รู้จักชุมชนบางโรง
ชุมชนบ้านบางโรง ตั้งอยู่ที่ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ นายประเสริฐ ฤทธิ์รักษา ประธานกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านบางโรง หรือ บังหมาด เปิดเผยกับไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า สมัยก่อนชุมชนบางโรงเกิดวิกฤตเรื่องของการจัดการป่าชายเลนที่เสื่อมโทรมจนป่าโกงกางถูกทำลายไปมาก
จึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อต้องการฟื้นป่าโกงกางให้กลับคืนมา ซึ่งการรวมกลุ่มสมัยนั้นจะเป็นผู้นำทางศาสนา ที่มีวิสัยทัศน์และความรู้ และจากอดีตจนถึงปัจจุบันป่าชายเลนกลับมาสวยงามมากยิ่งขึ้น
นายประเสริฐ ฤทธิ์รักษา ประธานกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านบางโรง
จุดเริ่มต้นการท่องเที่ยวของชุมชนบ้านบางโรง
เมื่อป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ สัตว์ทะเลก็กลับคืนมา แม้กระทั่งลิงแสมที่หายไปก็กลับคืนมาเช่นกัน
ทำให้นักท่องเที่ยวสนใจวิถีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และสวยงาม และสามารถที่จะเข้าถึงได้ง่าย จึงเป็นจุดเริ่มต้นจัดตั้งจุดบริการนักท่องเที่ยว ซึ่งได้จัดตั้งร้านอาหารชุมชนเป็นแพลอยน้ำเป็นจุดแรก ซึ่งจุดดังกล่าวเป็นท่าเทียบเรือไปยังเกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ ที่มีนักท่องเที่ยวไม่ขาดสาย
บังหมาด เล่าว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากนักท่องเที่ยวตั้งคำถามว่านอกจากร้านอาหารแล้ว ชุมชนยังมีกิจกรรมอื่นอีกหรือไม่ จึงได้จัดเรือแจว พานักท่องเที่ยวชมลำคลอง พาไปดูกระชังหอย กระชังปลา ของชาวบ้าน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ทำให้นักท่องเที่ยวชื่นชอบ และอยากทำกิจกรรมอื่นในชุมชนอีก
จึงได้มีการเริ่มศึกษาดูงานจากหลายๆ ชุมชนที่เป็นชุมชนต้นแบบ ไปสังเกต วิเคราะห์ แล้วย้อนกลับมาค้นหาจุดเด่นของชุมชน ทำให้รู้ว่าในชุมชนมีจุดเด่นมากมาย ทั้งป่าดิบชื้น น้ำตก โครงการคืนชะนีสู่ป่า มีปาล์มหลังขาวที่พบแห่งแรกของโลก และวิถีเกษตรไม่ว่าจะเป็นอาชีพเกษตรกร สวนผลไม้ตามฤดูกาล การกรีดยาง เลี้ยงแพะ ไร่สับปะรดอาชีพเหล่านี้เป็นอาชีพที่มีอยู่ดั้งเดิมของคนที่นี่
ช่วงที่เริ่มทำกิจกรรมยังไม่ตอบโจทก์ แต่ทางชุมชนได้ปรับมาเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งได้ฟีดแบคมาจากนักท่องเที่ยวนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนา
กิจกรรมสนุกๆ หลากหลาย
ชุมชนบ้านบางโรง มีกิจกรรมหลากหลายให้นักท่องเที่ยวเข้าร่วม ทั้งการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน การศึกษาเส้นทางธรรมชาติป่าชายเลน พายเรือแคนู น้ำตกบางแป โครงการคืนชะนีสู่ป่า การเลี้ยงปลาในกระชัง ชมฟาร์มแพะ เยี่ยมสวนผลไม้ ตัดสับปะรดจากสวน เก็บมะพร้าวจากต้น ทดลองกรีดยาง รวมถึงการทำขนมพื้นบ้าน การเพ้นท์ผ้าปาเต๊ะ
และยังมีกิจกรรมทางทะเล การปล่อยปูม้าไข่นอกคืนสู่ธรรมชาติ ปลูกหญ้าทะเล เที่ยวทะเลแหวก
ส่วนในอนาคตจะเปิดเป็นกิจกรรม CSR การทำ EM Ball เพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำ การทำบ้านปลาเทียม การอนุบาลปูม้าไข่นอก ปลูกหญ้าทะเล
นอกจากนี้ยังมี thai cooking class ตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ เก็บผักจากสวน การหาปลาร่วมกับชาวบ้าน ซึ่งพยายามผลักดันกิจกรรมให้มีความหลากหลาย ซึ่งมองว่านักท่องเที่ยวเองก็ต้องการกิจกรรมที่หลากหลายเช่นกัน ทั้งนี้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกทำกิจกรรมตามความชอบและสนใจได้
การดึงให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม
ชุมชนบางโรง ชาวบ้านเป็นคนไทยมุสลิม 80% คนไทยพุทธ 20 % การชักชวนให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ ถือว่าเป็นเรื่องยาก ต้องใช้วิธีการ ใช้เวลา แกนนำต้องมีจิตวิทยาในการพูดคุยทำความเข้าใจให้ชาวบ้าน
“ดึงลูกหลานที่เป็นเยาวชนเข้ามาร่วมกิจกรรม ก่อนที่เด็กๆ จะกลับไปเล่าให้พ่อแม่ฟัง ทำให้พ่อแม่ซึมซับ หรือการสั่งขนมจากชาวบ้าน มาบริการนักท่องเที่ยว ซึ่งพยายามให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม และยังเป็นการกระจายรายได้ให้กับชาวบ้านอีกทางหนึ่ง”
กลุ่มนักท่องเที่ยว
นักท่องเที่ยวต่างชาติ 80% คนไทย 20% ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจากยุโรป อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส อเมริกา แคนาดา กลุ่มสแกนดิเนเวีย สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก รวมถึงซาอุดีอาระเบีย ดูไบ
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนื่องจากชุมชนมีร้านอาหารฮาลาล ชุมชนท่องเที่ยวบางโรง จึงตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้
ซึ่งส่วนใหญ่จะมาเป็นลักษณะกรุ๊ปทัวร์ 60-70 % ส่วนที่เหลือจะติดต่อมาโดยตรง ชุมชนบางโรงสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ตั้งแต่ 1-150 คนต่อวัน
“แม้ว่านักท่องเที่ยวเดินทางมาคนเดียว เราก็รับเพราะไม่อยากปิดโอกาสนักท่องเที่ยวที่ต้องการที่จะเรียนรู้วิถีชุมชน ซึ่งมองว่าหนึ่งคนนั้นก็คือโอกาสของทางชุมชนเช่นกัน เพราะเมื่อเค้าได้ความประทับใจกลับไปแล้ว ก็อาจจะไปโปรโมท หรือ บอกต่อนักท่องเที่ยวท่านอื่น ให้มาท่องเที่ยว หรือเค้าอาจจะกลับมาหาเราอีกครั้งหนึ่ง”
การจัดสรรรายได้
มีการระดมหุ้น หุ้นละ 100 บาท เพื่อเป็นทุนในกลุ่ม ส่วนรายได้จะแบ่งปันให้ชาวบ้านในแต่ละครั้ง ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักที่ต้องการให้ชาวบ้านมีรายได้จากการท่องเที่ยว และรายได้ส่วนหนึ่งเก็บเข้ากองกลาง เพื่อส่งต่อให้กับกลุ่มเยาวชน โรงเรียน ชุมชน หรือ มัสยิด ต่อไป
“ต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่าสิ่งที่เราได้รับคือรายได้ และนักท่องเที่ยวจะได้อะไรกลับไป พยายามให้ชาวบ้านเห็นว่าสิ่งที่นักท่องเที่ยวได้กลับไปคือหน้าตาของชุมชนบางโรง หน้าตาของเมืองภูเก็ต”
พลิกโควิดเป็นโอกาส สร้างผลิตภัณฑ์ต่อยอดท่องเที่ยว
ก่อนโควิด-19 ระบาด นักท่องเที่ยวถือว่าน้อยมาก เนื่องจากยังนิยมเที่ยวกระแสหลักมากกว่าท่องเที่ยวชุมชน
แต่กลับกลายเป็นว่าในช่วงที่โควิด-19 ระบาดการท่องเที่ยวชุมชนกลับได้รับกระแสตอบรับดี อีกทั้งยังได้รับโอกาสจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และนักท่องเที่ยวอยากสัมผัสกับธรรมชาติ พื้นที่โล่งแจ้ง อาทิตย์หนึ่งจะมีนักท่องเที่ยวที่เข้ามา 3-4 วัน ซึ่งทางชุมชนเองก็ได้องค์ความรู้ ได้พัฒนาการยกระดับในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดสถานที่ หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ
พฤติกรรมการท่องเที่ยวแบบ New Normal กำลังได้รับความนิยม หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย
บังหมาด กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผลผลิตสับปะรดที่มีตลอดทั้งปีไม่สามารถส่งขายได้ เนื่องจากโรงแรม ร้านอาหาร ปิดกิจการ ทำให้สับปะรดล้นตลาด จึงคิดหาวิธีแปรรูป เริ่มจากการทำขนมชีสทาร์ต ซี่งเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว และกลายเป็นของขึ้นชื่อของชุมชนบางโรงไปแล้ว และพยายามพลักดันสู่โรงแรมระดับ 5 ดาว
นอกจากนี้ยังมีโลชั่นสับปะรด และสบู่สับปะรด น้ำพริกสับปะรด ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะเป็นของขวัญของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว โดยเอาสับปะรดเป็นตัวหลักของชุมชน และในอนาคตจะมีสับปะรดอบแห้ง และเซรั่มสับปะรด โลชั่นกันแดด
โดยใส่ใจทุกกระบวนการคำนึงถึงความสวยงามของการออกแบบแพคเกจจิ้ง รวมถึงขนาดและปริมาณที่สามารถนำขึ้นเครื่องได้อย่างสะดวก
ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ได้มีขายทั่วไป แต่ต้องการขายให้กับนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวและมาทำกิจกรรมกับทางชุมชน เพราะนอกจากนักท่องเที่ยวจะประทับใจกับการท่องเที่ยววิถีชุมชนแล้ว ยังได้สินค้าที่มีคุณภาพกลับไปด้วย
ชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันทำ ทั้งกลุ่มแม่บ้าน และกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งตัวสินค้าจะช่วยซัพพอร์ตกิจกรรม และชาวบ้านที่ไม่ได้อยู่ในกิจกรรมยังสามารถมีรายได้จากการแปรรูปผลิตภัณฑ์
จุดด้อยเรื่องการประชาสัมพันธ์
เรื่องการตลาดและการประชาสัมพันธ์ บังหมาดบอกว่า ยังถือว่าเป็นจุดด้วยของชุมชน แม้ว่าหลายหน่วยงานจะช่วยประชาสัมพันธ์และช่วยผลักดัน แต่ทั้งนี้ยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวยังเข้าไม่ถึง ซึ่งบังหมาดมองว่าเราควรมีการประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ คือตั้งแต่สนามบิน ระหว่างทาง หรือแม้กระทั่งโรงแรมเองควรจะมีส่วนช่วยส่งเสริมในการประชาสัมพันธ์ด้วย
ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่มั่นใจในมาตรฐานของชุมชนเอง ว่าไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ แต่เมื่อเอเยนต์ทัวร์ได้เข้ามาสัมผัส ได้มีการช่วยประชาสัมพันธ์อีกช่องทางหนึ่ง ทำให้ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเรื่อยๆ
การมีส่วนร่วมของเยาวชนในชุมชน
ในช่วงวันหยุด หรือ ปิดภาคเรียน กลุ่มเยาวชนในชุมชนขออาสาเข้ามาช่วยงานของกิจกรรม ทั้งในการต้อนรับนักท่องเที่ยว และเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักท่องเที่ยวในการทำกิจกรรม ซึ่งเป็นการได้ฝึกทักษะในเรื่องของการทำงาน และภาษา นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กลุ่มเยาวชนด้วย
ยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนสู่มืออาชีพ
บังหมาด กล่าวว่า ในเรื่องมาตรฐานของกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งหัวใจหลักของการท่องเที่ยวแบบชุมชนคือนักท่องเที่ยวต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการของกิจกรรม นักท่องเที่ยวต้องได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ถึงจะได้สัมผัสวิถีจริงๆ ซึ่งทางชุมชนต้องมีความพร้อมทั้งในเรื่องของอุปกรณ์ ความสะอาด รวมถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว
การจดทะเบียนนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เป็นอีกส่วนสำคัญที่จะยกระดับการท่องเที่ยวสู่มืออาชีพ ทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีตัวตน ถูกต้องตามกฎหมาย มีประกันอุบัติเหตุให้กับนักท่องเที่ยว
มองว่าการท่องเที่ยวชุมชนต้องก้าวไปอีกก้าวเพื่อตอบสนองการท่องเที่ยวชุมชนที่เป็นมืออาชีพ เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย ซึ่งภายในเดือนนี้คาดว่าจะเรียบร้อย
นอกจากนี้ไกด์ชุมชนต้องยังมีบัตรไกด์ที่เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
เชื่อว่าชุมชนมีความพร้อมในระดับหนึ่งที่จะรองรับนักท่องเที่ยวระดับ 5 ดาว ในภูเก็ตได้
นอกจากนี้ บังหมาด ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ชุมชนมีมาตรฐานหลายๆ อย่าง ทั้งในเรื่องกิจกรรมและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จะสามารถทำให้คนในชุมชนมีอาชีพ มีรายได้เสริมมาเพิ่มเติมรายได้หลัก แม้กระทั่งคนว่างงานสามารถเข้ามาอยู่ในกระบวนการของกิจกรรมได้ สามารถสร้างอาชีพได้
"มองว่าเดินมาถูกทางแล้ว เน้นกิจกรรมที่ดี เน้นโปรดักซ์ที่มี เน้นมาตรฐานเรื่องการให้บริการ เน้นให้คนในชุมชนมีรายได้ ทำให้ชุมชนบางโรงเป็นหนึ่งกลไกที่ทำให้การท่องเที่ยวของประเทศไทยกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง"