ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บทวิเคราะห์ : ส.ว.ส่งซิกแก้รัฐธรรมนูญ ปมนายกฯ 8 ปีเอื้อ “บิ๊กตู่”

การเมือง
16 ม.ค. 66
15:19
611
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : ส.ว.ส่งซิกแก้รัฐธรรมนูญ ปมนายกฯ 8 ปีเอื้อ “บิ๊กตู่”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

กรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ของวุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน เป็นคนจุดพลุเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรค 4 ว่าด้วยข้อบัญญัติให้อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 8 ปี ไม่ว่าจะต่อเนื่องกันหรือไม่ โดยให้เหตุผลว่า เป็นหนึ่งในเรื่องการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่กรรมาธิการต้องดำเนินการ 5 เรื่อง

ส.ว.อีกคนที่ออกมาขานรับ และความจริงเป็นรองประธานกรรมาธิการชุดดังกล่าวอยู่แล้ว คือ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.ที่เคยปะทะคารมกับส.ส.ฝ่ายค้านหลายครั้ง

รวมทั้งวิวาทะ “ตัวประกอบ 5 บาท” กับ “ส.ส.ขี้ข้าโจร” ในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาของพ.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เมื่อปี 2562

เหตุผลสำคัญของส.ว.ทั้ง 2 คน คือ ถึงเวลาต้องพิจารณาว่าการอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ไม่เกิน 8 ปีนั้น ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ เพราะต้องขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชน และหากเป็นนายกฯ ที่ดี ก็ไม่ควรจะไปขีดกรอบเวลาแค่ 8 ปี

ยังมีการหยิบยกการปกครองระบบที่นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำรัฐบาลว่า ไม่มีประเทศใดในโลก ที่กำหนดกรอบเวลาการดำรงตำแหน่งไว้ เว้นแต่ระบบประธานาธิบดี ที่มักให้กำหนดให้อยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 2 สมัย

คำถามที่ตามมาคือ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญของไทย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ หรืออาจได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญไทย ทั้งฉบับปี 2550 และฉบับปี 2560 เหตุไฉนจึงกำหนดกรอบเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ไว้ ทั้งที่รู้ว่าในต่างประเทศ ที่คนไทยบางส่วนไปคัดลอกมา

ทั้งที่ไม่มีข้อกำหนดเรื่องนี้ไว้ ทำให้คำตอบที่บางคนตั้งข้อสังเกตตั้งแต่ต้นว่า เป็นการเขียนกับดักสกัดใครบางคนไม่ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเพียงเท่านั้น หรือไม่

เพียงแต่คนที่เดินเข้าสู่กับดักรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้น กลับกลายเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จนต้องนำไปสู่การตีความของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องปม 8 ปี

เช่นเดียวกับเหตุผลที่ยกตัวอย่างประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ครั้งแรกเป็นได้แค่ 2 สมัย แต่ปัจจุบันได้เป็นสมัยที่ 3 แล้ว ยืนยัน ไม่ใช่เป็นกฎตายตัว แต่ดูย้อนแย้งกับเหตุผลครั้งแรกที่อ้างถึงระบบนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาล ทั่วโลกไม่มีข้อกำหนดเรื่องเวลาเอาไว้ อย่างไรก็ดี กรณีของจีน ชัดเจนว่าประธานาธิบดีคือผู้ที่มีอำนาจเต็ม และเป็นคนละระบบกับของไทย

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของ ส.ว.อีกหลายคน กลับมีความเห็นที่แตกต่างออกไป นายสมชาย แสวงการ ประธานกมธ.สิทธิเสรีภาพ วุฒิสภา เห็นว่าจังหวะเวลายังไม่เหมาะสม เพราะจะถูกเชื่อมโยงไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ จึงควรรอไปก่อน หรืออาจให้รัฐบาลชุดใหม่เป็นผู้พิจารณาหรือขับเคลื่อนเรื่องนี้

สอดคล้องกับเสธ.อู้ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สายทหาร ที่ระบุว่า การเป็นนายกฯ รวมกันเกินแปดปีไม่ได้ เป็นประเด็นหนึ่งที่ไม่มีใครเห็นด้วยมาตั้งแต่การศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 แล้ว เพราะไม่เหมือนกับการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีหรือเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงแบบในต่างประเทศ

การนำประเด็นนี้มาพูดกันตอนนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ไม่ค่อยเหมาะสม ไม่เพียงแค่ท่าทีจาก ส.ว.เท่านั้น แม้แต่ ส.ส.และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนใหญ่คัดค้านไม่เห็นด้วยแทบทั้งสิ้น

เช่น นายองอาจ คร้ามไพบูลย์ ประธานส.ส.และรองหัวหน้าพรรค หรือพรรคพลังประชารัฐ นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค

เหตุผลสำคัญ คือการเชื่อมโยงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ที่เปิดตัวเป็นสมาชิกพรรคและเป็นแคนดิเดทนายกในบัญชีของพรรครวมไทยสร้างชาติแล้ว เพราะหากหลังเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ จะอยู่ในดังแหน่งนี้ได้อีกไม่เกิน 2 ปี

การขยับขอแก้รัฐธรรมนูญของส.ว.จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทำเพื่อ พล.อ.ประยุทธ์ และยังอาจมีข้อตกลงสานประโยชน์ร่วมกัน ในลักษณะต่างตอบแทน หรือ “ผลัดกันเกาหลัง” เพราะ ส.ว.ชุดนี้ จะสิ้นสุดอำนาจหน้าที่สำคัญคือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกเพียงปีเดียวตามบทเฉพาะกาล

ที่มีความสำคัญเช่นกัน คือจะกระทบต่อภาพพจน์ของ ส.ว.อย่างเลี่ยงไม่พ้น เพราะฉายาที่ได้รับจากสื่อประจำรัฐสภาคือการเป็นตรายางให้กับรัฐบาล หรือล่าสุด “ผู้เฒ่าเฝ้าสมบัติ” (คสช.)

ดังนั้น การจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงความต้องการ หรือให้น้ำหนักกับมติของประชาชนถือเป็นเรื่องใหญ่ที่น่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะประชามติจากการเลือกตั้งส.ส.ที่กำลังจะมีขึ้น

เพราะบริบทและสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ต่างจากเมื่อปี 2562 อย่างชัดเจน

 

วิเคราะห์โดย : ประจักษ์ มะวงศ์สา

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง