ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หนังสือแจ้งเวียน : ปมสินบนกรมอุทยานฯ หรือไม่

สังคม
8 ม.ค. 66
14:47
1,031
Logo Thai PBS
 หนังสือแจ้งเวียน : ปมสินบนกรมอุทยานฯ หรือไม่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
306 วัน นับตั้งแต่นายรัชฏา เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานฯ จนถึงวันที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาปมเรียกรับสินบน หากย้อนกลับไป อาจพบว่า จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ มาจากหนังสือแจ้งเวียนฉบับหนึ่งที่เขาเป็นผู้ลงนามหลังจากเข้ารับตำแหน่งเพียง 2 วัน

สิงหาคม 2565 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ขณะนั้นเป็นข้าราชการบำนาญและอดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) มีหนังสือร้องเรียน เรื่อง ขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง (ในทางลับ) กรณีอธิบดีกรมอุทยานฯ มีพฤติกรรมทุจริต และปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบด้วยกฎหมายหลายประการ ส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

เนื้อหาในเอกสารตั้งข้อสังเกตกรณี หนังสือแจ้งเวียน เรื่อง ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติการมอบหมายให้ข้าราชการไปปฏิบัติราชการฯ ที่ ทส. 0901.304/ว.3952 ลงนามโดยนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ว่าอาจเป็นการเปิดช่องให้มีการวิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่ง เกิดขึ้นในกรมอุทยานฯ โดยยกตัวอย่าง กรณีตำแหน่งหัวหน้าอุทยาน ที่อาจมีการเรียกรับเงินตั้งแต่ 100,000 – 1,000,000 บาท แล้วแต่กรณีโดยแบ่งเกรดการจ่ายเงินของอุทยานฯ แต่ละที่แตกต่างกัน

นายชัยวัฒน์กลับเข้ารับราชการตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) เดือนตุลาคม 2565 ขณะที่ ป.ป.ช.เรียกสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามหนังสือร้องเรียนในอีกสองเดือนต่อมา

27 ธันวาคม 2565 เจ้าหน้าที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พร้อมตำรวจป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ บก.ปปป. แจ้งข้อหาอธิบดีกรมอุทยานฯ พร้อมหลักฐานเรียกรับผลประโยชน์เงินเกือบห้าล้านบาท

หนังสือแจ้งเวียน ทส.0901.304/ว.3952

นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ได้รับการแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 23 กุมภาพันธ์ 2565

2 วันต่อมา อธิบดีลงนาม ในหนังสือแจ้งเวียนกรมอุทยานฯ ด่วนที่สุด ที่ ทส. 0901.304/ว.3952 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติการมอบหมายให้ข้าราชการไปปฏิบัติราชการ แจ้งให้ข้าราชการในสังกัดถือปฏิบัติ ดังนี้

1.กรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีคำสั่งมอบหมายให้ข้าราชการไปปฏิบัติราชการในสังกัดที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ให้ปฏิบัติราชการตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายต่อไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

2.กรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีคำสั่งมอบหมายให้ข้าราชการไปปฏิบัติ ราชการ หรือไปช่วยปฏิบัติราชการต่างสังกัด (ภายในกรม) รวมทั้งผู้ที่มาช่วยปฏิบัติราชการจากส่วนราชการอื่น ให้ปฏิบัติราชการตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายต่อไป จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565

3.กรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีคำสั่งมอบหมายให้ข้าราชการไปปฏิบัติราชการทำหน้าที่ผู้อำนวยการส่วน หัวหน้ากลุ่ม และ/หรือ หัวหน้าหน่วยงานใดแล้ว ให้ผู้ซึ่งทำหน้าที่นั้นอยู่เดิม กลับไปปฏิบัติราชการต้นสังกัด หรือไปปฏิบัติราชการตามที่ได้รับมอบหมาย

4.ให้ผู้อำนวยการสำนักทุกสำนัก ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ทุกสำนัก ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ผู้อำนวยการกองทุกกอง และหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกอื่นที่ขึ้นตรงต่ออธิบดี จัดทำคำสั่งมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบให้ข้าราชการซึ่งกลับไปปฏิบัติราชการต้นสังกัดตามข้อ 3 ทุกราย

เนื้อหาบางตอนในหนังสือร้องเรียนเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ของนายชัยวัฒน์ ระบุว่า หากมองเผินๆ หนังสือแจ้งเวียนนี้ ไม่น่าจะมีอะไรผิดปกติ แต่หากมองลึกๆ แล้วอาจเป็นการเปิดช่องให้เอื้อประโยชน์ในการวิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่งได้

หากเจ้าหน้าที่ผู้ใดจะวิ่งเต้นเพื่อให้ตนไปทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการส่วน หัวหน้ากลุ่ม และ/หรือหัวหน้าหน่วยงานแห่งใดก็จะต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อขายตำแหน่งดังกล่าว

นายชัยวัฒน์ ยกตัวอย่างไว้ในหนังสือร้องเรียนว่า หากเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติโดยทั่วๆ ไป จะมีการเรียกรับเงิน ตั้งแต่หลัก 100,000 – 1,000,000 บาท ขึ้นไปแล้วแต่กรณี โดยแบ่งเกรดการจ่ายเงินของอุทยานฯ แต่ละที่แตกต่างกัน

หากใครหรือเจ้าหน้าที่ผู้ใดที่ได้ปฏิบัติงานที่เดิมอยู่แล้ว และมีความประสงค์จะช่วยปฏิบัติงานอยู่ที่เดิม เจ้าหน้าที่ผู้นั้นจะต้อจ่ายเงินอีกเช่นกันเพื่อป้องกันและรักษาตำแหน่งมิให้เจ้าหน้าที่อื่นๆ หรือ ผู้ใดมาแทนตน ส่วนใครไม่ยอมจ่ายอาจถูกย้ายออกจากพื้นที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอื่นที่มีความประสงค์วิ่งเต้นเข้าทำหน้าที่แทนดังกล่าวต่อไป โดยเขามองว่า นี่เป็นผลสืบเนื่องจาก หนังสือแจ้งเวียน ด่วนที่สุด ทส. 0901.304/ว.3952 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565

อุทยานฯเกรดA หมุดหมายโยกย้าย?

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเปรียบเทียบจำนวนอุทยานแห่งชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าอุทยาน โดยใช้ข้อมูลวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 เปรียบเทียบกับข้อมูลวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวที่ นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา เข้าดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์จำนวน 21 สำนัก (รวมสำนักสาขา) ที่มีอุทยานแห่งชาติรวม 133 แห่งทั่วประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าอุทยานฯ 80 คน

อุทยานแห่งชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าอุทยานฯ ในช่วงเวลาดังกล่าวมากที่สุด คือ ร้อยละ 80 – 100 อยู่ใน 5 พื้นที่คือ

สบอ.1(ปราจีนบุรี) มีอุทยานแห่งชาติในความรับผิดชอบ 4 แห่ง เปลี่ยนแปลงหัวหน้า 4 คน (อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา) 

 

สบอ.1(สาขาสระบุรี) มี อุทยานแห่งชาติ 2 แห่ง เปลี่ยนแปลงหัวหน้า 2 คน (อุทยานแหงชาติน้ำตกสามหลั่น และ อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย)

สบอ.6 (สงขลา) มีอุทยานแห่งชาติ 2 แห่ง เปลี่ยนแปลงหัวหน้า 2 คน  (อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง และ อุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า)

สบอ.5 (นครศรีธรรมราช) มีอุทยานแห่งชาติ 19 แห่ง เปลี่ยนแปลงหัวหน้า 16 คน  (อุทยานแหงชาติเขาหลวง อุทยานแหงชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อุทยานแหงชาติอ่าวพังงา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม อุทยานแห่งชาติตะรุเตา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง อุทยานแหงชาตสิรินาถ อุทยานแหงชาติเขานัน อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี อุทยานแหงชาติหมู่เกาะเภตรา อุทยานแห่งชาติศรีพังงา อุทยานแห่งชาติทะเลบัน อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา อุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีด อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่)

และ สบอ.8 (ขอนแก่น) มีอุทยานแห่งชาติ 6 แห่ง เปลี่ยนแปลงหัวหน้า 5 คน คือ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อุทยานแห่งชาติภูเรือ อุทยานแห่งชาติภูเวียง อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน อุทยานแห่งชาติน้ำพอง และ อุทยานแห่งชาตภูสวนทราย 

เฉพาะ สบอ.1 (ปราจีนบุรี) และ สาขาสระบุรี บ่งชี้ว่า มีการโยกย้ายสูง หรือ เปลี่ยนร้อยเปอร์เซนต์
ในพื้นที่นี้ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นอุทยานเกรด A รายได้จากการท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับ 1 ในปี 2565 คือ 72 ล้านบาท จึงเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า การโยกย้ายตำแหน่งในพื้นที่นี้น่าจะเป็นที่ต้องการของข้าราชการในกรมอุทยานแห่งชาติ

 

อีกแห่งคือ สบอ.5 (นครศรีธรรมราช) มีอุทยานแห่งชาติในความรับผิดชอบ 19 แห่ง เปลี่ยนแปลงหัวหน้าอุทยานฯ จำนวน 16 คน หรือ ร้อยละ 80   อุทยานแห่งชาติที่มีรายได้สูง เข้าข่ายเกรด A เช่น อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี 61 ล้านบาท และ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน 40 ล้านบาท สองแห่งนี้ รายได้สูงติดท็อปไฟว์ในปี 2565 อยู่ในอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ

สำหรับประมาณการรายรับเงินอุทยานแห่งชาติประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สูงสุด 5 อันดับแบ่งตามพื้นที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่มีอยู่ 21 สำนักทั่วประเทศ (รวมสำนักสาขา)   

 

รายได้อันดับ 1 เป็นของ สบอ.5 นครศรีธรรมราช เป็นเงินกว่า 180 ล้านบาท (อันดับ 1 คือ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี รายได้ปี 2565 : 61 ล้านบาท)  

อันดับ 2  สบอ.1 ปราจีนบุรี 77 ล้านบาท (อันดับ 1 คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ รายได้ปี 2565 : 72 ล้านบาท)

อันดับ 3 สบอ.2 ศรีราชา 59 ล้านบาท (เฉพาะอุทยานเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด รายได้ปี 2565 : 30 ล้านบาท)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง