ข่าวเสือโคร่งบนสันเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยพบบ่อยนัก เพราะวิถีของสัตว์ป่า โดยเฉพาะเสือโคร่ง สัตว์ป่าผู้ล่าที่อยู่ในห่วงโซ่อาหารของผืนป่า มักจะปลีกวิเวกไม่เผชิญหน้ากับคนและอยู่ในป่าลึกมากกว่าจะมาเดินอวดโฉมบนสันเขื่อน
จากข้อมูลที่ปรากฏจากกล้องวงจรปิดของเขื่อนศรีนครินทร์ ระบุว่าเมื่อวันที่ 22 ม.ค.2566 พบหลักฐาน 4 จุด 4 พิกัดที่เสือโคร่งตัวนี้เดินผ่านกล้อง
- จุดที่ 1 พบเสือโคร่งจากกล้องวงจรปิด เวลาประมาณ 01.39 น.
- จุดที่ 2 พบเสือโคร่งจากกล้องวงจรปิด เวลาประมาณ 01.51 น.
- จุดที่ 3 เจ้าหน้าที่เขื่อนศรีนครินทร์แจ้งว่าพบตัวเสือโคร่ง เวลาประมาณ 01.55 น.
- จุดที่ 4 เวลาประมาณ 14.30 น.
จากนั้นเจ้าหน้าที่ร่วมกันตรวจสอบพื้นที่โดยรอบ พบรอยตีนเสือโคร่ง ขนาดอุ้งตีนกว้างประมาณ 7 ซม. (ดินแข็ง) ทิศทางมุ่งหน้าไปที่เขื่อนสันเขื่อน คาดว่าจะเป็นขณะที่เดินออกมาจากป่า
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบโดยรอบพื้นที่บริเวณด้านหน้าสันเขื่อนศรีนครินทร์ เบื้องต้นแล้วไม่พบร่องรอยเสือโคร่งในจุดอื่น จึงมีความเห็นร่วมกันว่ามีแนวโน้ม 80% ที่เสือโคร่งตัวนี้จะกลับคืนสู่ป่าธรรมชาติ และอีก 20% ที่เสือโคร่งจะยังอยู่ในพื้นที่บริเวณหน้าสันเขื่อนศรีนครินทร์
ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่า วิเคราะห์ว่า การที่พบเสือมาที่สันเขื่อนศรีนครินทร์ช่วงตี 2 อาจ เพราะปลอดคนและเป็นเส้นทางที่เชื่อมกับป่าเอราวัณ สลักพระได้ง่าย หรืออาจจะเดินสำรวจพื้นที่เพื่อสร้างอาณาเขตของตัวเอง เป็นธรรมชาติของเสือโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศผู้ที่ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่
อ่านข่าวเพิ่ม ผวา "เสือโคร่ง" บนสันเขื่อนศรีนครินทร์-ชี้มาจากสลักพระ "รหัส SLT022"
ไขความลับลายพาดกลอนเสือโคร่ง
ข้อมูลจากองค์กรองค์กรแพนเทอร่า THAILAND ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเสือโคร่ง ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์บริเวณป่าตะวันตก ตรวจสอบเสือจาก "ลายของเสือ" ทำให้รู้เสือโคร่ง บนสันเขื่อนศรีนครินทร์ มาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ “รหัส SLT022” เป็นเสือโคร่งเพศผู้
ก่อนหน้านี้ เคยมีการถ่ายภาพจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าได้ 1 ครั้งเมื่อเดือนพ.ย.2565 ซึ่งจากการตรวจสอบลายของเสือแล้วไม่พบว่ามีข้อมูลจากฐานข้อมูลของเสือตัวนี้จากแหล่งอื่นแต่อย่างใด จึงตั้งชื่อให้เป็น SLT002
ซึ่ง SL คือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ส่วนตัว T มาจากคำว่า Tiger และตามด้วยรหัส 002 ถ้าหากตัวที่พบในกล้องไม่พบว่าเคยมีข้อมูลที่อื่นก็จะตั้งชื่อตามพื้นที่ที่ตรวจพบครั้งแรก
เสือโคร่งขนลำตัวสีน้ำตาลเหลือง หรือเหลืองอมส้ม มีลายสีดำ พาดขวางตลอดทั้งลำตัวเป็นจุดเด่น ซึ่งลายเส้นนี้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จะมีลายไม่เหมือนกันเช่นเดียวกับลายนิ้วมือของมนุษย์
ผู้เชี่ยวชาญด้านเสือโคร่ง บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า เสือโคร่งในป่าของไทยมีประชากรเพิ่ม 2 เท่า จากรายงานของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ปี 2565 พบประชากรเสือโคร่งเพิ่ม 2 เท่าในรอบ 10 ปี เบื้องต้น 144-189 ตัว มากสุดกลุ่มป่าตะวันตก ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และผืนป่าตะวันตก-แนวเทือกเขาตะนาวศรี
ส่วนประชากรเสือโคร่งที่พบในป่าตะวันตก ทำให้รู้แนวโน้มเสือโคร่งในป่าเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปี 2552 เคยถ่ายภาพได้ 52 ตัว แต่ปี 2565 ถายภาพในห้วยขาแข้งได้ 100 ตัว บ่งชี้การทำงานคุ้มครองได้ผล ประสบความสำเร็จ
ส่วนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่ถือเป็นความหวังบ้านใหม่ของเสือโคร่งในช่วง 3-4 ปี พบเสือโคร่ง 15-20 ตัว และเริ่มมีการทำระบบติดตามเสือโคร่ง 47-65 ติดปลอกคอ 60 ตัว และปัจจุบันปลอกคอที่ยังทำงานมี 5 ตัว
จากข้อมูลพบว่า เสือโคร่งใช้พื้นที่และกินเหยื่ออย่างไร ตัวผู้ และตัวเมียใช้พื้นที่ไม่เท่ากัน และแนวโน้มการใช้พื้นที่จะขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ของป่า
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ภาพแรกรอบ 3 เดือน "เสือวิจิตร" โผล่จองบ้านใหม่กลางป่า
ปิดจราจรฝั่งซ้ายเขื่อนศรีนครินทร์ เร่งเช็กกล้องติดตามเสือโคร่ง