนมาจากพื้นที่อื่น

 

นายหน้าคนนี้ เปิดเผยว่า เขาได้รับการติดต่อจากคนรู้จักในกรุงเทพฯ ช่วงเดือนตุลาคม 2565 ให้หาคนขับรถให้ มีค่าจ้าง 10,000 บาท ครึ่งหนึ่งเขาจะแบ่งให้คนขับ ส่วนอีก 5,000 บาท เก็บไว้เอง

ตอนนั้นเศรษฐกิจไม่ดี คนในหมู่บ้านทำมาหากินลำบาก เราเห็นว่างานนี้เงินดีเลยอยากให้ชาวบ้านมีรายได้ เลยตัดสินใจทำ ตอนนี้ยังมีคนมาถามเรื่อย ๆว่ามีงานอีก

ในช่วงแรกเขาติดต่อทั้งผู้ประสานงานฝั่งไทยและผู้รับซื้อในฝั่งลาว แต่หลังจากได้รับเอกสารจากด่านศุลกากรนครพนมให้นำรถยนต์กลับ เขาก็ติดต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งฝั่งไทยและลาวไม่ได้อีก

ผมไม่รู้ว่าเขาได้รถมาอย่างไร แต่ดูทะเบียนแล้วมาจากหลายจังหวัด บางทีก็มีคนขับรถมาส่ง บ้างก็มากับรถสไลด์ พอรถมาถึงต้องดูเอกสารว่าใครเป็นคนขับก็ติดต่อนัดหมายคนขับ

หนองคาย-นครพนม-มุกดาหาร พบรถไปไม่กลับกว่า 300 คัน

ข้อมูลจากด่านศุลกากรนครพนม เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - ธันวาคม 2565 มีรถยนต์เดินทางออกนอกประเทศทางสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 ไปยังสปป.ลาวแล้วไม่กลับมารวม 91 คัน

 

ที่ผ่านมา ส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้มีชื่อเป็นเจ้าของรถยนต์ทั้ง 91 คันให้นำรถยนต์กลับมา แต่มีผู้มารายงานตัวประมาณ 30 คน ในจำนวนนี้มี 16 คน ยอมรับว่านำรถยนต์ออกนอกประเทศแล้วไม่นำกลับมาจริง และ อีกประมาณ 10 คน แจ้งว่านำรถยนต์กลับมาแล้วแต่เอกสารตกหล่นจึงไม่ได้ตัดยอดออกจากระบบ ส่วนอีกประมาณ 60 คน ยังไม่ติดต่อกลับมา

หัวหน้าฝ่ายควบคุมและตรวจสอบทางศุลกากร ด่านศุลกากรนครพนมยังให้ข้อมูลว่า หลังจากพบการนำรถยนต์ออกนอกราชอาณาจักรแล้วไม่นำกลับจำนวนมาก ได้ทำหนังสือหารือไปยังกรมศุลกากรในประเด็นนี้เพื่อให้แจ้งแนวทางปฏิบัติมายังด่านศุลกากรต่าง ๆ ต่อไป

 

นอกจากด่านศุลกากรนครพนมแล้ว สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งอื่น ๆ ในภาคอีสานพบรถยนต์ออกนอกราชอาณาจักรไม่กลับเข้าประเทศเช่นกัน โดยที่ด่านศุลกากรมุกดาหาร มี 91 คัน และ ด่านศุลกากรหนองคาย 124 คัน รวมทั้งสิ้น 306 คัน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง