ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิด 3 กลไก แปลงร่างจาก ”ยุง” เป็น ”ซูเปอร์ยุง”

สังคม
29 ม.ค. 66
16:56
1,990
Logo Thai PBS
เปิด 3 กลไก แปลงร่างจาก ”ยุง” เป็น ”ซูเปอร์ยุง”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักกีฏวิทยาชี้ ผลวิจัยญี่ปุ่นยุงดื้อสารฆ่าแมลงในประเทศเวียดนาม - กัมพูชา ไม่กระทบไทย เผยสาเหตุยุงกลายพันธุ์กลายเป็น "ซูเปอร์ยุง" พร้อมแนะ 11 วิธีป้องกันยุงดื้อสารฆ่าแมลง

เสียง หวี่ ... หวี่ ... ของ "ยุง" สร้างความรำคาญได้เสมอ หลายคนอยากกำจัดสิ่งกวนใจนี้ ทั้งตบ ทั้งฉีด เพราะหากถูกกัดมีแผลและคันไปทั้งวัน ไม่เพียงเท่านั้น "ยุง" แมลงตัวเล็ก ยังเป็นพาหะนำโรคร้ายมาสู่คน

ความรุนแรงแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ของยุงแต่ละชนิด เช่น ยุงลายบ้านและยุงลายสวน เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก, ยุงรำคาญท้องนา เป็นพาหะนำโรคไข้สมองอักเสบ, ยุงก้นปล่อง เป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย, ยุงเสือและยุงลายป่า เป็นพาหะนำโรคเท้าช้าง ฉะนั้นระวังอย่าให้โดน ยุงกัด ดีที่สุด

ขณะที่ ล่าสุดนักวิจัยชาวญี่ปุ่น ศึกษาตัวอย่าง "ยุง" ในหลายประเทศ โดยเฉพาะเวียดนาม และกัมพูชา ที่พบมีการระบาดของ "ไข้เลือดออก" โดยพบการกลายพันธุ์ของยุงลายบ้านเป็น "ซูเปอร์ยุง" (super mosquito) ที่มีความทนทานต่อสารฆ่าแมลง โดยเฉพาะสารเคมีในกลุ่ม "ไพรีทรอยด์" ยาฉีดยุง ที่นิยมใช้ฉีดกันตามบ้าน

แล้วการค้นพบดังกล่าว ในประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันกับไทย ทำให้ต้องเตรียมการรับมือ หรือ ตั้งรับอย่างไร แล้วไทยมี "ยุง" ที่ดื้อแล้วหรือยัง

ไทยพีบีเอสออนไลน์ คุยกับ ดร.ปิติ มงคลางกูร นักกีฏวิทยา กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ไขข้อสงสัยเรื่อง "ยุง" ดื้อสารเคมีฆ่าแมลง เพื่อทำความเข้าใจ “ยุง” ให้มากขึ้น การกำจัด "ยุง" จะทำแบบเดิมได้หรือไม่ แล้วต้องทำอย่างไรหาก "ยุง" ฆ่าให้ตายยากขึ้น รวมถึงแนวทางการป้องกันอย่างถูกวิธี

ทำไมยุงกลายพันธุ์เป็น "ซูเปอร์ยุง"

ดร.ปิติ บอกว่า การใช้สารเคมีในการป้องกัน ควบคุม "ยุง" ตัวร้าย ยังมีความจำเป็นต้องใช้ เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อต่าง ๆ ยุงพาหะบางตัว ที่กำลังติดเชื้อระยะแพร่โรคได้ จะต้องถูกฆ่าอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยการใช้สารฆ่าแมลงฉีดพ่น

เพื่อเป็นการตัดวงจรการระบาดไม่ให้ยุงมีเชื้อลุกลามไปกัดและแพร่โรคต่อไปให้กับคนอื่นอีก ที่สำคัญในการควบคุมโรคเราจะต้องทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำด้วย

การต้านทานสารฆ่าแมลงของยุง (การดื้อสารฆ่าแมลง) หมายถึง การพัฒนาความสามารถในสายพันธุ์ของยุงบางตัวเพื่อให้สามารถทนทานต่อปริมาณสารฆ่าแมลงขนาดปกติที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตต่อประชากรยุงปกติของสายพันธุ์เดียวกันได้

การดื้อสารฆ่าแมลงมีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมของยุงโดยตรง โดยเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางพันธุกรรมของยุงที่ถูกคัดเลือกให้รอดชีวิตมาได้หลังจากได้ผ่านการถูกฉีดพ่นสารฆ่าแมลงมาแล้ว ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ที่อ่อนแอจะถูกฆ่าตายไปตามปกติแต่ประชากรที่แข็งแรงจะมีโอกาสรอดตายและผลิตลูกหลานสืบไป

ประชากรยุงที่รอดตายนี้จะเพิ่มความทนทานสารฆ่าแมลงในสายพันธุกรรมของตนไปเรื่อยๆจนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงมากในระดับที่เรียกว่า “ยุงดื้อต่อสารฆ่าแมลง” โดยการดื้อสารฆ่าแมลงมักเกิดขึ้นจากการที่ "ยุง" ได้สัมผัสกับสารฆ่าแมลงบ่อยๆ ถี่ ๆ จากการฉีดพ่นยุงอย่างสุรุ่ยสุร่าย หรือการพ่นที่ไม่มีประสิทธิภาพไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ

ยุงในปัจจุบันฉีดด้วยสารฆ่าแมลงแล้วอาจไม่ตาย ยาที่ใช้อยู่ทำได้แค่เพียงไล่ยุง จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งเท่านั้น ตัวที่หนีไปได้ จะสร้างลูกหลานที่มีความทนทานต่อสารฆ่าแมลงมากกว่าเดิม เรียกว่า รอดตาย ปรับตัว ลักษณะแบบอดทน ทนทาน

ดร.ปิติ อธิบายเพิ่มว่า ยุงที่รอดจากการฉีดสารกำจัด จะปรับตัวจนกระทั่งอาจเกิด "ยีน" พิเศษขึ้นมา เพื่อควบคุมให้ร่างกายยุงสามารถผลิตเอนไซม์ขจัดสารพิษได้มากขึ้น ทำให้เมื่อพ่นด้วยสารชนิดเดิมแล้วยุงจะไม่ตาย เมื่อถึงขั้นนั้นสามารถเรียกได้ว่า "ยุงมีความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงแล้ว

ยุงไม่เพียงสร้างความต้านทานต่อสารเคมีฆ่าแมลงเมื่อเคยสัมผัสสารบ่อยๆเท่านั้น แต่ยุงยังสามารถความต้านทานไม่ให้ตัวเองตายเมื่อมีการใช้สารฆ่าแมลงโดยการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมด้วย โดยองค์การอนามัยโลก จำแนกการต้านทานสารเคมีฆ่าแมลง ออกเป็น 3 ชนิดคือ

1.การต้านทานทางชีวเคมี (Biochemical resistance) ในรูปแบบนี้สารฆ่าแมลงจะถูกย่อยสลายหรือลดความเป็นพิษด้วยเอนไซม์ขจัดพิษอย่างน้อยหนึ่งชนิดก่อนที่สารเคมีจะไปถึงจุดออกฤทธิ์ในร่างกายยุง

2.การต้านทานทางสรีรวิทยา (Physiological resistance) เป็นการต่อต้านใด ๆ ก็ตามเพื่อลดความเป็นพิษของสารฆ่าแมลงโดยผ่านการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาพื้นฐานของร่างกายยุง

ในรูปแบบนี้สารเคมีจะไม่ถูกย่อยสลาย ให้อยู่ในรูปที่เป็นพิษน้อยลง แต่ยุงจะต่อต้านสารเคมีโดยการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ทางสรีรวิทยาของร่างกายอย่างน้อยหนึ่งอย่าง เช่น ลดความไวของเซลล์ประสาทต่อสารฆ่าแมลงประเภทไพรีทรอยด์ ทำให้ยุงสลบน้อยลงหรือไม่สลบเลย (knockdown resistance)

เมื่อถูกสารและอาจบินหนีไปได้ ก่อนจะได้รับสารพิษอย่างเต็มที่, เปลี่ยนแปลงเอนไซม์ Acetylcholinesterase ให้มีความไวน้อยต่อการถูกยับยั้งการทำงานโดยสารฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต และกลุ่มคาร์บาเมต

เพิ่มความหนาของผนังลำตัว เพื่อลดการซึมผ่านของสารฆ่าแมลงเข้าไป ทำอันตรายร่างกาย, เพิ่มการขับถ่ายสารพิษออกจากร่างกายหรือการกักเก็บสารพิษไว้ในไขมันในร่างกายไม่ให้ออกฤทธิ์ เป็นต้น

3.การต้านทานทางด้านพฤติกรรม (Behavioral resistance) เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของยุง เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารฆ่าแมลง ทำให้ยุงเหล่านั้นรอดชีวิตไม่ได้รับสารเคมีหรืออาจโดนในปริมาณน้อยเฉพาะไอของสารเท่านั้น

ยุงดื้อสารฆ่าแมลงในเวียดนาม - กัมพูชา ไม่กระทบไทย

ดร.ปิติ กล่าวว่า ยุงลายเป็นยุงที่บินไม่ไกล โดยเฉพาะยุงลายบ้าน เป็นยุงที่ชอบกินเลือดคนมาก จะชอบอาศัยอยู่ในบ้านคน บินได้วันละ 100 เมตร หรือแทบไม่ได้บินเลย

วันหนึ่งๆ แค่บินจากฝาผนังที่ยุงเกาะพัก จากตู้เสื้อผ้า หรือบินมาจากห้องน้ำไปกัดคนที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน แล้วก็บินกลับไปเกาะที่เดิม วันหนึ่งอาจบินไกลไม่ถึง 10 เมตร

ฉะนั้นหากได้อยู่ในบ้านที่โปรดปรานมีเหยื่อที่ชอบกัดกินเลือดอาศัยในบ้านนั้นดีอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องบินออกนอกบ้านไปไหนไกลๆ เลย

ดังนั้นโอกาสที่จะนำยีนดื้อสารฆ่าแมลงออกไปแพร่ที่อื่น หรือแพร่ข้ามแดนไปประเทศอื่นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ปกติการดื้อสารฆ่าแมลงนั้นสำหรับยุงลายบ้านซึ่งเป็นยุงที่บินไม่ไกล เรามักพบว่าจะแสดงความดื้อเป็นหย่อมๆ ไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ ยุงลายบ้านมักดื้อสารฆ่าแมลงเพียงระดับหมู่บ้านเท่านั้น

สาเหตุที่ทำให้ดื้อคือ ประชาชนหรือหน่วยงานบางแห่ง ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมโรคหรือแมลงนำโรค ใช้สารฆ่าแมลงอย่างสุรุ่ยสุร่าย โดยมิได้คำนึงถึงข้อเสียของการใช้สารพิษเหล่านี้เลย

เอะอะ ๆ พอเห็นมียุงเยอะก็ร้องขอให้เจ้าหน้าที่มาพ่นยุงอยู่ร่ำไป โดยไม่ยอมช่วยตัวเองหรือเลือกใช้วิธีควบคุมยุงแบบอื่นเลย

เมื่อหมู่บ้านนี้เกิดยุงดื้อสารฆ่าแมลงขึ้นมาแล้วก็มิได้หมายความว่าทุกหมู่บ้านในตำบลนี้หรือหมู่บ้านที่ห่างออกไปจะต้องมียุงดื้อเหมือนกันตามไปด้วย

โลกร้อนปัจจัยสำคัญ "ยุงเพิ่มจำนวน-โตไว-ผสมพันธุ์เร็วขึ้น และหิวบ่อย"

ดร.ปิติ บอกว่า สภาวะโลกร้อน ทำให้น้ำที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงมีอุณหภูมิอุ่นขึ้น เพียงไม่ถึง 1 องศาเซลเซียล ก็มีผลกับลูกน้ำ ที่เจริญเติบโตอยู่ในน้ำ คือ จะทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกายของลูกน้ำเกิดขึ้นเร็ว ทำให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายเปลี่ยนแปลงเร็ว

ฉะนั้นลูกน้ำจะเปลี่ยนระยะเร็วมาก โดยยุงมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง 4 ระยะ คือ ระยะไข่ ระยะลูกน้ำ ระยะตัวโม่ง และระยะตัวเต็มวัย โดยระยะตัวเต็มวัยเพศเมียเป็นระยะที่กินเลือด เพื่อใช้ในการพัฒนาไข่ของยุง จึงทำให้เกิดการแพร่โรคติดต่อนำโดยยุงทำหน้าที่เป็นพาหะนำโรคจากคนหนึ่งไปแพร่สู่อีกคนหนึ่งได้

ระยะตัวโม่งของยุงลายบ้าน ปกติจะใช้เวลาในการสร้างปาก ปีก ขา และเปลี่ยนแปลงลำตัว 2-3 วัน สภาวะโลกร้อนทำให้ระยะเวลานี้หดสั้นลงเหลือเพียง 1-2 วัน เฉลี่ยแล้วประมาณ 1 วันครึ่ง ก็สามารถลอกคราบเป็นตัวยุงได้แล้ว

แต่ยุงที่เกิดขึ้นจะตัวเล็กกว่าปกติ เพราะเกิดจากลูกน้ำที่ตัวเล็ก พอเกิดเป็นยุงก็เป็นยุงที่ตัวเล็ก เมื่อระยะต่าง ๆ สั้นลง ยุงจะเกิดเร็ว ทำให้มีการผสมพันธุ์เร็วตามไปด้วย และทำให้มียุงสะสมในธรรมชาติมากขึ้นตามไปด้วย เช่นกัน

ปกติวงจรชีวิตยุงใช้เวลาประมาณ 12-15 วัน แต่ในภาวะโลกร้อนนี้วงจรชีวิตยุงหดสั้นลงใช้เวลาเพียงสัปดาห์กว่า ๆ เท่านั้น

นอกจากนี้อุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้นยังส่งผลต่อระบบเผาผลาญของยุงตัวเต็มวัยด้วยคือทำให้ยุงมีกิจกรรมการบินมากขึ้นและทำให้หิวบ่อย จึงหากินเลือดเหยื่อบ่อยขึ้นเป็นสาเหตุว่าทำไมโรคภัยไข้เจ็บที่นำโดยยุงจึงมากขึ้น

ยุงพาหะนำหลายโรคร้าย

ยุงในไทยมีหลายชนิด ชนิดที่พบเป็นพาหะนำโรค ได้แก่ ยุงลายบ้านและยุงลายสวน พาหะนำโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิก้า, ยุงก้นปล่องพาหะนำโรคไข้มาลาเรีย, ยุงเสือพาหะนำโรคเท้าช้าง และยุงรำคาญท้องนา พาหะนำโรคไข้สมองอักเสบ ซึ่งยุงพาหะแต่ละชนิดมีชีวนิสัยและแหล่งเพาะพันธุ์ที่แตกต่างกัน

การฉีดพ่นฆ่ายุง เป็นวิธีที่ได้ผลรวดเร็วในการควบคุมการระบาดของโรคติดต่อที่นำโดยยุง เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ในการพ่นเพื่อฆ่าแม่ยุงตัวที่มีเชื้อให้ตายลงอย่างรวดเร็ว

หากพ่นไม่ได้ผล ก็จะกลายเป็นปัญหาทางสาธารณสุขมากขึ้น เนื่องจากจะเกิดการล่าช้าในการควบคุมโรค ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ควรจะเป็น และบุคลากรทางการแพทย์ต้องมีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้นอีกมากในการดูแลรักษาผู้ป่วย

ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องหาวิธีกำจัดยุงที่ มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสู้กับ ยุง ตัวร้าย ส่วนประชาชนก็ต้องหาวิธีการป้องกันตัวเองจากยุงมากขึ้นด้วย

11 วิธี "ชะลอ-ป้องกัน" ยุงดื้อสารฆ่าแมลง

ดร.ปิติ กล่าวว่า ประเทศไทยก็มี "ยุง" ที่มีความแข็งแรงต้านทานต่อสารฆ่าแมลงอยู่บ้างบางแห่ง พบได้ในพื้นที่ที่มีการใช้สารฆ่าแมลงอย่างสุรุยสุร่ายเกินความจำเป็น โดยไม่ห่วงใยว่า จะเป็นมลพิษตกค้างในธรรมชาติและอาจทำให้ยุงเกิดการต้านทานได้

โดยเฉพาะการดื้อที่เกิดขึ้นมักพบในสารฆ่าแมลงกลุ่ม "ไพรีทรอยด์" เนื่องจากเป็นสารเคมีที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมาก เพราะเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างปลอดภัยต่อผู้ใช้ ประชาชนและสัตว์เลี้ยง กลิ่นไม่แรง และมีฤทธิ์ตกค้างไม่ยาวนานมาก

แต่อย่างไรก็ตามหากจะใช้แต่สารฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทรอยด์เพียงกลุ่มเดียวอาจไม่ใช่ความคิดที่ดีเพราะการใช้สารเคมีที่มีกลไกการออกฤทธิ์เพียงอย่างเดียวในระยะเวลานาน ๆ จะมีความเสี่ยงทำให้ยุงได้มีโอกาสได้สัมผัสและเรียนรู้กลไกการออกฤทธิ์ในร่างกายของยุง จนพัฒนาเป็นยุงต้านทานไพรีทรอยด์ได้ ดังนั้นจึงควรปฏิบัติตามข้อแนะนำต่อไปนี้เพื่อชะลอและป้องกันการเกิดซุปเปอร์ยุงในประเทศ

นอกจากนี้ ดร.ปิติ ยังแนะนำให้ประชาชนทำสเปรย์ฉีดยุงจากนำยาล้างจานไว้ใช้เองที่บ้าน เพื่อฆ่ายุงลายและยุงรำคาญที่หากินอยู่ตามบ้านเรา เพื่อเป็นการช่วยกันควบคุมยุงแบบมีส่วนร่วมและช่วยลดปัญหายุงรำคาญที่ออกมารบกวนชีวิตประจำวันของเราในช่วงค่ำ ๆ ได้อีกด้วย

ดร.ปิติ กล่าวว่า การเพิ่มความเข้มข้นสารฆ่าแมลงให้แรงขึ้น หรือเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้อที่แรงกว่ามากำจัดฉีดพ่น แต่เป็นสารกลุ่มเดียวกันที่ยุงเคยทนหรือดื้อมาแล้ว เมื่อใช้ไปเรื่อย ๆ ยุงจะสามารถปรับตัวทำให้เกิดการดื้อสารฆ่าแมลงที่เข้นข้นขึ้นนี้ได้อีกโดยไม่ยาก

ดังนั้นเมื่อมีปัญหาการดื้อสารฆ่าแมลงเราควรเปลี่ยนกลุ่มสารไปใช้กลุ่มอื่นที่ยุงยังไม่ดื้อ และใช้จนกว่ายุงที่ดื้อจะตายหมดไป จากนั้นจึงจะสามารถกลับไปใช้สารกลุ่มเดิมที่ยุงดื้อได้อีก ขณะที่ การใช้สารเคมีที่รุนแรงขึ้นอาจมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นด้วย

ทั้งนี้ ควรเลือกใช้สารเคมีและความเข้มข้น ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ และได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่พ่นบ่อยครั้งโดยไม่จำเป็น เพื่อป้องกันการดื้อของยุงต่อสารเคมี ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลต่อ ประสิทธิภาพการควบคุมโรคในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง